“กิเลส” เริ่มต้นเมื่อไหร่ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“ปัญหา” ของสังคม ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ชุมชน สังคม แผ่ซ่านลุกลามกันไปอย่างทั่วถึงด้วยอันเนื่องมาจากการพัฒนาของประเทศชาติตามยุคกระแสโลก จากปัญหาในยุคดั้งเดิม “เจ็บจนโง่” สู่ปัจจุบัน ลามไหลไปถึงปัญหาอาชญากรรม มีเห็นแทบทุกวัน อันเนื่องมาจากกระแสวัตถุนิยม แต่ขาดการพัฒนาด้านจิตใจ

ทุกประเทศ ไม่ว่ามีศาสนาที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ นอกเหนือจากการแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตก ด้านการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงการเมืองแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาระหว่างศาสนา แม้แต่ในศาสนาเดียวกันก็ยังมีปัญหาคาราคาซังกันอยู่อย่างเช่นที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศไทย ซึ่งกว่าร้อยละ 99 นับถือพุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง “สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20” ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่อาจคาดการณ์ว่าจะจบลงอย่างไร เหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ก็หวิดมีเหตุอันไม่สมควรระหว่างทหารกับพระไปเสียแล้ว แต่ก็เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งของสื่อมวลชนหลายฉบับ รวมทั้งถ่ายทอดทีวีพอมีให้เห็น

หากพิจารณาดูเป็นความขัดแย้งทางความคิด ในทุกมิติ ล้วนมีเหตุ ปัจจัยจาก “กิเลส” หากว่าวิเคราะห์ไปแล้ว เราพบว่า ตัวการนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดมาจากความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว ความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวนั้น มันเกิดมาจากความรู้สึกว่า มีตัว มีตน หรือมีอหังการมานะ ความสำคัญว่า “ตัวกู” พวกกู พวกเขา คือ มีตนเกิดขึ้น แล้วในความรู้สึกของจิตที่ยังโง่อยู่ นี่เรียกว่ามีตัวตนแล้วก็มีความรู้สึกว่า “ของตน” หรือ “เกี่ยวข้องกับตน” มันต้องเห็นแก่ตน มันต้องเป็นของพวกเรา เป็นของคนอื่นไปไม่ได้ เราเรียกว่า “เห็นแก่ตัว”

ภาษาอังกฤษเขาเรียก “EGO” ถ้าธรรมดาเขาเรียกว่า “Self” ถ้ามันเห็นแก่ตัวเรียกว่า “Selfish” ถ้าเป็นภาษาขึ้นมาเขาก็เรียกว่า “Selfness” นี่คือความเห็นแก่ตัว ก็เกิดโลภะ โทสะ โมหะ คำตรงกันข้ามเขาเรียกว่า “Selfless” คือไม่มีตัว “Selflessness” ความไม่มีตัว อย่างนี้ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ

Advertisement

ฉะนั้นคนส่วนมากคนส่วนใหญ่เขาจึงชอบความไม่เห็นแก่ตัวกันทั้งนั้น Selflessness ไม่เห็นแก่ตัวอยู่กันอย่างมีความสุข สบายตัว สบายใจ ไม่ทุกข์ ไม่โศกไม่เศร้า แต่ Selfness ความเห็นแก่ตัวเขาเกลียดกันทั้งโลกเลย เราจงรู้จักมันไว้ว่า “มันเป็นความรู้สึกนึกคิดที่เลวร้ายที่สุดในโลก มาจากความไม่รู้อะไรเป็นอะไร ซึ่งเรียก “อวิชชา” ภาษาง่ายๆ ก็คือ “มันโง่สิ้นดี”

ฉะนั้น “อวิชชา” จึงเป็นจุดตั้งต้นของเรื่องเลวร้ายทั้งหลาย คือ อวิชชา ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมันมีตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติมันก็มีอวิชชาตามธรรมชาติ

ย้อนไปดูเมื่อเป็น “ทารก” จะรู้ว่า เด็กทารกคนนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ คือมันมี “อวิชชา” จะเรียกว่า รู้ผิดก็ได้ จะเรียกว่าไม่รู้ก็ได้ เพราะมันมีผลเท่ากัน เด็กนี้รู้ผิดหรือเด็กไม่รู้เลย ก็มีผลเท่ากัน คือ “ปราศจากความรู้”

Advertisement

สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทยศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนวิชาสูติศาสตร์… ว่าด้วยการกำเนิด “ทารก” เริ่มมาตั้งแต่ไข่ตกจากรังไข่ของมารดาหลังวันที่ 14 ของประจำเดือน หากหญิงชายร่วมเพศกันวันนั้นพอดี ตัว sperm ก็เข้าสู่โพรงมดลูกไปที่ท่อรังไข่ ก็เกิดการ “ปฏิสนธิ” กัน เกิดเป็น “ไข่ที่ผสมพันธุ์แล้ว” (Fertilized Ovum) เสร็จแล้ว ไข่ก็จะไปฝังตัวที่โพรงมดลูก แล้วก็เจริญงอกงามโตวันโตคืนอยู่ใน “ครรภ์มารดา” 9 เดือนเต็มๆ ตอนนี้ยังไม่เรียกกันว่าทารก คือยังไม่คลอดออกมา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Fetus บางคนอาจเรียกว่า สัตว์ตัวอ่อนในครรภ์มารดา พบครบกำหนดคลอดออกมาร้องอุแว้ มีการหายใจ หัวใจเต้น มือ แขน ขา ขยับก็เรียกว่า “ทารก” (newborn) น้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยทั่วๆ ไป ก็ 3,000 กรัม ตัวยาว (สูง) ก็ประมาณ 50 ซม. ตอนนี้ทารกไม่คิดนึกอะไรได้ ตอนอยู่ในครรภ์มารดา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังไม่ทำงาน จิตใจก็ยังไม่สามารถที่จะคิดนึกอะไรได้ ยังไม่มีเรื่อง มันคิดนึกอะไรไม่ได้ สัมผัสอะไรไม่ได้ จนกว่าจะค่อยสัมผัสอะไรได้ จนกว่าจะค่อยคิดนึกอะไรได้

เมื่อหนูน้อยคลอดออกมา ก็เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จากอยู่ในโพรงมดลูกเรียกว่าถุงน้ำคร่ำ (Amniotic sac) คลอดออกนอกมดลูกมาสู่โลกภายนอกก็จะมีเสียงร้องอุแว้ หัวใจเต้นแรง หายใจได้ มือ แขน ขา ขยับได้ อวัยวะสัมผัสทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของหนูน้อยก็ทำงานได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถรับรู้ได้

หลังคลอด การพัฒนาการของเด็กจะเริ่มจากส่วนศีรษะผ่านลำตัวไปถึงส่วนเท้า เริ่มแรกจาก “ตา” จะเหม่อมองตามเสียงเรียก “หู” จะเริ่มได้ยิน จะเอียงหน้ามองหาเสียงเรียก เคาะ เร้ากระตุ้น มาสู่ “จมูก” ได้กลิ่น “ลิ้น” รู้รส จะรู้ได้จากการเฝ้าสังเกตเอาเองเถอะ จะพบว่า 1-3 เดือนแรก จะเริ่มเห็นการพัฒนาเรื่อยๆ

เด็กนั้นต้องโตพอที่จะรู้สึกทาง “เวทนา” รู้สึกทางเวทนา จะใช้เวลากี่เดือน หรือใกล้หนึ่งขวบ ก็สุดแล้วแต่เด็กนั้น ตัวโตพอที่ จะมีความรู้สึกทาง “เวทนา” ว่า “อร่อย ไม่อร่อย” เช่น ถ้าอร่อยจะดูดจ๊วบๆ ถ้าไม่อร่อยจะแหวะทิ้ง อันนี้คือพัฒนาการทางลิ้น

พัฒนาการ “ทางตา” จะรู้การแยกแยะว่าสวยหรือไม่สวย? เขาเอาพวงดอกไม้ ปลาตะเพียนมาแขวน ให้เด็กนอนหงายดูเป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ให้รู้จักสัมผัสทางตาได้เร็วขึ้น ทางหูก็เหมือนกัน แรกคลอดยังไม่ได้ยิน ฟังเพลงกล่อมยังไม่รู้เรื่องดอก จะรู้สึกว่าเสียงเท่านั้นแหละ แต่ต่อมาโตขึ้นๆ เขาก็จะรู้สึกถึงความไพเราะ แล้วก็จะหลับไปหรือเอะอะตึงตัง ก็ไม่หลับ เริ่มรู้สึก “เวทนา” ว่าเสียงไพเราะหรือไม่ไพเราะ แม้จะไม่รู้จักเรียกว่าไพเราะไม่ไพเราะ ไม่รู้จักเรียก ไม่รู้จักพูด แต่รู้สึกได้ว่าอย่างนี้ไพเราะ คือ ถูกพอดีกับประสาทหูแล้วก็จะสบายหลับไป

พัฒนาการทาง “จมูก” ใช้เวลาช้าหน่อยกว่าจะรู้เรื่องกลิ่นหอมกลิ่นเหม็น เมื่อไหร่เด็กรู้จักแยกแยะเป็นหอม และเหม็น ชอบที่หอม เกลียดที่เหม็น เขาก็รู้เวทนาแล้ว เรียกว่า…เด็กหนูน้อยคนนี้รู้เวทนา

ท้ายสุด คือ “ผิวหนัง” ร่างกายรู้สัมผัสนิ่มนวล อบอุ่น อยู่ในหัวอกแม่นิ่มนวลอบอุ่นอย่างไร เมื่อเจริญเติบโตรับรู้ได้ว่า อย่างนี้อบอุ่นอย่างนี้นุ่มนวล อย่างนี้แข็งกระด้าง อย่างนี้สบาย อย่างนี้ชอบให้หลับง่าย อย่างนี้หลับไม่ลง เป็นต้น อย่างเช่น ฉี่รดหรืออึกลางคืน หรือหิวมากๆ จะร้องไห้ตลอดเวลา คุณแม่ลูกอ่อนจะต้องตื่นมาดู ทำธุระให้ลูกรัก

ทั้งหมดนี้เรียกว่า เด็กเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เวทนา” ในช่วงขวบปีแรกหรือปีกว่าๆ เวทนาจะแยกได้ 2 อย่าง คือ เวทนาที่น่าพอใจ กับ เวทนาที่ไม่น่าพอใจ เรียกนัยหนึ่งก็คือ “เวทนาที่ชอบให้รัก” ให้กำหนดให้ยินดีตรงข้าม เป็นเวทนาที่ไม่ถูกกัน ไม่ถูกกับระบบประสาท ชวนให้โกรธ ชวนให้เกลียด ชวนให้กลัว หรือที่เราเรียก 2 ชนิดนี้ว่า “สุขเวทนา ทุกขเวทนา” แต่จะเรียกให้ดีหน่อยว่า “เวทนาที่ให้เกิดความยินดี” กับ “เวทนาที่ให้เกิดความยินร้าย” นี้คือ ความยินดี ยินร้าย ได้เกิดขึ้นในความรู้สึกของ “ทารก” แล้ว

หากแต่ว่าเราเฝ้าดูเด็กหรือว่าลูกของเราด้วยความเอ็นดูรักใคร่ จะพบว่า อย่าทำเป็นเล่นกับ “หนูน้อย” พวกนี้ ความรู้สึกเหล่านั้นแหละ มันก็ปรุงแต่งความรู้สึกออกไปได้อย่างยอดเยี่ยมไม่ต้องมีใครสอน ธรรมชาติมันสอนให้เอง ถ้าเราสังเกตให้ดีๆ อย่างใกล้ชิด ความรู้สึกยินดี อร่อย พอใจนั้นแหละ มันปรุงให้เกิดความรู้สึกนั้นมาอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่า “กู” ภาษาธรรมดามักจะพูดว่า กูอร่อย กูพอใจ กูยินดี ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู ยังไม่เกิดดอก พบว่าเมื่อไหร่มันมี “เวทนา” เกิดขึ้น รู้สึกเวทนาว่าพอใจ เอร็ดอร่อยพอใจ เรียกว่า “สุขเวทนา” นี้แล้วก็รู้สึกขั้นต่อไปว่า…มันมีตัวกูผู้อร่อย มันจะมีขั้นตอนบางตอนแทรกอยู่ก็ได้ คือว่า มันรู้สึกว่าอร่อย แล้วก็อยากไป ความอร่อยมันก็เกิดความรู้สึกว่า ตัวกูผู้อร่อยขึ้นมา มันสำคัญอยู่ตรงที่มันเกิดความรู้สึกชนิดหนึ่งขึ้นมาว่า “กู ผู้ได้รับความอร่อย หรือ กูกำลังอร่อย” ที่นี้ถ้าหากในกรณีที่มันไม่อร่อย มันเผ็ด มันร้อน มันเกิดกูไม่อร่อยขึ้นมา กูในทางลบเป็น “ทุกขเวทนา” แต่มันเป็นกู ตัวกู ด้วยกันทั้งนั้น

ภาษาบาลีเรียก “อัตตา” ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นจุดเริ่มต้น (start) คือความรู้สึกหมายมั่น ว่ากู ว่าตนนี้เกิดขึ้นแล้ว นี่คือ…”จุดสำคัญที่สุดของเรื่อง” ถ้าอันนี้มีขึ้นในจิตใจ “ทารก” แล้วเรียกว่า “ทารก” นั้นมันมีความรู้สึกว่า ตัวตนหรือตัวกู เกิดขึ้นแล้วตามโอกาสที่เขาได้เสวยเวทนา สุขเวทนา…ก็ตัวกูอร่อย ทุกขเวทนา…ก็ตัวกูไม่อร่อย คือ…มีตัวกูเป็นจุดศูนย์กลางขึ้นมาในจิตใจของเด็กแล้ว

นี้แหละ คือจุดสำคัญที่มันจะขยายตัวออกไปอย่างมากมายทีเดียว เรียกประมาณว่า แผ่กระจาย ออกไปมากมาย ยากจะควบคุมได้… ฉะนั้นตั้งแต่วัยเด็กเล็กๆ (ทารก) ก็เกิดตัวกู ตัวกูอร่อย อร่อยของตัวกู ทางตา เห็นก็เหมือนกัน งาม สวย ทางตาของกู ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันก็เป็นความรู้สึกของตัวกู เป็นของกูกว้างออกไป กว้างออกไป

ฉะนั้น เด็กหนูน้อยวัย “ทารก” ทุกคน ทุกเพศ ทุกชาติ ทุกศาสนา…ว่าด้วยทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน รูปลักษณะของเด็กทารกกำเนิดมาจากยีนพันธุกรรมที่ได้เชื้อมาจากพ่อแม่ บิดามารดา และเมื่อคลอดเป็นทารกจากถุงน้ำคร่ำออกมาสู่แวดล้อมภายนอกต่างๆกันย่อมมีอิทธิพล หรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทารก ที่ทุกผู้ทุกนามจะเกิดจุดเริ่มต้นหรือจุดศูนย์กลางแห่ง “อัตตา” ตัวกู ของกู มันได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว อย่างแน่นแฟ้น ฉะนั้น “ทารก” หรือชีวิตนั้นไม่ว่าจะเป็นลูกหมู ลูกสุนัข ลูกแมว ลูกเสือ มันก็มีความโง่ ว่าตัวกู ของกู นั่นแหละเป็นจุดศูนย์กลาง สำหรับการเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ยิ่งขึ้นไปๆ รุนแรงๆ ขึ้นไปจนเป็นวัยรุ่น หนุ่ม สาว…ฝังรากลึกยากที่จะถอนตัวคือ “ความเห็นแก่ตัว” เป็นสันดานได้

หากแต่ “มนุษย์” หรือ “คน” เป็นสัตว์อื่น เมื่อตอนเด็ก หากอยู่กับพ่อแม่อย่างใกล้ชิดก็จะได้รับการอบรม สั่งสอน กล่อมเกลา (Socialization) ตะล่อมให้อยู่ในกรอบแห่งวินัยที่ดี รู้หน้าที่ของตัวเอง มีความรับผิดชอบ แต่ละคน “คน” เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าย่อมมีการพัฒนาจิตใจตามพันธุกรรมที่ดีของพ่อแม่ เชื่อฟังอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ เมื่อเติบโตขึ้นมาหน่อยเข้าโรงเรียน เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็จะได้รับการกล่อมเกลาจากครูบาอาจารย์ เป็นนักศึกษาที่ดี มีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ รู้สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที เมื่อจบอุดมศึกษา มีการงานทำ มีรายได้ เป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองดีของชาติ บ้างก็บวชเรียนเป็นพระภิกษุสงฆ์ บวชชีพราหมณ์ ปฏิบัติธรรม คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” มีจิตเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทน อดกลั้น ประหยัดมัธยัสถ์ รู้จักให้เกียรติ เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ให้อภัยกัน อยู่กันอย่างสงบสุข สันติ ที่สำคัญเราควรต้อง “กตัญญูต่อแผ่นดิน” ของเราด้วยการที่ประเทศเราเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกพุทธศาสนาของเรา

เชื่อว่าหากเราทบทวนชีวิตย้อนหลังไปตั้งแต่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ เขากำหนดมาแล้วให้เราเป็น “คนดี” มาตั้งแต่เกิด (ทารก) ตรวจสอบดูแล้วว่าวันนี้ มีปัจจัยอะไรทำให้เราเปลี่ยนไปบ้าง จะได้ปรับตัวปรับใจเราเข้าสู่โหมดแห่ง “มนุษย์ใจประเสริฐ” นำความสงบสุขมาสู่แผ่นดินไทยกันอย่างไรเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image