คอลัมน์ FUTURE perfect โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผิดไหมหากไม่ให้บริการ : การตัดสินใจของผู้ให้บริการในการ‘บล็อก’กลุ่มรุนแร

สนามรบนั้นมีอยู่ทุกที่

ในช่วงสัปดาห์ถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ข่าวเหตุรุนแรงที่เมืองชาร์ล็อตต์วิลล์ หลังจากมีการเดินขบวน “รวมพลังฝั่งขวา (จัด)” (Unite the Right) ที่รวบรวมเอาพวกนีโอนาซี, กลุ่มคู คลัก แคลน, และกลุ่มเชิดชูผิวขาว (White Supremacist) เข้าไว้ด้วยกัน แล้วมีผู้ต่อต้านจนเกิดเหตุปะทะทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างที่ถูกเสนอออกไปตามสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง (และต้องเสริมด้วยว่า สื่อทั้งหลายก็ไม่ลืมที่จะ “หมายเหตุ” ไว้ตัวโตๆ ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นใช้เวลาถึงสองวัน กว่าที่จะออกมาประณามกลุ่มก่อเหตุรุนแรงอย่างแกนๆ โดยบอกว่า “เป็นความผิดทั้งสองฝ่าย”)

การประท้วงและการปะทะกันครั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการรวบรวมพละกำลังกันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก จนทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า : แล้วผู้ให้บริการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการกำกับอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก?

หากจะย้อนกลับไป ก่อนที่จะมีการเดินขบวนของฝั่งขวาจัด บริษัทอย่าง Airbnb ก็มีนโยบาย “แบน” กลุ่มผู้เข้าร่วมที่พยายามจะใช้แพลตฟอร์มของตนเพื่อจองที่พักในเมืองชาร์ล็อตต์วิลล์หากมีเหตุให้เชื่อว่าสมาชิกคนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มความเกลียดชังอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเหตุปะทะกันเกิดขึ้น บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ก็เริ่มเข้มงวดกวดขันกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น หลังจากที่เฮเธอร์ เฮเยอร์ ผู้ไม่พอใจกลุ่มเดินขบวนฝั่งขวาได้เสียชีวิตลงจากเหตุปะทะ เว็บไซต์ Daily Stormer (ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฝั่งขวาจัด) ก็ได้เขียนบทความแสดงความเกลียดชังเธอ (ที่เสียชีวิตไปแล้ว!) ซ้ำอีก จนสังคมออนไลน์เรียกร้องถามหา “ความรับผิดชอบ” จากผู้ให้บริการ ว่าจะไม่ทำอะไรหน่อยหรือ เป็นเหตุให้ผู้ให้บริการโดเมนเนมของ Daily Stormer อย่าง GoDaddy ตัดสินใจเลิกให้บริการโดเมนเนมดังกล่าวในที่สุด

Advertisement

เมื่อ GoDaddy เลิกให้บริการ Daily Stormer, เว็บ Daily Stormer ก็พยายามไปจดทะเบียนโดเมนเนมกับ Google ต่อ แต่ผลปรากฏว่า Google ก็ไม่เล่นด้วยเหมือนกัน เหตุการณ์เกิดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่จนเว็บไซต์และบริการต่างๆ ร่วมกัน “แบน” เนื้อหาหรือผู้ใช้ที่มีลักษณะดังกล่าวด้วย เช่น Discord ซึ่งเป็นบริการแชตสำหรับเกมเมอร์ ก็บอกว่าจะเลิกให้บริการเว็บ altright.com ที่ฝากโฮสท์ไว้ โดยประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า “เราจะมีมาตรการต่อต้านความเกลียดชังรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มเชิดชูผิวขาว แนวคิดแบบนาซี และเนื้อหาอื่นๆ”

หรือหลังจากที่มีคนขับ Uber คนหนึ่งปฏิเสธให้บริการสมาชิกกลุ่มเชิดชูผิวขาวคนหนึ่งด้วยเหตุที่เขาพูดจาเหยียดผิวต่อคนขับ Uber ก็ใช้โอกาสนี้แบนลูกค้าคนนี้ไปเลยอย่างถาวรหลังจากตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และก็ยังออกแถลงการณ์ด้วยว่าจากนี้จะมีนโยบายแบนกลุ่มเชิดชูผิวขาวและกลุ่มเกลียดชังอื่นๆ ไม่ให้ใช้บริการของตน

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะครับ – บริการอย่าง GoFundMe ก็ร่วมแบนแคมเปญที่เรียกร้องเงินให้กับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร (ที่ขับรถชนกลุ่มต่อต้านการประท้วงจนทำให้เฮเธอร์เสียชีวิต), Facebook ก็ลบลิงก์เนื้อหาของ Daily Stormer ออกจากทั้งแพลตฟอร์ม, WordPress ก็ปิดบล็อกที่มีเนื้อหาเชิดชูผิวขาว และ SquareSpace ผู้ให้บริการเครื่องมือทำเว็บไซต์ก็ทำอย่างเดียวกัน กระทั่งบริการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งที่เพิ่งเปิดตัวในบ้านเราอย่าง Spotify ก็ลบวงดนตรีที่ทำเพลงที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังออกจากแพลตฟอร์มของตนเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า “คอนเทนต์ที่มีลักษณะกระตุ้นความเกลียดชัง หรืออาจทำให้เกิดความรุนแรงต่อสีผิว ศาสนา หรือเพศ จะไม่มีที่ยืนบนแพลตฟอร์มของเรา”

ก่อนหน้านี้ บริการทั้งหลายจะอนุญาตให้คอนเทนต์ที่มีลักษณะรุนแรง (แต่ไม่ถึงขนาดเป็นคำขู่ หรือเป็นเฮทสปีช) อยู่บนแพลตฟอร์มของตนได้ บทความ Tech Companies Have the Tools to Confront White Supremacy บนเว็บไซต์ Wired อ้างว่า “ตราบเท่าที่คุณไม่ได้ใช้บริการออนไลน์พวกนี้เพื่อขู่เข็ญหรือทำให้ใครบางคนเสื่อมเสียโดยใช้สีผิว เชื้อชาติ ถิ่นที่มา ความเชื่อทางศาสนา เพศสภาพ เพศวิถี เพศสภาวะ สภาพร่างกายที่ทุพพลภาพ หรือโรคร้าย คุณก็สามารถเขียนอะไรได้ทั้งนั้น” “คุณสามารถเอาคำพูดสวยหรูมาห่อความเกลียดชังชองคุณเพื่อให้พ้นจากการโดนแบนก็ได้ เช่น อาจจะพูดเพื่อเชิดชู ‘ความแท้ ตัวตน และสายเลือดของคนยุโรป’ ก็ได้” ปัญหาที่บทความนี้เสนอไว้ก็คือ เดิมทีนั้น มาตรการของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้แคบเกินไปที่จะจัดการกับโลกจริง การ “ตรวจจับคำ” หรือการใช้วิจารณญาณของผู้ดูแลเว็บไซต์อาจมีความเฉพาะเจาะจงมากเกินไปจนทำให้เนื้อหาที่มีแนวคิดรุนแรงนั้นไม่ถูกแบน – แต่หลังจากที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม
ที่ชาร์ล็อตต์วิลล์ ก็ดูเหมือนว่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากขึ้น

แต่นี่ก็อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเช่นกัน – สมาคม EFF (Electronic Frontier Foundation) ซึ่งเป็นสมาคมไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพออนไลน์ แสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์นี้ว่า “พวกเราเห็นด้วยว่าทุกคนควรต่อสู้กับความรุนแรงและความเกลียดชัง” “แพลตฟอร์มต่างๆ มีสิทธิที่จะตัดสินใจเองว่าคอนเทนต์แบบไหนที่ควรปรากฏและไม่ปรากฏในแพลตฟอร์มของตน ตามกฎหมาย CDA230 ของสหรัฐอเมริกา แต่พวกเราก็คิดว่าสิ่งที่ GoDaddy, Google และ Cloudflare [ผู้ให้บริการเสริมกับเว็บไซต์ Daily Stormer และร่วมเลิกให้บริการต่อกลุ่มนี้เช่นกัน] ทำนั้นอันตรายมาก เพราะถึงแม้ว่าข้อมูลที่อยู่บนเว็บจะเลวร้ายอย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่เช่นกันว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จะใช้สิทธิในการเลือกให้บริการ – หรือไม่ให้บริการ เมื่อใด”

สิ่งที่ EFF เป็นห่วงและตั้งคำถามไว้ก็คือ เราจะมีวิธีการออกแบบกลไกกำกับเนื้อหาอย่างไร? โดยเฉพาะเมื่อบนอินเตอร์เน็ตก็มี “ผู้เล่น” รายใหญ่อยู่ไม่กี่เจ้า (เช่น Facebook, Google, หรือ GoDaddy) เราจะสามารถวางอกวางใจให้ผู้เล่นเหล่านี้ตัดสินใจเองได้ทุกครั้งหรือไม่ และเรามีสิทธิที่จะคัดค้านการตัดสินใจนั้นเมื่อเราไม่เห็นด้วยหรือเปล่า หรือเราต้องการให้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาเลย เมื่อวันใดที่มีคอนเทนต์ที่ “เป็นปัญหา” เกิดขึ้น เราจะได้รู้เหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงตัดสินใจ “เอาคอนเทนต์ไว้” หรือ “เอาคอนเทนต์ออก”

ผู้ให้บริการทั้งหลายจะตัดสินใจอย่างไรว่าขอบเขตของ “เสรีภาพทางการพูด” กับ “เฮทสปีช” บรรจบกันที่ตรงจุดไหน? และการตัดสินใจนั้นจะ “ยุติธรรม” หรือ “โปร่งใส” หรือเปล่า

เหล่านี้ต่างเป็นคำถามที่ไม่เพียงผู้ให้บริการจะต้องตอบ แต่เราในฐานะผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ก็อาจต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน โดยเฉพาะในเวลาที่โลกออนไลน์ส่งผลต่อโลกออฟไลน์ และโลกออฟไลน์ก็ส่งผลต่อโลกออนไลน์มากมายขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image