“ข่าวปลอม” ใครขบ ใครขัน

ภาพจาก flickr.com

ในยุคดิจิตอลที่สื่อออนไลน์มาแรง หลายข่าวที่สื่อกระแสหลักได้มาจากเว็บไซต์และรีบแชร์ไปนั้นมักกลายเป็นข่าวปลอมจากเพจข่าวปลอมและเสียดสีต่างๆ ซึ่งคนไทยมักเรียกกันว่าเพจดักควาย

คนไทยหลายคนทีเดียวไม่ว่าจะเลือกข้างการเมืองอย่างไร ก็ดูสามัคคีพร้อมเพรียงกันด่าคนอื่นๆ ที่ถูกหลอกว่าโง่เป็นควาย

ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการด่าคนถูกหลอกว่าเป็นควาย เพราะดิฉันเชื่อว่ามนุษย์ควรมองกันและกันอย่างมีเมตตา แม้เราไม่เคยพลาดมาก่อนและยังไม่พลาด ก็มิได้หมายความว่าเราจะไม่มีวันเผลอพลาด

แต่แน่นอนว่าสำหรับสื่อ มันควรเป็นข้อพึงระวังสำคัญว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาข่าวให้ชัดเจนและอย่าทำงานง่ายๆระดับลอกข่าวออนไลน์ทั่วไปมานำเสนอ
ในทางสากลนั้น ข่าวปลอม (fake/hoax news) ถือเป็นงานล้อเลียนเสียดเย้ย (parody) หรืองานเสียดสี (satire) ประเภทหนึ่งที่พบได้ในสื่อกระแสหลักโดยเอาเรื่องจริงมาเขียนให้เป็นเรื่องตลกขบขัน ว่ากันว่ามันปรากฎเป็นทางการครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Sun ของนิวยอร์กเมื่อปี 1835 จากบทความทางดาราศาสตร์หกเรื่องซึ่งเป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ “The Great Moon Hoax”

Advertisement

เนื้อหาของบทความปลอมนี้กล่าวถึงบรรดาชีวิตมหัศจรรย์ต่างๆ บนดวงจันทร์อาทิ ควายไบซัน แพะ ตัวยูนิคอร์น และมนุษย์ปีกค้างคาวเป็นต้น โดยอ้างว่ายืนยันได้จากการสำรวจดวงจันทร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์พิเศษของเซอร์ จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Herschel) นักดาราศาสตร์ชื่อดังสมัยนั้น

บทความปลอมที่ว่าทำเอา The Sun ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะกลายเป็นประเด็นในวงการดาราศาสตร์และคนอ่านสนุกแม้มารู้ภายหลังว่าเป็นเรื่องปลอมก็ตาม ส่วนเฮอร์เชลนั้น แม้ต้องรำคาญบ้างเล็กน้อยเมื่อมีผู้มาถามเขาอย่างจริงจังถึงการค้นพบดังกล่าวก็ขำ หัวเราะเอิ้กอ้ากไปด้วยที่คนเขียนปั้นเรื่องได้เป็นตุเป็นตะ

เรื่องปลอมๆแบบนี้มีให้เห็นเป็นปกติในสื่อตะวันตกโดยเฉพาะในวัน April Fools’Day 1 เมษายน และปัจจุบันขยายไปทุกช่องทางสื่อทั้งในรายการทีวีและสื่อออนไลน์ตามวิวัฒนาการของสื่อ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาล้อเลียนเสียดเย้ยทางการเมืองหรือเพื่อความขบขันของผู้ดู

Advertisement

เท่าที่เคยคุยกับเพื่อนนักข่าวต่างชาติ การผลิตและเสพข่าวประเภทนี้ต้องการความรู้และอารมณ์ขัน ไม่ใช่อารมณ์เหยียดหยามคนอื่นเป็นควายโง่ (แม้หลายเว็บข่าวปลอมระยะหลังๆจะเริ่มมีเจตนานั้นเช่นเปิดเผยเลยว่าเอาไว้แกล้งพวกหัวเก่าอนุรักษ์นิยม) และไม่ใช่อารมณ์คนเผลอเชื่อที่จะไปโกรธคนหลอก
เพื่อนบอกว่าหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือคนเผลอเชื่อควรฉุกใจคิดเพื่อเตือนใจตนว่า เราทั้งหลายต่างยังคงมีความใสซื่อ ดังนั้น จงระวังตัวอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เรากำกับตัวเราเองไม่ให้หลอกคนอื่นได้หรือให้คิด/ตรวจสอบหลักฐานก่อนเชื่อได้ แต่กำกับควบคุมคนอื่นไม่ให้หลอกเราไม่ได้

ในโลกภาษาอังกฤษวันนี้ มีเว็บไซต์ข่าวปลอมเป็นร้อยซึ่งบางครั้งก็นำเสนอได้จริงจังน่าเชื่อถือมากจนผู้คนและสำนักข่าวต่างๆเชื่อไปค่อนโลกเหมือนกัน เมื่อข่าวปลอมชักเยอะและบ้างก็เจตนาบิดเบี้ยวจากขำๆให้รู้เท่าทันระวังตัวเป็นเจตนาร้ายป่วนสังคมให้อลหม่าน จึงเกิดเว็บไซต์ประเภทรวมรายชื่อเว็บข่าวปลอมให้ผู้สนใจตรวจสอบ ไล่เรียงไปตั้งแต่ fake/hoax news websites ประเภทเสนอข่าวปลอมแนวจริงจังด้วยเจตนาหลอกคนอ่านที่ชอบอ่านลวกๆ และไม่ตรวจสอบข้อมูล ไปจนถึง satire websites เสนอข่าวปลอมแนวเสียดเย้ยขำๆ และ clickbait websites ที่เอาเรื่องจริงมาปลอมเล็กปลอมน้อยแต่ตกแต่งเสียหวือหวาน่าตกใจเพื่อเรียกยอดคลิก

แต่ที่สุดแล้ว เว็บประเภทนั้นก็ถูกแปะป้ายว่าเป็นเว็บปลอมเหมือนกัน หลังจากถูกจับได้ว่ามั่วเอาเรื่องจริงไปป้ายสีว่าเป็นเรื่องปลอม

ความจริงแล้ว การป้องกันตัวเองจากข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องยาก แค่เตือนตัวเองว่าจะเชื่อหรือแชร์ข่าวอะไรในโลกออนไลน์ ให้ตั้งสติคิดถึงเหตุผลและความสมจริงของเนื้อหาก่อน, ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอีกอย่างน้อยสองสำนักซึ่งไม่ใช่เครือข่ายของกันและกันก่อน (แม้จะเชื่อใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์เพราะคนละเครือข่ายก็ลอกข่าวกันได้), และอย่าลืมตรวจสอบจากสำนักข่าวใหญ่ๆในภาษาอังกฤษด้วย

สาบานว่าทั้งหมดที่เขียนมา เป็นเรื่องจริงล้วนๆไม่ได้อำ แม้ลงท้ายแบบนี้จะเป็นธรรมเนียมของการเขียนเรื่องอำก็ตาม แต่คนเราไม่จำเป็นต้องทำตามธรรมเนียมเสมอไป #โปรดเขย่าข่าวก่อนอ่านและเชื่อทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image