สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขนส่งมวลชน ต้องอยู่กลางกรุงเทพฯ

สังคมไทย 50 ปีที่ผ่านมา ได้คนชั้นนำผู้มีอำนาจนิยมยกย่องให้อภิสิทธิ์ผู้มีทรัพย์ แล้วมองข้ามสามัญชนคนรายได้น้อย เห็นได้จากกิจการขนส่งมวลชนไม่พัฒนา

เพราะมุ่งตัดถนนบริการเอาใจผู้มีรถยนต์ขับ แต่ยกเลิกรถราง แล้วแช่แข็งรถไฟเป็นโบราณศิลปวัตถุ ปล่อยรถเมล์ตามยถากรรม จนมีรถตู้เอกชนมาทดแทนแน่นไปหมด

สถานีขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทั่วประเทศ ควรตั้งอยู่กลางใจเมือง กทม. หรือบริเวณใกล้ศูนย์กลางมากที่สุด

ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่รวมกัน หรือต่อเนื่องถึงกันกับรถไฟและเครื่องบิน เพื่อบริการสามัญชนชาวบ้านกลุ่มคนมีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisement

มีผู้ส่งความเห็นในหนังสือพิมพ์รายวันมาให้อ่าน ซึ่งมีประโยชน์มากๆต่อสาธารณชน ขอขอบพระคุณ และขอสรุปมาแบ่งปันไว้ต่อไปนี้

ดร. โสภณ พรโชคชัย (ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส) บอกว่าทั่วโลกเน้นขนส่งผู้โดยสารเข้าถึงใจกลางเมือง และให้กระจายโดยระบบรถโดยสารต่างจังหวัด เช่น

นิวยอร์ก บขส. คือ Port Authority Bus Terminal และหัวลำโพง ของนครนิวยอร์ก (Penn Station) ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน เดินถึงกันได้

Advertisement

ลอนดอน บขส. ก็อยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station

“หมอชิต” ควรอยู่ที่เดิม เพราะประชาชนสามารถเลือกต่อรถไฟ รถไฟฟ้า หรือรถประจำทางได้สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเงินทองและเวลาของผู้เดินทาง การทำทางเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยรถโดยสาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

(เดลินิวส์ ฉบับวันพุธที่ 27 มกราคม 2559 หน้า 13)

วีรบุรุษกับประวัติศาสตร์

มีผู้เพิ่งส่งสำเนาเอกสารของงานตั้งแต่สิงหาคม 2558 มาให้อ่าน เมื่ออ่านแล้วมีตอนหนึ่งซาบซึ้งไม่ล้าสมัย จึงคัดมาแบ่งปันดังต่อไปนี้

“มีผู้กล่าวแสดงความห่วงใยอยู่เสมอ ว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนล้มเหลว เพราะคนไทยรุ่นปัจจุบันจับต้นชนปลายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยไม่ถูก ความกังวลนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้

แต่ในสังคมแห่งการให้โอวาทไม่สิ้นสุดของไทย ‘ผู้ใหญ่’ ในรัฐบาลมักกล่าวว่าคนไทยไม่รักชาติ ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวีรบุรุษของตนเอง จนถึงขนาดสร้างสวนราชภักดิ์เพื่อประดิษฐานประติมากรรมพระรูปพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเลียนแบบการสร้างพระรูปวีรกษัตริย์สามพระองค์แห่งเมียนมาที่กรุงเนปิดอ ทั้งนี้เพื่อปลุกวิญญาณรักชาติหรือลัทธิบูชาวีรบุรุษของคนไทย

นักประวัติศาสตร์ไม่ปฏิเสธว่าปัจจัยเรื่องวีรบุรุษเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในแต่ละสังคม จนอาจพูดได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์สร้างวีรบุรุษ เท่าๆ กับวีรบุรุษสร้างประวัติศาสตร์’

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของวีรบุรุษมีทั้งที่เป็นจริงและเป็นผลมาจากจินตนทัศน์อดีต (perception of the past) เรื่องราวของวีรกษัตริย์เป็นเรื่องที่มีสีสัน มีประเด็นที่ชวนพิศวง

และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนที่สนใจเรื่องราวของวีรกษัตริย์ได้ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับบริบทที่กว้างขึ้น ซึ่งหมายถึงการขั้นตอนที่นำไปสู่ประวัติศาสตร์ชาติ”

ประวัติศาสตร์วีรบุรุษของสังคมไทยมีจุดเริ่มต้นกับจุดจบแห่งเดียวกัน พอสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษสำเร็จก็จบแค่นั้น ไม่มีบริบทกว้างขวางอย่างที่นักวิชาการบอกไว้ในเอกสารนิรนามที่ยกมา

ไทยเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์วีรบุรุษ แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่มี เพราะที่มีเป็นนิยายอิงพงศาวดารของวีรบุรุษ

หน้า 18

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image