ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีเงื่อนไขและเวลากำหนดให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ปีการศึกษา 2561 ให้ใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4
2.ปีการศึกษา 2562 ให้ใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2 4 และ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 2 4 และ 5
3.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ให้ใช้ทุกชั้นเรียน
เนื่องจากการปรับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดังกล่าวมีลักษณะ “แอบทำ” ตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ กล่าวคือ สาธารณชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เคยได้รับทราบเรื่องนี้มาก่อนทั้งๆ ที่การปรับหลักสูตรครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อครูและนักเรียนหลายล้านคน รวมถึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และประเทศชาติ ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องอีกมากมาย ทั้งต้องมีการเปลี่ยนแปลงตำราเรียน วัสดุ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ดังนั้น สาธารณชนย่อมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในคำสั่งข้างต้นว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้ตามลำพังโดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเลยหรือ หากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมถือเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อกฎหมาย และขัดแย้งต่อเหตุผลตามหลักวิชา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1.ความขัดแย้งต่อกฎหมาย 2 ฉบับ คือ
1.1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546 และ 2553 ที่ได้ระบุสาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ
มาตรา 34 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ มาตรา 8 (2) แห่งพระราชบัญญัตินี้ ยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา”
1.2 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ที่มาตรา 15 ระบุไว้สอดคล้องกันว่า ให้มีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่เสนอนโยบายแผนพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติการสนับสนุนทรัพยากรการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและเสนอแนะในการออกระเบียบหลักเกณฑ์ประกาศที่เกี่ยวกับการบริหารของสำนักงาน (สพฐ.)
2.ความขัดแย้งต่อเหตุผลตามหลักวิชา ทั้งนี้ รัฐมนตรีควรได้อธิบายเหตุผลแก่สาธารณชนเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรครั้งนี้ให้เป็นตามหลักวิชา โดยมีคำถามดังต่อไปนี้
– ทำไมจึงปรับเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
– มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่ต้องปรับหลักสูตรเป็นส่วนๆ (บางกลุ่มสาระการเรียนรู้)
– มีผลการศึกษาวิจัยอะไรรองรับการปรับหลักสูตรครั้งนี้
– ทำไมไม่ปรับหลักสูตรทั้งระบบให้สอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้
– ลักษณะการปรับหลักสูตรครั้งนี้ได้ปรับแก้อะไรบ้าง ด้วยเหตุผลอะไร
– มีนักวิชาการ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร หลักสูตรได้รับการประชาพิจารณ์หรือไม่
– ทำไมไม่มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน
ฯลฯ
จากข้อสังเกตข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอเรียนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดระงับหรือชะลอการดำเนินการดังกล่าวไปก่อน ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะขัดขวางการปรับปรุงหลักสูตร แต่ตรงกันข้าม ผู้เขียนสนับสนุนให้มีการปรับปรุงหลักสูตรโดยควรทำทั้งระบบ เนื่องจากเห็นว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ได้นำมาใช้เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ซึ่งถือเป็นเวลาสมควรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องศึกษา ทบทวน รวบรวมข้อมูลและผลการวิจัยต่างๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรฉบับใหม่อย่างเป็นระบบต่อไป
ผศ.ดร.ดรุณี จำปาทอง
แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน มสธ.