สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนธรรมดานานาชาติพันธุ์และชาติภาษา สร้างประวัติศาสตร์มีชีวิตให้เมืองพิมาย

ประติมากรรมหินทราย พบในบริเวณปราสาทพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา ไม่เคยพบหลักฐานบอกตรงๆ ว่าเป็นรูปใคร? ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปท้าวพรหมทัต (ในเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม) แต่นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์กัมพูชาแห่งเมืองพระนครหลวง (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย)

ท้าวปาจิต นางอรพิม วรรณกรรมบอกเล่าเมืองพิมาย (อ. พิมาย จ. นครราชสีมา) เป็นกลุ่มเดียวกันและรุ่นราวคราวเดียวกันกับเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา

ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยิ่ง ถ้ามีจับระบำทำละครเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม นอกจากกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองพิมายได้ดีแล้ว ยังมีส่วนสำคัญผลักดันให้วรรณกรรมคำบอกเล่าคลาสสิคเรื่องนี้กระจายสู่สาธารณะเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นิยมเล่นระบำละครเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา แต่ไม่ยกย่องให้มีเล่นเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม

 

Advertisement
ประติมากรรมรูปสตรี (มีนม) ไม่พบหลักฐานว่ารูปใคร? ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นนางอรพิม

เหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากนักประวัติศาสตร์โบราณคดี ของ วธ. ยึดถือคัมภีร์ประวัติศาสตร์ไทยแบบอาณานิคม กับอีกส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการแข็งทื่อมะลื่อ ความรู้พื้นฐานอ่อนแอบกพร่องทางมานุษยวิทยา, ภาษา, วรรณกรรม, ดนตรี, และประวัติศาสตร์สังคม

ท้าวปาจิต นางอรพิม ในราชสำนักอยุธยา

ท้าวปาจิต นางอรพิม มีในหนังสือทวาทศมาส เป็นวรรณกรรมแต่งเมื่อตอนต้นอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 อ้างอิงการพลัดพรากของตัวละครเอกหนุ่มสาว 6 คู่ ตามลำดับ ดังนี้

พระราม นางสีดา, พระอนิรุทธ นางอุษา, พระสมุทโฆษ นางพินทุมวดี, พระสุธน นางมโนห์รา, ท้าวปราจิต (ปาจิต) นางอรพินท์ (อรพิม), พระสุธนู นางเจียรัปประภา

Advertisement

เท่ากับท้าวปาจิต นางอรพิม เป็นวรรณกรรมชั้นสูง 1 ใน 6 เรื่อง ซึ่งเป็นที่ยกย่องของนักปราชญ์ราชบัณฑิตในราชสำนักตอนต้นอยุธยา

[4 เรื่อง ได้จากคัมภีร์กับชาดกของอินเดีย ส่วนอีก 2 เรื่อง คือ พระสุธน นางมโนห์รา กับ ท้าวปาจิต นางอรพิม เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง ที่ถูกนักบวชดัดแปลงเป็นชาดกนอกนิบาต (เรียก ปัญญาสชาดก มี 50 เรื่อง) ที่ไม่มาจากอินเดีย แต่แต่งขึ้นเองในล้านนา เพื่อเพิ่มความ “เฮี้ยน” ให้คำบอกเล่าดั้งเดิมซึ่งไม่อินเดีย]

มาจากไหน?

ท้าวปาจิต นางอรพิม ในเมืองพิมาย ใครเอามาจากไหน? เมื่อไร? ฯลฯ ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่น่าเชื่อว่าเข้าถึงเมืองพิมายได้อย่างน้อย 2 ทาง

  1. ลาวลุ่มน้ำโขง โยกย้ายไปอยู่เมืองพิมาย แล้วบอกเล่าสืบต่อกันมา
  2. ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา โยกย้ายไปอยู่เมืองนครราชสีมา ราวหลัง พ.ศ. 2000 แล้วบอกเล่าสืบต่อมา

น่าเชื่อว่าไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา นำวรรณกรรมเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม จากราชสำนักอยุธยาเข้าไปสวมใส่สิ่งก่อสร้างในเมืองพิมาย เมื่อคราวที่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสร้างเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์อำนาจของอยุธยาที่ลุ่มน้ำมูล แทนเมืองพิมาย (ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของเขมรเมืองพระนครหลวง)

สอดคล้องกับเมรุพรหมทัตเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ (ตั้งบนเนินดิน) สร้างขึ้นยุคอยุธยาไว้ในเมืองพิมาย แล้วคนสมัยหลังผูกเรื่องว่าเป็นสถานที่เผาศพท้าวพรหมทัตในเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม

ประวัติศาสตร์มีชีวิต

เมืองพิมาย ตามตำราแบบอาณานิคม เป็นประวัติศาสตร์ตายซากหยุดนิ่งแค่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 หลัง พ.ศ.1750

แต่ประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวบ้าน ยังมีความทรงจำสืบมาในรูปของวรรณกรรมบอกเล่าเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม แสดงความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนนานาชาติพันธุ์และชาติภาษา เช่น เขมร, ลาว, ไทย จนทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image