ปฏิรูปยุคดิจิทัล : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิรูปยุคดิจิทัล

ประกาศรายชื่อ เผยโฉมให้เห็นหน้าเห็นตากันแล้ว สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ล็อตแรก 120 คน ต่อไปเป็นคิวของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามลำดับ

เฉพาะคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์กฎหมายบัญญัติให้ตั้งขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นประการหลัง หลายคณะตามกรอบยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้ง 6 ด้านดังกล่าว เทียบเคียงกับเนื้องานของคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านน่าจะเป็นดังนี้ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันก็คือเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนก็คือด้านการศึกษา ด้านการสร้างโอกาสฯก็คือด้านสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตก็คือด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุดท้ายก็คือ การบริหารราชการแผ่นดิน

Advertisement

แน่นอนเปิดหน้าออกมา ย่อมตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ควรรับฟังโดยดุษณี อย่ามีอารมณ์ เพื่อนำไปขบคิดพิจารณา สาธุ โดยเฉพาะประเด็นเอาคนยุคอนาล็อกมาปฏิรูปในยุคดิจิทัล

ทางออกของคณะกรรมการทุกระดับ จึงหนีไม่พ้นเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้คนรุ่นใหม่ความหวังแห่งศตวรรษ มีเวทีแสดงออกให้กว้างขวาง ไม่ว่าเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม

ทิศทางและเป้าหมายหลักของคณะกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการปฏิรูป ก็คือ การแปรข้อเสนอ มาตรการต่างๆ ที่มีมาแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิรูป ไม่ใช่แค่ปะผุให้มากที่สุดเร็วที่สุด ในฐานะที่เป็นกลไกผลักดันการปฏิบัติ ไม่เน้นผลิตซ้ำเอกสารรายงานเพิ่มเติม

Advertisement

เงื่อนไข ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นหลัก แต่อยู่ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์กรบัญญัติกฎหมายขั้นสุดท้ายก็ตาม

แต่หากทำให้ข้อเสนอเกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรมทางปฏิบัติ เนื้องานไม่ซ้ำซ้อนกัน บวกกับกระแสการมีส่วนร่วม เสียงเรียกร้องและแรงผลักดันของสังคมจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญทำให้การลงมือทำรวดเร็วขึ้น

การจะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อทำให้เกิดการยอมรับจากหน่วยปฏิบัติ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับผลกระทบ

ฉะนั้นจึงต้องไม่เอาความคิด ความเชื่อของตัวเป็นใหญ่ ไม่ใช้อำนาจเป็นหลัก หากไม่เป็นเช่นนั้นอาจทำให้เกิดความปั่นป่วน ต่อต้าน หรือวางเฉยไม่ร่วมมือ
ขณะเดียวกันกรรมการต้องมีความอิสระบนความพอเหมาะพอดี จัดความสัมพันธ์กับองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจที่เหมาะสม

ไม่ใช่ตรายาง หนังหน้าไฟ ลงเรือแป๊ะต้องไม่ตามใจแป๊ะในทุกเรื่อง หรือเป็นแค่ช่องทางระบาย รองรับ ลดความกดดัน เพื่อพักเรื่องร้อนไว้ใต้พรมไว้ต่อไป ที่สำคัญไม่ทำให้เกิดคอขวดจนการปฏิบัติล่าช้าไม่ทันการณ์

ตลอดจนการจัดระบบความเชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน ทุกเรื่องต้องผ่านการอนุมัติและความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม ซึ่งประกอบด้วยประธานคณะกรรมการปฏิรูปทุกชุด ทำให้กระบวนการดำเนินงานยืดยาวออกไป หรือไม่ เป็นต้น

ผมเชื่อว่า ทุกคน ทุกคณะ เข้าใจและรับรู้สภาพความเป็นจริงไม่ต่างกันว่า ผู้คน สังคม จับตา ฝากความหวัง หรือไม่หวังเลยทั้งสิ้น การทำงานท่ามกลางความกดดัน สำคัญที่ความมั่นคงในผลประโยชน์ส่วนรวม รับใช้สังคมประเทศชาติ เป็นสำคัญ

เนื้องานของทุกคณะล้วนเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ ความเปิดเผยโปร่งใส การบอกกล่าวความจริง ไม่มีความลับกับประชาชน จึงต้องมาก่อน มารยาทและเสถียรภาพของตัวเอง

ซึ่งพร้อมระลึกอยู่เสมอว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ 2560 ผู้ร่างเขียนทางหนีทีไล่ไว้แยบยล ในบทเฉพาะกาล มาตรา 29 วรรคสอง “ในระหว่างการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 ในวาระเริ่มแรกหากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้กรรมการปฏิรูปผู้ใดพ้นจากตำแหน่งได้ โดยมิให้นำมาตรา 16(5) มาใช้บังคับ”

ข้อความที่ว่า สะท้อนอะไร เจตนารมณ์เพื่ออะไร น่าคิดทีเดียว

ครับ อีกบทเรียนหนึ่งจากบทบาทของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3 ชุดที่ผ่านมา น่าเป็นประสบการณ์ที่ควรสรุป เรียนรู้และไม่เกิดขึ้นอีก

องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร ไม่ขอคำปรึกษา หรือให้คำปรึกษาแล้วไม่ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ เหตุเพราะผลงานไม่เข้าตากรรมการ เน้นแต่ประชุมกับดูงาน หรือเพราะกรรมการตาไม่ถึง คำนึงแต่เสถียรภาพความอยู่รอด ติดขัดระบบราชการ อำนาจรวมศูนย์ ก็แล้วแต่

คณะกรรมการทั้งหลายที่ตั้งขึ้นมาในยุคซึ่งถูกกล่าวขานว่าสำลักปฏิรูป ยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงเป็นความท้าทาย ต้องพิสูจน์ผลงานที่การปฏิบัติจริง ไม่ย่ำรอยเส้นทางเดิม

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image