กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม (15) ลีลา-ลูกเล่นแฝดหนุ่มจีบสาว..อิน-จันจะมีเมียฝรั่ง

ผู้เขียนเรียบเรียงบทความเรื่องแฝดสยามอิน-จัน ตำนานระดับโลกมา 14 ตอน พี่น้องผองเพื่อนทั้งหลายที่ติดตาม มีความสนใจที่แน่วแน่อย่างเดียวคือ อยากทราบว่ามนุษย์ประหลาดบรรพบุรุษสยามคู่นี้จะมีชีวิตรัก ใช้ชีวิตแต่งงานกันอีท่าไหน ให้รีบบรรยายด่วนที่สุด เรื่องสัพเพเหระอื่นๆ ให้ทิ้งไว้ก่อน ไม่อยากรู้เว้ย ไม่ต้องบรรยาย

ผู้เขียนยินดีจัดให้ครับ

แฝดตัวติดกันจากเมืองแม่กลองร่อนเร่ไปเหมือนในเทพนิยาย จากเด็กเลี้ยงเป็ดปากน้ำแม่กลอง ไปท่องโลกในอเมริกา ไปยุโรปแล้ว กลับมาอเมริกาอีก ถ้าฝรั่งไม่บันทึกไว้เป็นหนังสือขายดี ผู้เขียนจะไม่มีวันเชื่อเด็ดขาด

อายุอานามของแฝดราว 28 ปี เป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีเงิน มีแรงเป็น 2 เท่าเพราะตัวติดกัน และมีเวลา ที่ผ่านมามีรักแรกเป็นสาวลอนดอน ถัดมาเป็นสาวอเมริกัน (จะเปิดเผยภายหลัง) แบบรักเค้าข้างเดียว ซื้อของขวัญเพื่อร้อยรัดดวงใจ เขียนจดหมายไปจีบสาวเล่าเรื่อง ที่จีบมาทั้งหมดเพราะแพ้ความขาว เลยจีบแต่คนผิวขาว

Advertisement

ไปแสดงตัวที่บ้านไหน เมืองไหน มีแต่คนนินทา ซุบซิบว่ามันมีลูกมีเมียรึยัง ถ้ายังไม่มี แล้วไอ้แฝดประหลาดตัวติดกันนี้ มันจะมีเมียกันอีท่าไหนวะ?

 

อินจัน2

Advertisement

ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า อิน-จันคุยกันเรื่องนี้รึเปล่า ที่ผ่านมาฝรั่งที่ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัวบันทึกว่า ทั้ง 2 คนไม่ค่อยได้พูดจากันให้เห็น แต่อาจจะแอบคุยกันตอนกลางคืน เรื่องจะมีเมียกันยังไงดี ฝรั่งเลยไม่ได้ยิน หรืออาจจะคุยภาษาไทยแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ

แฝดจากเมืองแม่กลองผู้โด่งดังในอเมริกา ใช้ชีวิตพเนจรแสดงตัวเก็บเงินมาราว 8 ปี มีเงินถุงเงินถัง มีหน้ามีตาในสังคม มีเพื่อนอเมริกันหลากหลายอาชีพ เห็นบ้านเมืองตั้งแต่นิวยอร์กไปจนถึงชนบท ไม่ว่าจะร่อนเร่พเนจรไปเมืองไหน แฝดหนุ่มก็เลือกที่จะกลับมาตั้งหลักที่นิวยอร์กเสมอ เพื่อนสนิททั้งหลายที่เป็นหมอเป็นผู้พิพากษาล้วนเป็นชาวนิวยอร์ก

ชีวิตแฝดสยามมั่นคง มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร และจากความหวังดีของเพื่อนฝูงที่แสนดีในนิวยอร์ก แฝดคู่นี้ได้รับการเชื้อเชิญให้เซ็นสัญญาแสดงตัวกับพิพิธภัณฑ์พีลส์ (Peale’s New York Museum) มีกำหนด 3 ปี ในระหว่าง พ.ศ.2377-2380 ชีวิตมีแต่งานและเงินที่ไหลมาเทมาไม่หยุด

หลังจากการแสดงคืนวันหนึ่ง นายแพทย์เจมส์ คัลโลเวย์ (James Calloway) หนึ่งในผู้มาชมการแสดงทนไม่ไหว ขอเข้าไปคุยส่วนตัวกับแฝดหลังเวที การพูดคุยเปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพ หมอเจมส์เอ่ยปากชวนแฝดไปพักผ่อนที่นอร์ธแคโรไลนา บทสนทนาในคืนนั้นคือจุดพลิกผันชีวิตของแฝดหนุ่มที่เป็นตำนานระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ขอเรียนอีกครั้งว่า อิน-จัน ฟัง พูด อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี บุคลิกลักษณะดี เท่ ฝรั่งช่างสังเกตบันทึกไว้ว่า แฝดสยามมีลีลาท่าทางแบบนักธุรกิจเต็มตัว มีไลฟ์สไตล์แบบอเมริกัน มีวิสัยทัศน์ในแบบทุนนิยมเต็มพิกัด คิดอ่านอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด

สังคมอเมริกันในตอนนั้นรู้จักแฝดสยามจากการซื้อตั๋วราคา 25 เซ็นต์เข้าไปดูการโชว์ตัว หนังสือเล่มเล็กๆ ที่วางขายหน้างานที่เรียกว่าสูจิบัตรเป็นสื่อที่แพร่กระจายประวัติ นิสัยใจคอ ความลึกลับมหัศจรรย์ของแฝดคู่นี้อย่างได้ผล เป็นหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ทำเงินได้อีกไม่น้อย

โลกนี้มีมืดและมีสว่าง ข่าวความเคลื่อนไหวในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องคนประหลาดจากสยามในอเมริกาขายได้เสมอ ข่าวที่ขายได้มักจะมีมุมมองแบบเสียดสีแบบเลือดซิบๆ ในลักษณะการกีดกัน รังเกียจเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

สังคมคนผิวขาวในอเมริกาจัดวางระดับให้อิน-จัน เป็นบุคคลที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วในอเมริกา แต่จะไม่มีวันเท่าเทียมกับคนขาวแน่นอน

กัปตันคอฟฟิน (Abel Coffin) อดีตผู้จัดการด้านธุรกิจการแสดงของแฝดหนุ่ม ยังรังควาน ผูกใจเจ็บไม่เลิกไม่รา คอฟฟิน เจ้าคิดเจ้าแค้นที่แฝดคู่นี้ไม่ยอมกลับมาร่วมธุรกิจ เลยปล่อยข่าวในทำนองว่า เขาคือผู้แทนการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐที่เข้าไปเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสยาม และเขาคือคนที่ไปซื้อตัวไอ้เด็กแฝดคู่นี้มากับมือ ให้เงินแม่ของแฝดไปหมดแล้ว ไปซื้อมันมาเลี้ยงแบบทาส

คำกล่าวอ้างในทำนองนี้เจือปนด้วยแค้น กัปตันคอฟฟินต้องการลดทอนสถานะในความเป็นมนุษย์ของแฝดสยามให้ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับทาสผิวดำ

กัปตันคอฟฟินยังเล่นข่าวเหน็บแนมอีกว่า ไอ้แฝดคู่นี้ทำเงินในอเมริกาได้มหาศาลถึง 1 แสนเหรียญ จากการเป็นมนุษย์ร่างกายประหลาด แต่มันไม่เคยส่งเงินกลับไปให้แม่ที่แสนยากจนในสยามเลยแม้แต่น้อย

เกร็ดตำนานของนักสู้ชีวิตแฝดเพื่อเรียกคนซื้อตั๋วเข้ามาดูการแสดงที่ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง มีการตีฆ้องร้องป่าวถึงขนาดว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้ มันคือลิงอุรังอุตังชนิดหนึ่งที่ไปจับตัวมาได้จากป่าลึก บางที่ก็โฆษณาว่า คนแฝดคู่นี้คือบรรพบุรุษของคนอเมริกันที่อยู่ในอเมริกามาก่อนคนขาวจะอพยพเข้ามา

บ้างก็เลยเถิดแหกตาชาวบ้านว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้เป็นนางเจน เมียของทาร์ซาน ที่ไปจับมาได้จากป่า

โฆษณาแนวนี้ โดนใจมะริกันชนนักแล

นับเป็นโฆษณาที่เร้าใจแบบไม่ดูไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่ากันนะครับ เทคนิคการขายของที่ไหนในโลกก็ใช้ลูกเล่นแบบนี้ ในเวลาเดียวกันข้อมูลภาพลักษณ์ในด้านลบเหล่านี้ก็เป็นเสมือนดาบที่กลับมาฟันคอแฝดหนุ่มในเรื่องของสตรีเพศที่ผูกสมัครรักใคร่ไม่น้อย

สาวสวยอเมริกันที่อิน-จันรักจริงหวังแต่งย่อมต้องลังเลคิดหนักที่จะคบหาแบบคนรักเพราะดูเหมือนแฝดจะไม่ใช่คน

วันหนึ่ง..ความจำเจที่แฝดมีอาชีพต้องเป็นผู้ให้ความบันเทิง (Entertainer) กับมะริกันชนมาต่อเนื่อง ใช้ชีวิตในป่าคอนกรีตยาวนาน ทำให้แฝดปรึกษานายแฮริสเพื่อนร่วมงานที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมนายแพทย์คัลโลเวย์ ที่รัฐนอร์ธแคโรไลนาตามที่รับปากกันไว้ เพื่อการพักผ่อนยิงนกตกปลาที่แฝดจากแม่กลองชอบที่สุด

ในราวต้นปี พ.ศ.2382 คณะแสดงของแฝดก็เดินทางมาพบกับทิวทัศน์แบบป่าเขาลำเนาไพร และสัตว์ป่าในเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่าวิลส์เคาน์ตี้ (Wilkes county) มันคือดินแดนในจินตนาการที่แฝดอิน-จันเคยฝันถึง นายแพทย์คัลโลเวย์ เจ้าถิ่นจัดเต็มให้แฝดได้ยิงนก ตกปลา แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แถมยังแนะนำให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้ผูกมิตรเฮฮาป่าลั่นกับคู่แฝดแบบสนิทใจ แฝดสยามใช้เวลาส่วนใหญ่ในลำธารเพื่อตกปลาที่ชำนิชำนาญมาตั้งแต่เกิดที่เมืองแม่กลอง สลับด้วยการล่ากวางที่เกะกะชุกชุมในป่าแถวนั้น เพื่อนๆ ฝรั่งต่างชมว่าแฝดใช้ชีวิตในป่าได้อย่างกลมกลืน รวมทั้งใช้อาวุธปืนได้คล่อง

อินจัน3

หมอคัลโลเวย์กัลยาณมิตรของแฝด จบแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาฝึกงานด้านการแพทย์ในหลายเมืองในรัฐนอร์ธแคโรไลนา ซึ่งในเวลานั้นชุมชนที่แฝดเข้าไปพักผ่อนอยู่ด้วยนั้นยังเป็นบ้านนอกของอเมริกา ก็ไม่แตกต่างจากบ้านนอกของสยาม ผู้คนยากจน น้ำ ไฟ การรักษาพยาบาล โรงเรียน คือสิ่งที่ไม่มีทั้งสิ้น มีแต่เสน่ห์อันตรึงใจจากธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องและความสงบ

คู่แฝดเช่าบ้านพักผ่อนใช้ชีวิตแบบสบายๆ เนิบนาบ วันคืนผ่านไป จิตใจแฝดเริ่มถูกสะกดด้วยมนตราของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ความอ่อนช้อยของแม่น้ำลำธารแบบถอนตัวไม่ขึ้นซะแล้ว ดินแดนที่ดาษดื่นไปด้วยพืชผลการเกษตร ฝ้าย ยาสูบ ข้าวสาลี มีคนงานเป็นทาสผิวดำเต็มท้องทุ่ง ภายใต้การกำกับของคนอเมริกันผิวขาวที่เป็นนาย

เมื่อแฝดทั้งคู่ยืนยันว่า “ตรงนี้แหละ ใช่เลย” จึงเจรจาขอซื้อที่ดินตรงที่ใช่ เนื้อที่ 150 เอเคอร์ (ประมาณ 375 ไร่) ในราคา 300 เหรียญ มีการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินถูกต้องตามกฎหมายของรัฐ เป็นที่ฮือฮาบอกเล่ากันไปหลายคุ้งน้ำ ที่มีคนประหลาดตัวติดกันจากเมืองสยามมาลงปักหลักตั้งถิ่นฐานในชุมชนของคนขาว

ที่ดินขนาดนี้ถือว่าไม่เล็กนะครับ อิน-จัน เด็กเลี้ยงเป็ดจากสยามใจถึงจริงๆ

ผู้เขียนคิดว่า บุคคลจากสยามคู่นี้คือบรรพบุรุษสยามคู่แรกที่ประทับตราเป็นเจ้าของแผ่นดินในอเมริกาอย่างเป็นทางการที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ ผืนดินตรงนั้นมีลำธารใสเย็นเห็นตัวปลาชื่อแซนดี้น้อย (Little Sandy Creek) หมู่บ้าน (หรืออาจจะเป็นตำบล) แทร็ปฮิล (Trap Hill) รัฐนอร์ธแคโรไลนา

ชีวิตของแฝดนักผจญภัยต้องเดินต่อไปแบบมีทิศทาง เหมือนเรือต้องมีหางเสือ เมื่อมีที่ดินแล้ว บ้านในฝันของคนจากแดนสยามจึงเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อ และเงินทองของแฝด เป็นบ้านขนาด 4 ห้องนอน ใช้เวลาไม่นานนักบ้านหลังแรกของชีวิตในอเมริกาก็แล้วเสร็จ

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือข้าวของเครื่องใช้สำหรับสุภาพบุรุษตัวติดกันคู่นี้ที่จะต้องสั่งทำพิเศษ เตียงนอนต้องแบบนอนคู่ เก้าอี้ต้องมี 2 ก้นใน 1 ตัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้ในบ้านนายแฮริส ผู้จัดการส่วนตัวไปสั่งซื้อสั่งทำพิเศษจากนิวยอร์ก

ชีวิตลงตัวในอเมริกา มีเงิน มีบ้าน มีแรง อายุยังไม่ถึง 30 ปี พระเจ้าช่างเมตตาแฝดอิน-จันเสียนี่กระไร

ไหนๆ ก็ไหนๆ ชีวิตเดินทางมาไกล เกินกว่าจะย้อนกลับ ไม่มีใครทราบว่า แฝดอิน-จัน คิดจะกลับไปหาแม่ที่แม่กลองหรือไม่ แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ ขนาดซื้อที่ดินปลูกบ้านทำการเกษตรแล้ว เรื่องกลับไปใช้ชีวิตที่แม่กลอง คงเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยซะแล้ว

ก้าวย่างต่อไปที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอเมริกันคือการแปลงสัญชาติ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ มีเรื่องเฮฮาประสาชาวสยามคือ อิน-จัน ประชาชนชาวสยามในยุคนั้น ไม่มีนามสกุลที่จะใช้จดทะเบียน ในเมืองสยามในรัชสมัยในหลวง ร.3 ยังไม่มีการใช้นามสกุลกันนะครับ มีเพียงชื่อไอ้ดำ อีแดง ไอ้อ้วน นางเตี้ย อีหมวย แค่นี้ก็ทราบดีว่าหมายถึงใคร ตอนลงเรือออกมาจากสยามเมื่อ 8 ปีที่แล้ว นางนากผู้เป็นแม่ก็ไม่ได้บอกว่านามสกุลอะไร เทือกเถาเหล่ากอก็สืบค้นไม่ได้

ข้อมูลจากหนังสือของ Kay Hunter (หลานของนายฮันเตอร์) ระบุว่าความคิดที่ตกผลึกของแฝดสยามแบบไม่ต้องคิด คือการนึกถึง วิลเลียม บาร์ทูเอล และเฟรดเดอริก เพื่อนรัก 3 พี่น้องชาวอเมริกันในนิวยอร์กที่ช่วยเหลือเจือจุนกันมานานที่นามสกุลบังเกอร์ (Bunker) มีการติดต่อเพื่อขอใช้นามสกุลบังเกอร์ร่วมด้วย เพื่อนอเมริกันทั้ง 3 ชอบใจ มีคนมาขอใช้นามสกุลเลยจัดให้ทันที

และแล้วประชากรอเมริกาก็ปรากฏชื่อของ Eng Bunker และ Chang Bunker ในประวัติศาสตร์อเมริกา

อิน-จัน จากสยามผ่านกระบวนการทางกฎหมายของอเมริกาแบบม้วนเดียวจบ ตบท้ายด้วยการสาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกัน ตัดขาดจากความเป็นพลเมืองสยามโดยสมบูรณ์

ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ตรงนี้ว่า บรรพบุรุษสยาม 2 ท่านนี้คือชาวสยามคู่แรกที่เข้าสู่กระบวนการโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2382

และจากข้อมูลของโจเซฟ แอนดรู ออเซอร์ ในหนังสือ The Lives of Chang and Eng ระบุว่า นายแฮริสที่ร่วมงานกันมานานก็ถือโอกาสแปลงสัญชาติจากไอร์แลนด์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เป็นพลเมืองอเมริกันพร้อมกันไปด้วย

ผู้คน สูง ต่ำ ดำ เตี้ย แขก ฝรั่ง จีน คนดำจากแอฟริกา มืดฟ้ามัวดิน ทุกชาติพันธุ์กำลังหลั่งไหลเข้าไปแสวงโชคเริ่มต้นชีวิตในอเมริกาที่เรียกว่าโลกใหม่ (New World) ในจำนวนนั้นมีชาวสยามเข้าไปร่วมกะเค้าด้วย 2 คน มาแบบพิเศษกว่าทุกคนในโลกคือเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins)

แฝดสยามใช้ชีวิตกับการเกษตรปลูกข้าวโพดในที่ดินที่ซื้อมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สุขกายสบายใจกับธรรมชาติในชนบท ไม่ต้องออกไปร่อนเร่แสดงตัวหาเงินนานพักใหญ่ นายแฮริสเพื่อนรักก็พลอยปักหลักเช่าบ้านอยู่ไม่ไกลกันนักแวะเวียนไปมาหาสู่กันตลอด

และแล้ว นายแฮริสหนุ่มใหญ่เพื่อนรักของแฝดที่อ้างว้างว้าเหว่มานาน 38 ปี ประกาศแต่งงานกับสาวแสนสวยที่มีนามว่าแฟนนี่ บอเกส (Fannie Bauguess) ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าซึ่งเฝ้ามานาน

งานฉลองแต่งงานในคืนนั้นเป็นไปตามแบบชนบทในอเมริกา ผู้คนมากหน้าหลายตาในแทร็ปฮิลมาร่วมงานเกือบทั้งตำบล อาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี เต้นรำ

แน่นอนที่สุดแฝดสยามสุดหล่อคือแขกคนสำคัญของงาน

แฝดหนุ่มทั้งสองไม่ใช่คนแปลกหน้าในงานฉลองแต่งงาน ทุกคนล้วนคุ้นเคย เป็นกันเองแบบคนบ้านเดียวกัน

ในงานคืนนั้น จันคือคนที่คึกคักมีรักในหัวใจ กระฉับกระเฉง สอดส่ายสายตามองหารักจากสาวอเมริกันที่มาอวดโฉมในงาน ส่วนอินก็จนปัญญา ชีวิตไม่มีทางให้เลือกมาตั้งแต่เกิด ไปไหนก็ต้องกระเตงกันไป ในระหว่างสรวลเสเฮฮากับเพื่อนๆ ในงาน แฝดจันเกิดไปประสานสายตากับสาวน้อยนามว่าซาราห์ แอน เยทส์ (Sarah Ann Yates) ลูกสาวสวยสะพรั่งอายุ 18 ปีของเดวิด และแนนซี่ เยทส์ (David-Nancy Yates) คหบดีผู้มีอันจะกินในเมืองใกล้ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยง

จันเหมือนถูกมนต์สะกด ยิ้มแย้มเดินปรี่ตรงเข้าไปแบบช้างก็ฉุดไม่อยู่ แต่ก็ต้องลากเอาตัวแฝดอินเข้าไปด้วย พระผู้เป็นเจ้ากำลังเมตตาสงสารแฝดหนุ่มที่อาภัพรัก

ซาราห์ แอน ไม่ได้มากับพ่อเท่านั้น แต่เธอควงคู่มากับน้องสาวที่สวยไม่แพ้กันที่ชื่ออาดิเลด (Adelaide) อายุ 17 ปีมาด้วย แฝดหนุ่มคุ้นเคยกับเดวิด เคยพบกันมาบ้าง แต่ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าอีตาเดวิดมีลูกสาวสวยขนาดนางฟ้าทั้ง 2 คน

ในหนังสือ The Romance of the Siamese Twins โดยเชพเพิร์ด มอนโร ดักเกอร์ (Shepherd Monroe Dugger) บรรยายความสำนวน ลีลา ลูกเล่นแพรวพราวของแฝดแม่กลอง ที่พี่น้องสองสาวต้องเคลิ้ม

แฝดอินเอ่ยปากทักทายสาวด้วยคำหวาน “น้องชายของผมต้องการแต่งงาน ถ้าใครซักคนสนใจ เค้าก็จะขอแต่งในคืนนี้ซะเลย”

พี่น้องสองสาวถึงกับตกตะลึง ถอยไปตั้งหลัก

“เขาต่างหากที่อยากแต่งงาน แต่มาอ้างผม ผมเดินมานี่ก็แค่อยากคุยกับคุณเท่านั้นเอง” จันรีบรับลูก

พี่น้องสองสาวเริ่มตั้งหลักได้จึงยิ้มแย้มตอบรับไมตรีของแฝดสยามสัญชาติอเมริกัน

จันรุกต่อว่า “เหตุที่ผมยังไม่แต่งงาน ก็เพราะตัวติดอยู่กะเค้านี่แหละ”

สาวน้อยซาราห์ตัดสินใจเอ่ยประโยคแรก “เห็นจะจริง มีโอกาสที่คุณ 2 คนจะแยกตัวออกจากกันมั้ย ?”

แฝดอินรับลูกต่อว่า “หมอบอกว่า ไม่มีทางแน่นอน เราเองทั้ง 2 คนตัดสินใจกันแล้วว่า เราคงจะใช้ชีวิตได้แค่มองสาวสวย แล้วก็พร้อมจะไปนอนในหลุมศพ”

“น่าสงสารที่สุด ที่คุณมีความรักต่อหญิงสาว แต่คุณก็แต่งงานด้วยไม่ได้” แอดดี้กล่าวด้วยความเห็นใจเชิงหยอกล้อ

“ผมจะหาโอกาสไปเยี่ยมคุณที่บ้านให้ได้ แต่ผมจะไม่พาอินไปด้วย เพราะเค้าชอบแย่งสาวที่ผมชอบเสมอ” จันสานต่อแบบไม่ขาดตอน

อินรีบสวน “ผมเป็นคนยุติธรรมนะ เอาอย่างนี้ ผมขอให้คุณเลือกก่อนเลยว่า คุณชอบใคร?”

จันไม่รอช้า “ผมเลือกแอดดี้” แล้วหนุ่มสาว 2 คู่ 4 คน ก็พร้อมใจกันหัวเราะลั่นทุ่งท่ามกลางงานเลี้ยงแต่งงานของเพื่อนแฮริส

การสนทนาแรกพบของ 4 สหายในคืนนั้นเป็นไปตามคำพังเพยไทยที่เรียกว่าหมาหยอกไก่ แฝดอินทราบดีว่างานนี้แฝดจันเอาจริง ส่วนพี่น้องสองสาว ซาราห์และแอดดี้ก็มีไมตรีที่แสนอบอุ่นแต่ต้องคิดหนัก เพราะนึกภาพไม่ออกเลยว่ามันจะรักกันได้ยังไง?

สองสาวยังคิดไปไม่ถึง แต่แฝดมโนไปไกลสุดขอบฟ้าซะแล้ว

ที่ผ่านมาตลอดชีวิต แฝดทั้งสองมีความคิดเหมือนกันต่างกันบ้างไม่มาก แต่ครั้งนี้แฝด 2 แรงม้าเดินหน้าเต็มตัว

เวลาช่างเนิ่นนานสำหรับคนรอคอย แฝดหนุ่มทำงานในไร่ยาสูบและไร่ข้าวโพดดูแลพืชทุกชนิดที่ลงทุนเพาะปลูกแบบชาวไร่ชาวสวนที่ทำเป็นมาตั้งแต่เป็นเด็กที่แม่กลอง

วันที่พระเจ้าประทานพรให้ก็มาถึงอีกครั้ง แฝดหนุ่มแต่งตัวสุดหล่อตัดสินใจเดินทางด้วยรถม้ามุ่งตรงไปที่บ้านของสองสาวที่เคยผูกไมตรีไว้เพื่อขอพิสูจน์พรหมลิขิต ชะตาชีวิตตนเอง เดินทางไปถึงบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ระหว่างแทร็ปฮิลกับวิลส์โบโร ตามที่ได้เคยสอบถามกันมา

บ้านหลังนี้ต้องเป็นบ้านของสาวน้อยแอดดี้ และซาราห์แน่นอน แฝดจึงตัดสินใจเคาะประตู

แฝดแม่กลองถึงกับผงะ เพราะสุภาพสตรีที่มาเปิดประตูเธอคือสาวอเมริกันในชนบทที่สูงราว 168 เซนติเมตร คะเนดูจากรูปร่างน้ำหนักเธอน่าจะประมาณมากกว่า 200 กิโลกรัมแน่นอน

เธอแนะนำตัวว่าเธอคือแนนซี่ เยทส์ เป็นแม่ของแอดดี้และซาราห์

เป็นไงเป็นกัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และจะเกิดอะไรกับชีวิตที่สุดแสนพิสดารของแฝดคู่นี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image