บทวิพากษ์ คำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 โดย : บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

ด้วยกระบวนการที่รีบเร่งรวบรัดของกระทรวงแรงงานในการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 (พ.ร.ก.) เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559

โดยอ้างว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.ก.อย่างกว้างขวาง จนกระทั่ง คสช.ชงนายกรัฐมนตรีให้ผ่อนคลายปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้อำนาจเผด็จการ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4 กรกฎาคม 2560 และให้ใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

โดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้จัดประชุมและทำหนังสือด่วนที่สุด ภายหลัง พ.ร.ก.บังคับใช้เพียง 4 วัน คือวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะเห็นว่า

Advertisement

“พระราชกำหนดฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันทีและมีบทลงโทษที่สูงเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่มชุมชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว เช่น ตลาดสด ร้านค้าแผงลอย และหมู่บ้านตามชุมชนต่างๆ” เสนอข้อคิดเห็น 4 ข้อคือ

1.ควรเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ ณ ศูนย์เบ็ดเสร็จด้านแรงงานอีกครั้ง ตามระยะเวลาที่กระทรวงแรงงานเห็นสมควร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้เข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

2.ควรพิจารณาให้มีผู้แทนภาคเอกชน (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.) เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับ เพื่อให้พระราชกำหนดสามารถปฏิบัติได้อย่างเห็นผล และไม่กระทบต่อสังคมการจ้างแรงงานต่างด้าวมากเกินไป

Advertisement

3.ควรให้มีการกำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

4.ควรมีการประชาสัมพันธ์พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเร่งด่วน ในการให้ความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ประกอบการ ตลอดจนให้มีการตั้งศูนย์ในการให้คำปรึกษาของกระทรวงแรงงาน

สาระสำคัญของมาตรการชั่วคราวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 คือ

1) ให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

2) ให้นายจ้างและคนต่างด้าวเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561

3) ห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามกฎหมายหรือคำสั่งนี้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ โดยเห็นแก่ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด

4) ให้กระทรวงแรงงานปรับปรุง แก้ไข พ.ร.ก.เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2560)

5) พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

6) ให้กระทรวงแรงงานเสนอรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือนในการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายและอนุบัญญัติที่ออกตามความใน พ.ร.ก.นี้ โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อสังเกต ต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560

(1) คำสั่งนี้ไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครอง-เยียวยาแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ได้ผลกระทบจาก พ.ร.ก. เพราะในช่วงประมาณ 10 วันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 เกิดความตื่นกลัวและความสับสนสงสัยแพร่หลายจนสร้างความไม่เข้าใจไม่ยอมรับต่อ พ.ร.ก.ของผู้เกี่ยวข้องมากมาย แม้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานจะออกมาชี้แจงหลายครั้งผ่านสื่อมวลชน และจัดเวทีเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายร่วมประชุมรับฟังแลกเปลี่ยนผลกระทบที่เกิดขึ้น และข้อเสนอทางออกต่างๆ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

นายจ้างจำนวนมากใช้วิธีลอยแพ-เลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ หรือขอให้แรงงานข้ามชาติออกจากงานเดินทางกลับบ้านไปทำเอกสารเข้าเมืองให้ถูกต้อง เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของนายจ้างเอง เพราะจ้างแรงงานข้ามชาติไม่มีบัตร หรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้ว หรือใบอนุญาตทำงานระบุชื่อนายจ้าง หรือประเภทงานหรือสถานที่ทำงานไม่ตรงกับที่แรงงานข้ามชาติทำงานอยู่จริง โดยไม่ได้จ่ายค่าชดเชย หรือ ค่าจ้างที่แรงงานข้ามชาติทำงานมาแล้วก่อนออกจากงาน ขณะที่แรงงานข้ามชาติก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกินอยู่เดินทางไปกลับ โดยมีนายจ้างจำนวนน้อยอาจช่วยเหลือบ้าง หรือเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจำนวนน้อยพยายามเข้ามาตรวจสอบนายจ้างและปกป้องสิทธิแรงงาน

(2) ปัญหาคือการผ่อนปรนให้นายจ้าง และคนต่างด้าวทุกพื้นที่ทุกอาชีพดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตาม พ.ร.ก.นี้ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนด จะเป็นระยะเวลาที่เพียงพอทันการณ์หรือไม่อย่างไร? และจะมีการขยายระยะเวลาอีกหรือไม่ในอนาคต

หรือจะตรวจตราจับกุมผู้ทำผิด พ.ร.ก.ทั้งนายจ้างและคนต่างด้าวอย่างเข้มงวดจริงจังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปอย่างแน่นอน?

(3)ข้อหาความผิด-มาตราที่ทำผิด และอัตราโทษ 4 มาตรา ที่ยุติการบังคับใช้ถึง 31 ธันวาคม 2560

ปัญหาคืออำนาจรัฐราชการมีความเชื่อว่า การกำหนดอัตราโทษสูงๆ จะเป็นยาแรงให้นายจ้างกลายเป็นสุจริตชน คนดี ไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมายเอาเปรียบลูกจ้าง หรือแรงงานข้ามชาติได้ ขณะที่อัตราโทษเดิมๆ ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการลงโทษอย่างเต็มที่จริงจังแล้วหรือยัง? โดยผู้บริหารกระทรวงแรงงานบางท่านมักชี้แจงว่า อัตราโทษเดิมใช้มานานแล้วจึงต้องปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป, ถ้านายจ้างไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่, โทษอัตราสูงไม่ได้เพิ่งกำหนดอยู่ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ฯลฯ

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมีความเชื่อว่า การกำหนดบทลงโทษอัตราสูงๆ ภายใต้กลไกรัฐที่ขาดธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพความรับผิดชอบในการทำงาน จะนำไปสู่การทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบในทุกวิถีทางของเจ้าหน้าที่ร่วมกับนายจ้าง หรือนายหน้าในพื้นที่/เครือข่ายหากินที่ฉ้อฉลได้

(4) การประกาศห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เสมือนการประจานตนเองของกลไกรัฐราชการ และคงมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนน้อย ที่เชื่อว่าประกาศหัวหน้า คสช.ฉบับนี้จะมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ห้ามเจ้าหน้าที่เรียกค่าบริการคุ้มครองรีดไถได้แท้จริง?

เพราะเงื่อนไขขั้นตอนบริการที่ยุ่งยาก ล่าช้า ไม่ชัดแจ้ง ไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เอื้ออำนวยให้นายจ้างและคนต่างด้าวจำเป็นต้องไปใช้บริการของบุคคลอื่นที่มีความใกล้ชิดเข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางรายโดยต้องจ่ายค่าบริการรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้หลักฐานเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนตามนโยบายรัฐโดยสะดวกรวดเร็วที่สุด

(5) คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ เน้นให้นายจ้างและคนต่างด้าวที่ทำงานอยู่แล้วดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้ติดตาม และพ่อแม่ หรือสามีภรรยาของคนต่างด้าวที่ทำงานอยู่แล้ว ซึ่งจำนวนมากอาจประกอบอาชีพที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือต้องอยู่กับคนต่างด้าวเพื่อช่วยดูแลบุตรหลานคนต่างด้าวที่ต้องทำงานประจำอยู่

(6) ระดับความร่วมมืออย่างจริงจังชัดเจนต่อเนื่องกับประเทศต้นทางทั้งในด้านการพิสูจน์สัญชาติอย่างสะดวกรวดเร็ว การนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (MOU) การออกเอกสารรับรองบุคคลตลอดจนการอำนวยความสะดวกราบรื่นในกระบวนการอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นหลักประกันยั่งยืนในการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายการบริหารการทำงานของคนต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพในอนาคต นอกเหนือการจัดระบบบริหารภายในประเทศไทย

(7) กระทรวงแรงงานจะมีการจัดการระบบกลไก-การมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาจัดทำกฎหมาย และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างไร? ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยกังวลว่ากระทรวงแรงงานจะเน้นปรับปรุงเฉพาะการลดอัตราโทษบางมาตราตามข้อร้องเรียนของฝ่ายผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นสำคัญ

โดยไม่ยอมปรับปรุงองค์ประกอบการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีความสมดุลในคณะกรรมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยไม่เน้นฝ่ายความมั่นคงและการปกครองมากเกินไปและบางมาตราใน พ.ร.ก.ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิแรงงาน-การทำงานของคนต่างด้าวได้ เช่น การกำหนดจำนวนการจ้างแรงงานข้ามชาติในบางกิจการ, การจำกัดพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image