เชื่อมั่นกก.ปฏิรูปสาธารณสุข : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คลอดออกมาหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา มี 11 คณะ แต่ละคณะจะมีกรรมการไม่เกิน 15 คน จะมีรวมทั้งสิ้น 165 คน ครม.เห็นชอบที่ผ่านมา 120 คน ยังค้างอยู่อีก 45 คน อยู่ในวาระ 5 ปี โดยจะแต่งตั้งในโอกาสต่อไป โดยมีสัดส่วนผู้หญิง 200 คน และให้มีข้าราชการประจำน้อยที่สุด หลักจากแต่งตั้งจะแยกย้ายไปยกร่างการปฏิรูป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561 ส่วนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ จะมีคณะกรรมการย่อยๆ อีก 6-7 คณะ จะทำการแต่งตั้งอีก 90-100 คน คาดว่าจะมีการเสนอ ครม.ภายใน 1-2 เดือนนี้

ผู้เขียนได้ติดตามดูองค์ประกอบทุกคณะโดยภาพรวมกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อต่างๆ นักวิชาการ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน ก็มีหลากหลาย ในส่วนที่ผู้เขียนสนใจติดตามในส่วนของคณะกรรมการ “ด้านสาธารณสุข” มีทั้งหมด 10 ท่าน ประกอบด้วย 1.นพ.เสรี
ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน 2.นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5.นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 6.นายพาณิชย์ เจริญเผ่า อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ปี 2535-2543) 7.ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ 9.นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 10.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในฐานะเป็นศิษย์เก่ากระทรวงสาธารณสุข ต้องขออนุญาตพี่ๆ น้องๆ ชาวกระทรวงสาธารณสุขทั้งปัจจุบันและอดีต รวมทั้ง อสม.ทั่วประเทศ และประชาชน 65 ล้านคน พิจารณาแล้วหากได้มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอบางประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมบ้างไม่มากก็น้อย หากมีประโยชน์ก็นำไปประกอบการพิจารณาในโอกาสอันควร หากมีอะไรที่ไม่ใช่ไม่ดีก็คัดออกไปได้เลย

Advertisement

ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า คำว่า “ปฏิรูป” นั้นเป็นคำที่มีความหมายดีมาก การที่มีการใช้คำนี้ในเรื่องใดก็ตามแสดงว่าเรื่องนั้นจะต้องมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า “ปฏิรูป” เปลี่ยนให้มันดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งแก้ไขสำเร็จหรือปฏิรูปสำเร็จ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เกิดประโยชน์อย่างยิ่งมหาศาลแก่ประเทศชาติและสังคมไทย แต่ในอดีตที่ผ่านมาทุกเรื่องที่มีการปฏิรูปในประเทศของเราไม่เคยมีเรื่องใดสำเร็จและยิ่งปฏิรูปยิ่งมีปัญหา

นั่นคือเรื่องราวในอดีต หากแต่ไปอนาคตอีก “2 ทศวรรษ” ที่รัฐบาลนี้มุ่งมั่นจริงใจในการจัดการอย่างจริงจังในการ “ปฏิรูป” สู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติน่าจะสร้างหรือลบสถิติจาก “ไม่สำเร็จ” เป็น “สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม”

หากดู ณ ปัจจุบัน พ.ศ.2560 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันยังมีปัญหาขัดแย้งใน “วงการสาธารณสุข” อยู่โดยเฉพาะ “โครงการ 30 บาท” แต่ผู้เขียนขอให้พี่ๆ น้องๆ ในวงการ “สาธารณสุข” ตั้งสติเริ่มต้นกันใหม่ด้วย “คณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข” ชุดนี้ โดยมองไปข้างหน้าลืมอดีตต่างยอมรับความคิดเห็นต่างแล้วมุ่งหน้า แต่ขอให้ช่วยกันร่วมคิด ร่วมกำหนด ร่วมทำ นับแต่ก้าวที่ 1 ไปจนถึงก้าวที่ 20 เพื่อคนไทยทั้งชาติ มีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีและความความสุข

Advertisement

ผู้เขียนขอเริ่มต้นที่ท่านอาจารย์ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขของเราเป็น “ปูชนียแพทย์” ที่ได้รับการยอมรับในสังคมแพทย์เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกและประกาศว่าคนไทยจะบรรลุ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” Health for All ในปี ค.ศ.2000 หรือ พ.ศ.2543 หากพูดในเรื่อง “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า… “สุขภาพ คือ สภาวะที่การมีสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณที่ดี และไม่เพียงแต่การไม่มีโรค หรือความพิกลพิการเท่านั้น” เปิดโอกาสที่ให้นักวิชาการและนักคิด สร้างจินตนาการในเรื่องสุขภาพที่สมบูรณ์ในทุกรูปแบบเพื่อรู้อนาคต เมื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีความเจริญก้าวหน้าสูงสุด มีการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบไอที ในการช่วยมนุษย์ด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีสมบูรณ์ แต่การกลับไปเป็นอื่น ผลการพัฒนาดังกล่าวมีการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมาย จนกระทบในทางลบทำลายต่อสุขภาพ เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติต่างๆ โรคเกิดใหม่ ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจพูดได้เต็มปากว่า ไม่มีใคร ไม่มีโรค หรือความพิกลพิการ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ได้เลยทุกคน ย่อมต้องมีจุดเริ่มต้นชีวิตและจุดจบ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามที่พุทธศาสนากล่าวไว้ คือ ต้องเป็นไปตาม “ธรรมชาติ” ทุกๆ คนยังต้องประสบความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากมาย มากบ้างน้อยบ้าง เกิดจากธรรมชาติ คนอื่นทำเพราะเห็นแก่ได้ (เบียดเบียน) ตัวเอง ทำตัวเอง (ประมาท) ยังผลให้รุนแรง ไม่รุนแรงตามสภาวการณ์แต่ละคน

สุขภาพในยุคปัจจุบัน จริงอยู่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนพึงได้พึงมี ด้วยความเสมอภาค ยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ระบุไว้ รวมทั้งมีการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งประเทศเราจึงเกิดระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรียกอีกอย่างว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” ด้วยการให้การบริการภาครัฐบาล จัดงบดูแลสุขภาพอย่างถ้วนหน้าทุกคน เราดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันเกือบ 20 ปี แล้วซึ่งก็ยังพบปัญหามากมายอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ลงตัวในหลายๆ ด้าน

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศจีน ไต้หวัน ไทเป ได้พูดคุยกับแพทย์ บุคลากร ที่เกี่ยวข้องของเขา ก็ได้มีการดำเนินการรักษาพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีคนไข้ล้นหลาม “ติดกับดัก” คือ มีคนป่วยเข้าโรงพยาบาลมากมาย ล้นโรงพยาบาลเหมือนไทย ใช้ยามากเกินจำเป็นคล้ายคลึงกับประเทศไทย แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สั่งยกเลิกโอบามาแคร์แต่ก็ยังเลิกไม่ได้

ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดการปฏิรูประบบของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ : ด้านนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2559 มาตรา 258 ช. (5) “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” กระทรวงสาธารณสุข โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข จึงได้เตรียมพร้อมปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของไทย ด้วยการจัดตั้ง “คลินิกหมอครอบครัว (PCC : Primary Care Cluster)” ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Doctor) และทีมสหวิชาชีพ ดูแลประชาชน 1 หมื่นคนต่อ 1 ทีม เพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนภายใน 10 ปี

ประการสำคัญผู้เขียนเชื่อว่า แต่ละประเทศผู้กำหนดนโยบายเห็นด้วยกับคำพูด หรือหลักการ หรือทฤษฎี แนวคิดที่ว่า…ประการสำคัญที่สุดคือ การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทุกๆ คน ซึ่งเป็นเจ้าของสุขภาพโดยตรง และเป็นความรับผิดชอบต่อสุขภาพเบื้องแรก ต้องเป็นของ “ประชาชน ทุกๆ คน” ต้องเอาใจใส่ดูแลในสุขภาพของตนอย่างดีที่สุด เท่าที่ความรู้ความสามารถมีอยู่ ที่สำคัญคือ “ตระหนัก ใส่ใจจริงๆ”

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะต้องหาทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในการยับยั้งหรือหยุดยั้ง ชะลอความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคของประชาชน โดยเน้น… “การส่งเสริมสุขภาพ และเฝ้าระวังป้องกันโรค” เพียงเรื่องเดียว ณ เวลานี้ พูดง่าย แต่ทำยากต้องใช้ความอดทนต่อเนื่องซึ่งใช้เวลา 20 ปี เพราะราคาถูกมาก คุ้มค่า ได้ผล “โดยเฉพาะเรื่อง NCD : เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง อัมพาต ไตวาย มะเร็ง ฯลฯ ต้องกัดติด เอาจริงเอาจัง เสมอต้นเสมอปลาย อย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ” ให้ความสนใจเป็นพิเศษอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ทุกกอง ทุกกรม ของกระทรวงสาธารณสุข ทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงต่างๆ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อย่างมีเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม มหาดไทย ศึกษา เกษตร พัฒนาสังคม เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ การพัฒนาสุขภาพเชิงรุกและเชิงรับ เป็นงานต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันและกัน จะแยกจากกันไม่ได้ เป็นงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผสมผสานกันอย่างเหมาะสม และสมดุลกันให้มากที่สุดที่จะมากได้ ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากมายเป็นหมื่นๆ ล้านต่อปี และดูแลสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุม

งานที่ประสบความสำเร็จในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นที่ปรากฏยอมรับของ WHO และทั่วโลก คือ งานวางแผนครอบครัว งานอนามัยแม่และเด็ก งานแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร งานสร้างส้วม 100% ซึ่งต้องอดทน เอาจริง ของรัฐบาลและประชาชนที่ผ่านมาต้องใช้เวลา 20-30 ปี เช่นกัน (งานส่งเสริมป้องกันดูเหมือนง่ายๆ แต่ประสบความสำเร็จยาก ใช้เวลานาน ราคาถูก เพราะประชาชนทำเอง แต่สำเร็จแล้ว “สถาพร”)

ผู้เขียนเอง เชื่อว่ารัฐบาลและผู้นำของกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ มีนโยบาย “สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ” อยู่แล้ว ต้องเน้นและจริงใจในการดูแลสุขภาพทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แม่และเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยทอง ผู้สูงอายุ และกลุ่มพิเศษ ผู้พิการ อย่างจริงจัง ต่อเนื่องของแพทย์ พยาบาล หมอครอบครัว หมออนามัย นักวิชาการสาธารณสุข รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคเอกชน ตลอดจนดู Setting ต่างๆ ของชุมชน เพียงแต่สร้างความตระหนักของประชาชนให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. เทศบาล ชิดใกล้กับประชาชนมากที่สุด ที่จะช่วยกัน Mediate Advocate Enable ให้ชุมชนประชาชน “ร่วมพลังกันสร้างสุขภาพ” เพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว มีอายุยืนยาว ป่วยช้า ตายช้า แก่อย่างมีคุณภาพ และแต่ละครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้เขียนส่องเอกซเรย์ดูทีมคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุขชุดนี้เรียกว่า Dream team

น่าจะให้ความเชื่อมั่นได้ว่าจะประสบความสำเร็จได้ นะครับ

 

นพ.วิชัย เทียนถาวร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image