เห็ดเป็นยา จริงเหรอ? : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“เห็ดเป็นยา จริงเหรอ ?” คือ ชื่อหัวข้อสัมมนาฟรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ไม่น่าเชื่อว่างานนี้ ได้มีผู้จองเข้าร่วมสัมมนากว่า 560 คน แต่มาจริง 469 คน (ดูจากรายชื่อที่ลงทะเบียน) จึงแน่นขนัดไปทั้งหอประชุมที่สมาคม ทั้งรอบเช้า-บ่าย เพราะภาคเช้าเป็นการบรรยายด้านทฤษฎี และประสบการณ์ของผู้ชำนาญการ (อาทิ 1.ผศ.ดร.อุทัยวรรณ แสงวณิช 2.ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล 3.นายแพทย์วิชัย ชัยจิตวณิชกุล 4.คุณสุวัฒน์ อรรถตราสิงห์ และ 5.เชฟไวภพ ปึง) ส่วนภาคบ่าย เป็นการสาธิตการเพาะเห็ดถั่งเช่า เห็ดเยื่อไผ่ และการทำเอ็นไซม์เห็ด เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดย “ศูนย์ฝึกอบรมเห็ดอานนท์ไบโอเทค”

สาระสำคัญของการสัมมนาเรื่องเห็ดเป็นยานี้ ก็เพื่อต้องการอธิบายให้สาธารณชนทราบว่า เห็ดไม่เพียงแต่เป็นอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อยเท่านั้น ในอดีตพบว่า การรักษาร่างกายของมนุษย์ให้แข็งแรงอยู่เสมอนั้น ควรเสริมภูมิคุ้มกันโดยใช้ “สารเบต้ากลูแคน” ที่มาจากธรรมชาติที่ไม่มีผลข้างเคียง (จากยีสต์แดง) แต่ภายหลังพบว่า เห็ดที่รับประทานได้ทุกชนิด มีสารเบต้ากลูแคนที่สูงกว่าและดีกว่ายีสต์แดง เพราะมีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่กว่าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด ทำให้ปัจจุบันวงการแพทย์ให้ความสนใจในเรื่องเห็ดที่เพาะได้เป็นกรณีพิเศษว่า มันไม่เพียงแต่เป็นอาหารที่มีรสชาติที่ดีแล้ว มันยังมีคุณสมบัติในการเสริมภูมิคุ้มกัน และยังมีสารอย่างอื่นอีกจำนวนมาก ที่มีประโยชน์ในการบำรุงร่างกายและรักษาโรคได้โดยธรรมชาติ

ทุกวันนี้ มีเห็ดหลายชนิดที่มีประโยชน์ทางด้านโภชนาการและทางยาสูง สามารถเพาะปลูกหรือผลิตเพื่อการค้าหรืออุตสาหกรรมได้ตลอดทั้งปี เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดหัวลิง เห็ดถั่งเช่า เห็ดซางฮวง หรือเห็ดกระถินพิมาน เป็นต้น

Advertisement

การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดประเด็นให้แก่ผู้สนใจทั่วไปได้รับรู้ว่าการเพาะเห็ดและการที่จะเอาเห็ดมาทำเป็นอาหารเสริมหรือยานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องยากอย่างคิด การสัมมนาจึงได้นำเอาเห็ดชนิดที่เป็นยา ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสูง ได้แก่ เห็ดถั่งเช่า และเห็ดเยื่อไผ่ เป็นต้น มาสาธิตทำการเพาะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ดู ได้รู้ ได้เห็น และที่สำคัญที่สุด ยังได้เรียนรู้เกี่ยวการนำเอาเห็ดไปเป็นยาที่ผ่านกระบวนบวนการหมักทางด้านไบโอเทคโนโลยีด้วย จึงส่งผลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจถึงวิธีการเพาะเห็ด การใช้เห็ดเป็นยา รวมทั้งการทำเอ็นไซม์อย่างง่ายๆ ทั้งที่เรื่องแบบนี้ได้ถูกปิดเป็นความลับทางการค้ามานานตลอดกาล และต้องเสียค่าฝึกอบรมแพงมากกว่าจะได้รับการถ่ายทอดด้วย

ผมเห็นผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 40% เป็นวัยสูงอายุ ส่วนที่เหลือเป็นวัยกลางคนจนถึงคนหนุ่มสาว การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุกลับมากระปรี้กระเปร่า (Revitalizing health for Aged ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เห็ดเป็นยา จริงเหรอ?” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายวงการผู้รักชอบเรื่องสุขภาพและวงการแพทย์ เช่นเดียวกับความรู้ใหม่ๆ ที่เราควรจะต้องยึดหลักการเรียนรู้ด้วย “กาลามสูตร” ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image