ดุลยภาพดุลยพินิจ : ค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ข่าวแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นข่าวดังระดับชาติเดือนที่แล้วที่สื่อเกือบทุกฉบับลงข่าวติดต่อกัน โดยสืบเนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 (ประกาศเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับในวันถัดมา) และผลกระทบที่ตามมาทั้งร้ายและดี ซึ่งในวันนี้ผู้เขียนจะไม่นำมากล่าวอีก แต่นึกไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเพราะมีคำถามว่า แรงงานต่างด้าวดังกล่าวได้รับค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มากน้อยเท่าใด เท่ากับแรงงานไทยหรือไม่

โชคดีที่ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตนักวิชาการร่วมสถาบันซึ่งได้ร่วมกับพรรคพวกทำการวิจัยเรื่องนี้อยู่ (เรื่อง Impacts of the 300 Baht Minimum Wage Policy on Migrant Workers in Thailand) ผู้เขียนจึงได้ขออนุญาตนำมาแชร์เพราะเห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์

ดร.จิระวัฒน์เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อแรงงานต่างด้าว มีงานศึกษาเพียงไม่กี่ชิ้นที่เป็นงานเชิงคุณภาพ (ไม่เน้นตัวเลข) ที่ได้จากการสัมภาษณ์ตัวอย่างไม่กี่ราย ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบโดยใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพศึกษาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทต่อแรงงานต่างด้าว (ก่อน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560)

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ พ.ศ.2551 นั้นบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานทุกคนรวมทั้งแรงงานต่างด้าว แต่ในทางปฏิบัติยังมีการหลีกเลี่ยงปฏิบัติอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดโดยราชการ

Advertisement

จากการศึกษาในอดีตทุกชิ้นผู้วิจัยพบว่า แรงงานสัดส่วนไม่น้อย (ทั้งคนไทยและต่างด้าว) ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ดี การศึกษาในอดีตชี้ให้เห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่ออัตราค่าจ้างโดยรวมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอัตราค่าจ้างได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะแรงงานในระบบที่เป็นแรงงานสตรีและเยาวชน แต่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานนอกระบบแต่อย่างใด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจมีผลลบต่อการจ้างงานเล็กน้อยโดยเป็นผลกระทบต่อสถานประกอบการขนาดเล็ก การศึกษาเหล่านี้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังนั้น แรงงานที่ครอบคลุมจึงมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งทำให้ผลวิเคราะห์ไม่ใช่ผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวอย่างเดียว

ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อแรงงานต่างด้าวที่เคยทำในอดีตที่เป็นงานเชิงคุณภาพมีตัวอย่างเช่น งานของอาจารย์ไพรินทร์ มากเจริญ ที่สัมภาษณ์เด็กต่างด้าวที่ทำงานในการจ้างเหมาในกิจการต่อเนื่องประมงและผลกระทบต่อแรงงานเด็ก : กรณีศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร (2553) พบว่าแรงงานเด็กดังกล่าวได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนั้น (วันละ 199 บาทในสมุทรสาคร) ในขณะที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่สัมภาษณ์ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำหรือมากกว่าเล็กน้อย

ในปี 2556 มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP : Migrant Assistance Program) ได้สัมภาษณ์แรงงานพม่า 139 คนที่ทำงานก่อสร้าง งานเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และรับใช้ในบ้าน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานนำเข้า และแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งเพศชายและหญิงจำนวนเท่าๆ กัน พบว่าแรงงานที่สำรวจไม่ว่าจะเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทต่อวันมาก โดยแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ประมาณร้อยละ 60 ของแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เทียบกับแรงงานที่นำเข้าตาม MOU ที่เพียงร้อยละ 15 ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนั้นแล้วแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้รับค่าแรงการทำงานล่วงเวลาต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ต่อมามีการศึกษาของนาเปียร์กับเชอิลที่สัมภาษณ์แรงงานต่างด้าว 125 คน ที่ทำงานก่อสร้างใน กทม.และเชียงใหม่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2559 พบว่ากว่าครึ่งของแรงงานที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท และแรงงานหญิงมักจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานชาย และแรงงานต่างด้าวได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานไทย

แม้ว่า MAP และนาเปียร์กับเชอิลจะทำการศึกษาหลังจากมีการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว แต่ก็ไม่ได้ศึกษาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงทำให้ไม่ทราบว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวอย่างไร คณะของ ดร.จิระวัฒน์จึงนำประเด็นนี้มาศึกษา

การศึกษาของ ดร.จิระวัฒน์และคณะ เป็นการศึกษาเชิงปริมาณโดยใช้ข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จุดเด่นของข้อมูลนี้คือเป็นการศึกษาแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายจากการสำรวจดังกล่าวยังมีข้อจำกัดสำคัญคือ เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าตัวเลขของทางการค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังไม่สามารถระบุสัญชาติของแรงงานต่างด้าวได้ การศึกษาพบว่าค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานต่างด้าว คือวันละ 430 บาท และรายได้เฉลี่ยวันละ 477 บาท ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่สำรวจร้อยละ 30 ทำงานในสถานประกอบการขนาดจิ๋วมีลูกจ้างไม่เกิน 9 คน อีกร้อยละ 30 ทำในสถานประกอบการขนาดเล็กจ้างงานระหว่าง 10-99 คน และราวร้อยละ 40 ทำงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เมื่อจำแนกตามอุตสาหกรรม แรงงานต่างด้าวที่สำรวจ ร้อยละ 50 อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 11 อยู่ในกิจการค้าส่งและค้าปลีก และอีกร้อยละ 8 ทำงานก่อสร้าง ลักษณะของงานที่ทำเป็นงานกรรมกร (ร้อยละ 20) ทำงานโรงงาน และคุมเครื่องจักร (ร้อยละ 17) และทำงานกึ่งฝีมือและงานเกี่ยวกับการประมง (ร้อยละ 11)

จากข้อมูลชุดนี้ ดร.จิระวัฒน์พบว่า ในปี 2554 ก่อนประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท แรงงานต่างด้าวเกือบร้อยละ 40 ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนั้น และร้อยละ 26 ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่หลังจากประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดครั้งแรกในเดือนเมษายน 2555 สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท กระโดดขึ้นเป็นร้อยละ 42 ในขณะที่สัดส่วนแรงงานต่างด้าวที่ได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เป็นการเพิ่มแบบกระโดด สถานประกอบการรับไม่ทัน แต่ในปีต่อๆ มา สถานประกอบการจึงเริ่มปรับตัวได้ ในปี 2558 สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำลดลงเหลือร้อยละ 17 (ต่ำกว่าสัดส่วนปี 2554) แสดงว่าสถานการณ์การไม่ปฏิบัติตามค่าจ้างขั้นต่ำค่อยดีขึ้นแต่ก็ยังถือว่ามีปัญหาอยู่

การศึกษานี้ยังพบว่าสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าสัดส่วนของแรงงานไทยที่รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดช่วงเวลา 2554-2558

นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยยังได้ศึกษาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อการว่างงาน ซึ่งพบว่าค่าจ้าง 300 บาท มีผลกระทบน้อยมากต่อการว่างงาน ผู้วิจัยให้ข้อสังเกตประการหนึ่งว่า อาจจะเนื่องจากการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร และความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวมีสูงมาก แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมักจะหางานใหม่ได้โดยเร็ว นอกจากนั้น ความเห็นของผู้เขียนเองคือ อัตราการว่างงานของประเทศไทยค่อนข้างต่ำจึงไม่ค่อยไวต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือนโยบายต่างๆ มากนัก

การศึกษาข้างต้นเป็นการศึกษาเชิงปริมาณ แต่ ดร.จิระวัฒน์มีการเสริมด้วยการศึกษาเชิงคุณภาพโดยการออกพื้นที่ สัมภาษณ์และสัมผัสแรงงานพม่าที่ทำงานในสาขาอาหารแปรรูปและสิ่งทอ เพื่อทำความเข้าใจว่าแรงงานกลุ่มไหนเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ

ผลการสำรวจพบว่า แรงงานที่มักจะไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำคือแรงงานที่ได้ค่าจ้างตามจำนวนชิ้นงานในจังหวัดชายแดน แรงงานเหล่านี้มักต้องทำงานมากกว่าชั่วโมงทำงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาด้วย นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวยังศึกษาเรื่อง สภาพการทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจแต่เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่ จึงขอข้ามไป

ท้ายสุด การศึกษาของ ดร.จิระวัฒน์ และคณะฝากข้อเสนอแนะไว้ 3 ประการ คือ

ประการแรก รัฐควรจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้พอเพียงต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล

ประการที่สอง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นทุกปีจึงควรมีการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำและปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในจังหวัด ซึ่งหมายความว่าค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่จำเป็นต้องเท่ากัน และ

ประการที่สาม แรงงานต่างด้าวมีคุณมีประโยชน์มากต่อนายจ้างและเศรษฐกิจไทย นายจ้างจึงควรตระหนักถึงความจริงข้อนี้และเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวให้ดีตามสมควร

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image