สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่มีชนชาติขอม มีแต่คน (ใครก็ได้) เป็นขอม

ปรางค์สามยอด เมืองละโว้ (ลพบุรี) สัญลักษณ์ของขอมลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภาพนี้ถ่ายจากศาลพระกาฬ เห็นรถไฟกำลังแล่นผ่าน)

คนดั้งเดิมแถบลุ่มน้ำมูล เช่น พิมาย, พนมรุ้ง, ภูปลายบัด ฯลฯ อาจถูกเรียกว่าขอมก็ได้ ใครจะรู้?
“ขอม” ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นชนชาติขอมจึงไม่มีจริง
แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
[เช่นเดียวกับคำว่า แขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่า คริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์]

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปอยู่กัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่ามอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และรัฐกัมพูชา จะได้ชื่อว่าขอมทั้งนั้น
แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่างว่า “ขอมไม่ใช่เขมร” และ “ขอมคือเขมร”

พิมาย ลุ่มน้ำมูล นับเป็นแหล่งเดิมบรรพชนขอม
ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชาอยู่ลุ่มน้ำมูล เพราะบริเวณต้นน้ำมูลตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน, ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง เป็นถิ่นเดิมหรือถิ่นบรรพชนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณโตนเลสาบ
ไม่ว่าขอมจะเป็นใครในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงยุคอยุธยาที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสภาษาไทย ขอมเหล่านั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นไทยตามอำนาจรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image