หมุนกลับที่เดิมหรือเริ่มต้นใหม่? โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ดูเหมือน “การเมืองไทยหลังรัฐประหารปี 2557” จะได้บทสรุปในระดับหนึ่ง ภายหลังการปิดฉากลงของ “คดีจำนำข้าว”

ผลท้ายสุดของคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน 2560 อาจไม่สำคัญเท่ากับการยอมถอยหนีและหายตัวไปจากประเทศไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม

“ยิ่งลักษณ์” นับเป็นนักการเมืองจากตระกูล “ชินวัตร” รายที่สอง ซึ่งต้องเดินทางออกนอกประเทศ และอาจไม่ได้หวนคืนกลับบ้านอีกเลย ท่ามกลางความขัดแย้งระดับชาติอันคุกรุ่นในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

คำถาม คือ นับจากนี้ การเมืองไทยจะขยับขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางไหน?

Advertisement

บางคนอาจเห็นว่า นี่จะเป็นการหมุนย้อนกลับไปสู่บริบทและบรรยากาศแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรืออย่างน้อยก็ถอยหลังไปก่อนการเลือกตั้งปี 2544 อันเป็นจุดเริ่มต้นทางอำนาจของพรรคไทยรักไทยและ “ทักษิณ ชินวัตร”

นี่อาจเป็นการหมุนย้อนกลับไปสู่ความอ่อนแอ ภาวะไร้พลังต่อรอง และไม่เป็นปึกแผ่น ของนักการเมืองและพรรคการเมือง

สวนทางกับอำนาจอันมั่นคง หนักแน่น ยากสั่นคลอนของระบบรัฐราชการ ที่นำโดยกองทัพ

Advertisement

นี่อาจเป็น “ผลลัพธ์พึงปรารถนา” ของ “รัฐประหารที่ไม่เสียของ” ซึ่งกว่าจะมีสัมฤทธิผลได้ ก็ต้องเกิดขึ้นถึงสองครั้งสองคราในเวลาห่างกันไม่ถึงสิบปี

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าแม้แต่ “รัฐประหาร” ปี 2549 และ 2557 นั้นยังให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การหายตัวไปของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในปี 2560 จึงอาจนำไปสู่ผลต่อเนื่องเชื่อมโยง ที่ไม่เหมือนกับการเดินทางออกนอกประเทศของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในปี 2551

และการไม่มีคนจากตระกูลชินวัตรถูกชูขึ้นมาแสดงบทบาทนำทางการเมืองในปี 2560 ก็อาจไม่ได้สอดคล้องต้องตรงกับสภาพการเมืองไทยยุคก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 เสียทีเดียว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ยังเพิ่งกล่าวยืนยันถึงความสำคัญและความจำเป็นของ “การเลือกตั้ง” ขณะลงพื้นที่ที่จังหวัดนครราชสีมา

การเลือกตั้งในราวปี 2561 และกระบวนการปรับประสานต่อรองหลังจากนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่น่าจับตามอง

เพราะผู้เล่นที่เข้ามาแสดงบทบาทจะมิได้มีแค่ คสช. กองทัพ หรือตัวแทน-เครือข่ายของรัฐราชการอีกต่อไป

หากยังรวมถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองอาชีพ ที่ไม่ว่าจะถูกลดทอนบทบาท-อำนาจอย่างไร และต้องปรับกระบวนทัพกันใหม่มากน้อยแค่ไหน พวกเขาก็ยังถือเป็นกลุ่มคนที่มีความชำนิชำนาญในเกมการเมืองบนสนามเลือกตั้งมากที่สุด

และที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย ก็คือ พลังของเสียงจากประชาชน ที่จะกลับเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอีกหน ทั้งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแบบธรรมดาปกติ และประชาชนที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาอย่างกระตือรือร้น (ไม่ว่าจะสังกัดเสื้อสีไหน) ตลอดหลายปีหลัง

การค่อยๆ แสวงหา “ดุลยภาพ” ณ ทางแพร่งตรงจุดนั้นต่างหาก ที่อาจบ่งบอกได้ชัดเจนขึ้น

ว่าการเมืองไทยจะแน่นิ่ง เดินทางเป็นวงกลมโดยไร้วิวัฒนาการ หรือกำลังค่อยๆ คลี่คลายตัวไปสู่ความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบใหม่ๆ กันแน่?

………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image