วิธีเอาชนะความโกรธ (1) โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

บรรดากิเลสทั้ง 3 คือ ราคะ (โลภะ) โทสะ โมหะ ท่านว่ามีโทษหนักเบาไม่เท่ากัน ราคะนั้นดูเหมือนว่ามีโทษเบา แต่ละได้ยาก โทสะมีโทษหนักแต่ละได้ง่าย ส่วนโมหะมีโทษหนักและละได้ยาก เฉพาะโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคือง) นั้น เวลามันเกิดขึ้นจะเอะอะตึงตัง มึงมาพาโวย เรียกว่าเห็นช้างเท่าหมู ไม่กลัวใคร แต่ก็มักสงบง่าย เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าความโกรธมีโทษมากแต่ก็ละได้เร็ว
ท่านบอกวิธีเอาชนะความโกรธ 9 วิธี สำหรับผู้มักขี้ยัวะ ลองฝึกปฏิบัติดูนะครับ ถ้าได้ผลอย่างไรช่วยบอกผมด้วย จะได้ทำตาม เพราะผมก็ใช่ย่อยเหมือนกัน ลูกศิษย์บางคนว่า อะไรๆ ก็ดี แต่ดุชะมัดยาดว่าอย่างนั้น

1.ให้นึกถึงผลเสียของคนมักโกรธ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่โกรธคนอื่นนับว่าเป็นคนเลวอยู่แล้ว แต่ใครโกรธตอบเขากลับเป็นคนเลวกว่า พระองค์ทรงสรรเสริญเมตตา ความรักและความปรารถนาดีต่อกัน ถ้าเรามัวเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักเมตตารักใคร่คนอื่นบ้างเลย จะนับว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
เวลาเขาโกรธเรามา เราไม่โกรธตอบ นับว่าเป็นผู้เอาชนะใจคนได้ เอาชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก และยิ่งรู้ว่าเขาโกรธและขุ่นเคืองเรา เราไม่แสดงอาการโกรธและขุ่นเคืองออกมา นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งแก่ตนเองและแก่คนที่โกรธเรา (การทะเลาะเบาะแว้งหรือลงไม้ลงมือประหัตประหารกันก็จะไม่เกิดเพราะเราตัดไฟแต่ต้นลม)

2.ให้พิจารณาโทษของความโกรธ
คนเราเวลาไม่โกรธก็ดูดี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอโกรธขึ้นมาก็กลายเป็นคนละคน หน้าตาจะบูดเบี้ยวแดงก่ำ บางคนมือไม้สั่นยังกับเจ้าเข้า เต้นแร้งเต้นกา ปากก็กล่าวคำหยาบ ไม่รู้ไปสรรหาคำด่ามาจากไหน ไม่มีความสง่าสวยงามเหลือแม้แต่นิดเดียว เรียกว่าเป็นนางฟ้าอยู่หยกๆ ก็กลายเป็นนังยักษ์ขมูขีทันที
หรือถ้าจะให้ชัด เวลาที่เราโกรธ ลองส่องกระจกดูก็แล้วกัน ใบหน้าที่สวยงามยิ้มแย้มแจ่มใสมีเสน่ห์น่ารักนั้นไม่รู้มันหายไปไหน กลายเป็นหน้ายักษ์หน้ามาร น่าเกลียดน่าชัง เมื่อพิจารณาเห็นความน่าเกลียดน่ากลัวของตนเองอย่างนี้แล้ว ความโกรธที่มีมาก็อาจหายไปได้

3.นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ
เวลาเราโกรธใครส่วนมากก็ขุดเอาเรื่องที่ไม่ดีมาด่าว่า ทีนี้ลองพยายามคิดถึงความดีของเขาดูสิ ว่าเขามีดีอะไรบ้าง เพราะตามธรรมดานั้น คนเราย่อมมีดีและไม่ดีเหมือนๆ
กัน ต่างแต่ว่าใครจะดีมากดีน้อยเท่านั้น ไม่มีใครดอกที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรือชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น ถ้าใครมาทำให้เราโกรธไม่พอใจ นั่นเป็นจุดที่ไม่ดีของเขา เราก็ไม่ควรมองแต่จุดนั้น ลองหันไปดูจุดดีของเขาบ้าง เมื่อมองหาจุดดีก็อาจประหลาดใจว่า แท้ที่จริงแล้วเขามีความดีมากมาย “เขามีความไม่ดีบ้างก็ช่างเขา…” อะไรประมาณนั้น นึกได้อย่างนี้แล้วความโกรธที่มีอยู่ก็อาจหายไปได้

Advertisement

4.ความโกรธทำให้ศัตรูสมใจ
นอกจากทำให้ตัวเองทุกข์แล้วยังสาสมใจศัตรูด้วย เวลาถูกความโกรธครอบงำ จิตใจเรามักร้อนรุ่มยังกับหอบกองไฟลุกโชนไว้ในอก หาความสุขไม่ได้ ที่สำคัญคือเรากำลังทำตนให้เป็นที่สะใจแก่ศัตรูผู้มุ่งร้ายแก่เรา โดยที่เขามิได้ลงทุนเลย เราทำให้เขาแท้ๆ
คนที่ไม่ชอบเรา เขามักคิดภาวนาในใจ (พูดให้ชัดคือสาปแช่ง) ว่า “เจ้าประคุณ ขอให้ไอ้/อี…..มันพินาศฉิบหายในเร็ววันเถิด” ถ้าเราเป็นคนมักโกรธ ก็เท่ากับเรากระทำการต่างๆ เข้าทางศัตรู โดยที่เขาไม่ต้องเสียแรงเสียเวลามาทำให้เราเลย
ให้สอนตนเสมอว่า “คนอื่นอยากให้เจ้าโกรธ จึงแกล้งทำสิ่งไม่ถูกใจให้เจ้า แล้วไฉนเจ้าจึงช่วยให้เขาสมปรารถนา ด้วยการปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า”
“เวลาเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าก็ไม่สามารถทำทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เขา มิหนำซ้ำเจ้าได้ทำร้ายตัวเองเข้าแล้ว ด้วยความทุกข์เพราะความโกรธนั้น”

5.พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
ให้คิดว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน ต่างได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำ เราโกรธเขา แสดงว่าเราได้ทำอกุศลคือกรรมชั่ว ซึ่งกรรมชั่วที่เราทำลงไปมันก็จะมีผลร้าย ก่อความเสียหายขึ้น เราก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ดุจเอามือทั้งสองกอบถ่านที่ลุกโซน มือทั้งสองของเราก็ไหม้เอง หรือดุจเอามือกอบอุจจาระไปโปะคนอื่น ตัวเองนั้นแหละย่อมเปรอะอุจจาระก่อน
เมื่อพิจารณาเห็นว่าทุกคนต่างก็มีกรรมเป็นของตนเช่นนี้ ก็จะเห็นใจฝ่ายเขาเช่นเดียวกันว่า ถ้าเขาโกรธก็ได้ทำกรรมไม่ดีและจะได้รับผลแห่งกรรมไม่ดีเช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตน เก็บเกี่ยวผลแห่งกรรมของตนอยู่แล้ว เรื่องอะไรมามัววุ่นวายโกรธกันอยู่ทำไม ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่กรรมดีมิดีกว่าหรือ

ยังไม่จบนะครับ ยาวหน่อย สัปดาห์หน้ามีต่อ

Advertisement

 

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image