รถเมล์ในประเทศจืดๆ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

รถเมล์คงไม่มาไปอีกนาน และตราบเท่าที่รถเมล์ไม่มา เราก็ไปไหนไม่ได้ อย่าว่าแต่ไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศเลย แม้แต่ไปสถานีขนส่งต่อรถทัวร์ไปชายแดน ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ

และด้วยเหตุดังนั้น เราจึงต้องอยู่ในประเทศรสทื่อๆ นี้ไปอีกนาน ที่น่าเศร้าก็คือ แม้แต่เมื่อไม่มีเผด็จการครองเมืองแล้ว รสชาติของประเทศเรา ก็จะยังคงทื่อๆ ไปเช่นนี้อีกนาน หรืออีกนานเท่านาน

เมื่อประเทศร่วมภูมิภาคกับเราปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามลำดับ ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ความได้เปรียบของไทยในด้านต่างๆ ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เหมือนกัน จนในที่สุดก็หมดลง

ผมขอจาระไนความได้เปรียบด้านต่างๆ ที่สำคัญของเรา และมันหมดไปได้อย่างไร

Advertisement

เราไม่มีข้อได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาคเหมือนแต่ก่อนแล้ว ประการแรกก็เพราะเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างแต่ก่อน ไม่ใช่เพราะเผด็จการครองเมืองในปัจจุบันนะครับ แต่เพราะไม่มีใครคาดเดาอนาคตทางการเมืองของไทยได้มานานแล้วต่างหาก คสช.อาจคิดว่าตนสามารถควบคุมทั้งการเมืองและทิศทางการพัฒนาของไทยต่อไปได้ 20 ปี

แต่นายทุน, นักการเมืองแต่งตั้งทั้งหมด, หรือแม้แต่ส่วนหนึ่งของกองเชียร์ ก็รู้ว่านั่นมันเพ้อฝัน ต่างก็ทำทีเหมือนเชื่อ คสช.เพื่อหาประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงคนอื่นนอกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ต้องตัดสินใจในด้านความสัมพันธ์กับไทย ต่างก็รู้ดีว่าอำนาจของ คสช.นั้นเปราะบางเกินกว่าจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง แม้แต่ในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึง 20 ปีข้างหน้าหรอก

แล้วเมื่อ คสช.หลุดไปจากอำนาจ กลุ่มใหม่หรือระบอบใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ พอจะมีอนาคตที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยมั่นคงหรือไม่ โอกาสที่จะเป็นไปได้มีอยู่เหมือนกัน แต่น้อยมาก

Advertisement

ดังนั้นโดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการเมืองมากนัก ใครๆ ทั้งโลกก็พอจะบอกได้ว่า การเมืองไทยจะไร้เสถียรภาพไปอีกนาน

เสถียรภาพทางการเมืองนั้นไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ตลาดงาน, การถ่ายโอนเทคโนโลยี, การสร้างทักษะใหม่ ฯลฯ

เพราะเสถียรภาพทางการเมืองผูกอยู่กับเสถียรภาพด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน คิดดูก็แล้วกันครับ อดทนร่ำเรียนไปจนถึงจุดสูงสุดเพื่อทำงานนาซา เพราะไม่แน่ใจว่ากลับเมืองไทยแล้วจะมีงานทำหรือได้ทำตามความสามารถหรือไม่

แน่นอนว่า เมืองไทยคงมีเสถียรภาพทางการเมืองพอที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ อันเป็นเสถียรภาพขั้นต่ำสุด เพราะนักท่องเที่ยวใช้ชีวิตช่วงสั้นนิดเดียวในแหล่งท่องเที่ยว หากถึงกับยิงกันเหมือนในแอฟริกาหรือละตินอเมริกา ก็รีบกลับออกไปเสียเท่านั้น

เปรียบเทียบกันแล้ว พม่าน่าจะมีเสถียรภาพทางการเมืองยิ่งกว่า รัฐบาลเอ็นแอลดีพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นอย่างไร ก็ต้องเคารพกรอบทางการเมืองที่กองทัพวางไว้ให้ กรอบอันนี้มั่นคงถาวรกว่าตัวรัฐบาลเอง ถึงรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเคารพอย่างเดียวกัน หรือถึงกองทัพหันมาทำรัฐประหารใหม่ ก็ไม่มีการเปลี่ยนกรอบอยู่นั่นเอง

มีอะไรที่แน่นอนมั่นคงอย่างนั้นในเมืองไทยบ้างครับ

ในระหว่างสงครามเย็น เราสามารถเป็นเครื่องมือให้มหาอำนาจ (และตัวเราเอง) ในการกดดันเพื่อนบ้านได้ระดับที่สูงพอสมควรทีเดียว เช่น เราลักลอบสนับสนุนกองกำลังของชนกลุ่มน้อยตามชายแดนไทย-พม่า หากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเอาชนะรัฐบาลพม่าได้ เรายังมีฉนวนที่แข็งแกร่งในการป้องกันมิให้คอมมิวนิสต์เข้ามาประชิดพรมแดนด้านตะวันตก เราสนับสนุนฝ่ายที่เป็นมิตรกับเราในลาวให้กุมอำนาจในเวียงจันทน์ได้ ตลอดจนลักลอบส่งทหารไปช่วยรบเพื่อกันอิทธิพลเวียดนามให้อยู่ห่างพรมแดนของเรา เราต่อต้านรัฐบาลที่พนมเปญ โดยสนับสนุนและติดอาวุธให้เขมรฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นับตั้งแต่เขมรอิสระมาจนถึงเขมรแดง ซึ่งถูกกองทัพเวียดนามขับออกจากอำนาจ

ประเทศไทยเคยเป็นเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่มหาอำนาจทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ

แต่บัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เพียงเพราะสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงเท่านั้น สถานภาพทางการเมืองและการทหารของเพื่อนบ้านก็เปลี่ยนไปด้วย จนกระทั่งเราไม่อยู่ในฐานะจะทำเช่นนั้นได้อีก ยุทธศาสตร์การรถไฟในลาวซึ่งจีนอยู่เบื้องหลังต่างหากที่กำหนดยุทธศาสตร์การรถไฟในไทย ความเร็วสูงหรือความเร็วปานกลางเป็นเรื่องที่กำหนดในปักกิ่งผ่านเวียงจันทน์ ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ

พูดกันมามากแล้วว่า ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของเราหมดไปนานแล้ว

นอกจากไม่มีค่าแรงราคาถูกแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของไทยซึ่งเคยเหนือกว่าเพื่อนบ้านมาก ก็เหนือกว่าน้อยลงไปเรื่อยๆ การขนส่งคมนาคมในพม่าและเวียดนามดีวันดีคืนขึ้น ซ้ำบริการอินเตอร์เน็ตยังเหนือกว่าไทยหลายขุมด้วย กัมพูชาและลาวกำลังตามมาติดๆ การพลังงานของเรายังเหนือกว่า แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ โดยเฉพาะในเวียดนาม ระบบราชการที่เคยงุ่มง่ามอึดถึดของเขา กำลังพัฒนามาสู่จุดงุ่มง่ามอึดถึดเท่าเรา

คุณภาพการศึกษาของเราแพ้เพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ ที่จะยกการผลิตของเราให้พ้นจาก 2.0 นั้นเป็นแค่ลมปากผสมน้ำลายเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่เคยมีนวัตกรรมในด้านใดให้ใครต้องคอยจับตามองเลย

ตลาดไทยมีกำลังซื้อมากกว่าเขา แต่โดยตัวของมันเองก็เป็นตลาดกระจ้อยร่อย จึงไม่คุ้มที่จะผลิตอะไรเพื่อป้อนตลาดนี้โดยตรง ผลิตที่ไหนๆ ในอาเซียนก็เข้าถึงทุกตลาดเหมือนกัน

และท้ายที่สุด เราไม่ได้มั่งคั่งด้านแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาตินัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพม่าและมาเลเซีย ยิ่งมีน้อยและเบาบาง พวกอุตสาหกรรมขูดทรัพยากร (extractive industry) ก็ยิ่งต้องปล่อยมลพิษและกดขี่แรงงาน เพื่อลดต้นทุน

ความได้เปรียบด้านสุดท้ายที่อยากจะพูดถึง แม้ว่ากระดากปากอยู่เหมือนกัน คือความได้เปรียบด้านอุดมการณ์ หลายคนคงสงสัยว่าอุดมการณ์ให้ความได้เปรียบอย่างไร ผมไม่ได้หมายถึงอะไรที่ลึกซึ้งซับซ้อนนัก คนทั่วไปในโลกคงไม่รู้จักประเทศสิกขิม จนกว่าจะบอกว่าประเทศแห่งดัชนีความสุขมวลรวมไงเล่า หรือมุสลิมส่วนใหญ่ในโลกซึ่งเป็นสุหนี่คงไม่เคยมองอิหร่านชีอะห์เป็นแรงบันดาลใจด้านใด แต่การปฏิวัติอิหร่านทำให้มุสลิมทั่วไปเกิดความเชื่อมั่นต่อพลังของอิสลามในการพัฒนาเข้าสู่ความทันสมัย อย่างที่นัสเซอร์เคยทำมาในอียิปต์

เราเคยได้เปรียบทางอุดมการณ์บ้างไหม ผมว่าก็มีเหมือนกันนะครับในสมัยหนึ่ง เช่น ทำไมอังกฤษจึงมอบพระบรมธาตุที่ในสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นพระบรมธาตุของแท้แน่นอนให้แก่ไทย เหตุผลที่อังกฤษบอกก็คือไทยเป็นประเทศพุทธที่ยังเป็นเอกราชอยู่ประเทศเดียว (เหตุผลที่ไม่ให้พม่าก็เพราะตอนนั้นพม่ายังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ซึ่งแบ่งเอาไว้แล้ว ไม่ให้กัมพูชาและลาว – ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี – ก็เพราะเท่ากับยกให้ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียและแอฟริกา)

ครับ… ผมคิดว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทเคยเป็นความได้เปรียบทางอุดมการณ์ของไทย ไม่แต่เฉพาะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แม้จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อชาวตะวันตกหันมาสนใจเถรวาท สภาพการณ์ในไทยเอื้อให้เข้ามาศึกษาได้ดีกว่าประเทศพุทธเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบัน สภาพการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านก็เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นตะวันตกรู้จักและเข้าใจเถรวาทดีไม่น้อยกว่าไทย หรือดีกว่าด้วยซ้ำ อยากรู้จักหรืออยากสร้างศรัทธาต่อเถรวาท อยู่ในประเทศตนเองจะได้ความรู้ความเข้าใจมากกว่ามาอยู่วัดไทยเสียอีก

ความได้เปรียบด้านอุดมการณ์ของไทยจึงหมดไป (ถ้าเคยมีมาก่อนจริงอย่างที่ผมคิด)

อุดมการณ์ใหม่อื่นๆ ที่เกิดภายหลังไม่มีพลังพอ ขอยกตัวอย่างด้วยความเคารพ เช่นอย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เสนอว่าเราจะเป็นสังคมที่ดูแลกันและกัน ก็ล้วนเป็นภาพอุดมคติของชุมชนขนาดเล็ก ภาพอุดมคติก็ไม่เป็นไรนะครับหากสามารถทำให้มันมีส่วนของความเป็นจริงในทางปฏิบัติบ้าง แต่ชุมชนขนาดเล็กที่สามารถแยกตัวออกจากสังคมโดยรวม ทั้งในและนอกประเทศด้วยนะครับ มันไม่มีหรือไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกปัจจุบัน

การดูแลกันและกันต้องคิดถึงการจัดการซึ่งจำเป็นต้องทำในวงกว้างกว่านั้น เช่น รัฐสวัสดิการ ซึ่งประเทศเรายังห่างไกลจากความเป็นรัฐสวัสดิการอย่างยิ่ง (หากเทียบกับรัฐในยุโรปตะวันตกเหนือหลังสงคราม) ก็พยายามจะล้มทำลาย 30 บาทกันจ้าละหวั่นอยู่เวลานี้ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่โดย คสช.อย่างเดียวด้วยนะครับ แต่โดยคนในอาชีพเดียวกับท่านอาจารย์ประเวศนั่นแหละ ในที่สุดชุมชนที่จะดูแลกันเองก็ต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐและทุนในนามของการอุปถัมภ์ภายใต้โครงการประชารัฐ

รัฐสวัสดิการของยุโรปนั้นเคยเป็นแรงบันดาลใจแก่คนทั่วโลก แม้แต่นักคิดในค่ายคอมมิวนิสต์เอง จึงเป็นความได้เปรียบทางอุดมการณ์ของยุโรปตะวันตกเหนือ แต่สังคมดูแลกันเองของไทยเป็นแรงบันดาลใจแก่ใครได้ แม้แต่คนไทยด้วยกันเอง

เราจะหลุดออกจากความเป็นประเทศจืดๆ อย่างนี้ได้อย่างไร

ผมไม่เชื่อว่าระบอบการเมืองประชาธิปไตยหรือเผด็จการคือคำตอบในตัวของมันเอง เพื่อจะปรับปรุงแก้ไขให้หลุดจากความจืดด้านต่างๆ นั้น อุปสรรคมีมากมาย ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า การเมืองประชาธิปไตย หรือการเมืองเผด็จการจะเอาชนะอุปสรรคนั้นได้

ไม่ใช่เรื่องของคนดีหรือคนไม่ดีนะครับ พูดกันให้เหลือสั้นๆ ก็คือเป็นเรื่องของคนเก่งที่จะหาวิธีฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปได้โดยไม่ต้องขัดแย้งกันถึงนองเลือด ฉะนั้นจึงไม่ได้อาศัยความเก่งของผู้นำเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยคุณภาพของผู้คนในสังคมที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันต่อรอง เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จนเกินไป ประคับประคองให้ความเก่งของบุคคลสามารถทำงานได้

สภาวะดังกล่าวเกิดในระบอบประชาธิปไตยก็ได้ ในระบอบเผด็จการก็ได้

หากเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็นระบอบที่ทำงานได้จริง ทั้งผู้นำและคนทั่วไปรู้เป้าหมายสำคัญที่จะบรรลุร่วมกัน ผู้นำใช้ยุทธวิธีทางการเมืองอย่างชาญฉลาดที่จะนำสังคมไปสู่การสร้างความได้เปรียบในแง่ต่างๆ เพราะต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวกว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายได้

หากเป็นเผด็จการก็ต้องเป็นเผด็จการที่ฉลาด สุขุม และรู้จักใช้อำนาจไปในทางสร้างสรรค์กว่าเพียงเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง แม้สมดุลแห่งการทัดทานต่อรองในสังคมจะเสียไป ผู้นำก็ต้องรู้จักการรุกและการถอยทางการเมือง เพื่อให้เป้าหมายได้บรรลุความสำเร็จ ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ทั้งโลก “เผด็จการที่ดี” ก็มีเหมือนกัน ขึ้นกับบุคคลและที่สำคัญกว่านั้นคือขึ้นกับจังหวะ

เผด็จการอย่างนี้มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ทำรัฐประหารได้วันเดียว วันรุ่งขึ้นก็มีคนออกมาประกาศว่าเป็นรัฐประหารที่ดีหรือเผด็จการที่ดีแล้ว มนุษย์ลิ้นสากเหล่านี้ทำให้เผด็จการที่น่าจะดีเสียคนมามาก ยิ่งไปเจอเผด็จการโง่ๆ เข้า ลิ้นสากของคนเหล่านี้สาปไว้เลยว่า เผด็จการนั้นจะเอาดีไม่ได้เลยตลอดไป

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว หากจำเป็นต้องเลือกระหว่างประชาธิปไตยจืดๆ กับเผด็จการจืดๆ (คือไม่มีน้ำยาไงครับ) ผมก็ยังเลือกประชาธิปไตยอยู่ดี ไหนๆ ก็ต้องจืดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็ขอให้มีหลักประกันสิทธิของประชาชนบ้าง

อย่างน้อยก็ได้ก่นด่ารถเมล์ที่ไม่มาสักที ตามป้ายรถเมล์ต่อไปอย่างสบายใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image