เหตุเกิดที่ กุสินารา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ภายหลังจากองค์พระศาสดาได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธองค์ได้ออกเทศนาสั่งสอนไปทั่วแคว้นชมพูทวีป ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงใช้สถานที่หลายแห่งเป็นที่ประทับและจำพรรษา แต่ที่ทรงใช้จำพรรษานานที่สุดคือพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี นับตั้งแต่พรรษาที่ 21 ถึงพรรษาที่ 44 เป็นระยะเวลานานถึง 19 ปี โดยพระเชตวันมหาวิหารแห่งนี้มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สร้างถวายแด่พระพุทธองค์

นอกจากพระเชตวันมหาวิหารแล้ว พระบรมศาสดายังทรงประทับเป็นครั้งคราวที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งถือเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์และได้ธรรมจักษุ จึงได้ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกและสร้างวัดพระเวฬุวันถวาย นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ประทับเป็นครั้งคราวที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ที่เจ้าศากยะทรงสร้างถวาย

เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถีที่สร้างถวายโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐียาวนานที่สุด เพราะเหตุใดพระพุทธองค์ไม่ทรงเลือกพระเวฬุวันวิหารซึ่งสร้างถวายโดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นที่ประทับถาวร ด้วยเหตุว่าหากทรงประทับที่พระเวฬุวันวิหารแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ช่วยดูแลปกป้องพระพุทธศาสนาให้ลงหลักปักฐานและเจริญงอกงามสืบต่อไปได้ เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารมีกำลังทรัพย์และมีบริษัทบริวารมากกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงทำหน้าที่ในฐานะอุบาสกได้ดียิ่งกว่า

เช่นเดียวกัน เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงใช้นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์เป็นที่ประทับถาวร ทั้งๆ ที่มีพระพุทธบิดาเป็นเจ้าผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ จึงสามารถให้การโอบอุ้มช่วยเหลืองานในพระศาสนกิจของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี ทั้งพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าสุทโธทนะต่างได้สดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา จนได้บรรลุธรรมและประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ดังนั้นทั้งสองพระองค์จึงพร้อมเป็นกำลังสำคัญให้แก่พระพุทธองค์ในการประกาศพระพุทธศาสนาและเผยแผ่พระธรรมคำสอนเป็นสำคัญ

Advertisement

เหตุที่องค์พระศาสดาทรงเลือกที่จะประทับและจำพรรษาที่พระเชตวันมหาวิหารของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะทรงเล็งเห็นว่าการนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของพระเจ้าพิมพิสารหรือพระเจ้าสุทโธทนะ จะเป็นการนำเอาพระศาสนจักรเข้าไปปะปนยุ่งเหยิงกับฝ่ายอาณาจักร อันนับเป็นการไม่เหมาะสมและมีเหตุอันไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายอาณาจักรต้องพ่ายแพ้สงครามแก่ข้าศึกศัตรู พระศาสนจักรที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรนั้นอาจต้องสูญสิ้นและถูกทำลายล้างลงไปพร้อมกับฝ่ายอาณาจักร

และหากเมื่อใดที่เจ้าครองนครถูกขับไล่ไสส่งและต้องสูญเสียอำนาจรัฐของตนไป และต่อมาได้ผู้ปกครองคนใหม่ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการดูแลพระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากผู้ปกครองคนเดิม ดังนี้อาจเป็นเหตุทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยและสูญสิ้นศรัทธาไปพร้อมกับผู้ปกครองที่ถูกขับไล่นั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเล็งเห็นด้วยพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์ว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสและราคะตัณหาให้หลุดพ้นไปจากจิตใจเพื่อทำให้จิตของชาวพุทธบริสุทธิ์ เพื่อทำให้จิตของชาวพุทธละเสียซึ่งความโลภ โกรธ หลง และอกุศลมูลทั้งปวง แต่ฝ่ายอาณาจักรกลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง กล่าวคือเป็นเรื่องของการพอกพูนอวิชชาและเพิ่มโลภะ โทสะ โมหะที่มุ่งไปในเรื่องของการจัดสรรอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์ในระหว่างกลุ่ม ระหว่างพรรค ทั้งที่อยู่ฝ่ายเดียวกันก็ดี หรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ดี

Advertisement

งานของฝ่ายอาณาจักรจึงเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจและโภคทรัพย์ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องอกุศลมูลที่หยาบคาย สกปรก และมีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในปุถุชนเราท่านทั้งหลาย ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองอันเป็นของหยาบคายและต่ำช้าจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำไปบัญญัติรวมไว้กับเรื่องของพระพุทธศาสนา

การนำเอาพระพุทธศาสนาไปรวมกลุ่มและผสมปนเปกับการเมืองการปกครองจึงนับเป็นความอุตริ บัดสีบัดเถลิงและอุจาดลามกเป็นอย่างยิ่ง หากเป็นชาวพุทธที่เทิดทูนพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว ชาวพุทธทั้งหลายย่อมรู้สึกรังเกียจและนึกขยะแขยงบุคคลผู้มีความคิดอุตริที่ไปดึงสถานะของพระพุทธศาสนาให้ตกต่ำและบั่นทอนศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาให้ลดน้อยลง เทียบเท่ากับเรื่องของการแสวงหาอำนาจของฝ่ายการเมืองการปกครองอันเป็นเรื่องของการแก่งแย่งผลประโยชน์และชิงดีชิงเด่นหักโค่นทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองเพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงไม่มีพระประสงค์ที่จะนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจและการอุปถัมภ์ค้ำชูของเจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย ทั้งไม่มีพระประสงค์ที่จะร้องขอต่อพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระเจ้าพิมพิสารให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา หรือร้องขอต่อพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระเจ้าพิมพิสารให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งหลายให้ถือเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงเลือกที่จะใช้พระเชตวันมหาวิหารเป็นสถานที่ประทับถาวรของพระพุทธองค์

ที่พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ให้นำพระพุทธศาสนาไปอิงกับอำนาจหรือกลไกรัฐใดๆ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นพระรัตนตรัยอันบริสุทธิ์และดำรงอยู่เหนือสิ่งอื่นใด พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลเวลา สถานที่ ไม่ขึ้นกับผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง หรือรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง พระพุทธศาสนาจึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองรัฐ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของแคว้นใดแคว้นหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง หรืออยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงเลือกที่จะไม่จำพรรษาที่วัดเวฬุวันวิหารที่สร้างถวายโดยพระเจ้าพิมพิสารหรือที่นิโครธารามที่สร้างถวายโดยเจ้าศากยะเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์อย่างถาวร แต่ทรงเลือกที่จะใช้พระเชตวันมหาวิหารเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธองค์อย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อตอกย้ำหลักการและเหตุผลที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นอกาลิโก เป็นอิสระไม่ขึ้นกับบุคคล รัฐ อำนาจ หรือกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอำนาจนั้นเป็นเรื่องของการแก่งแย่งและแสวงหาผลประโยชน์อันถือเป็นอำนาจการเมืองที่หยาบคายและต่ำทรามแล้ว พระพุทธองค์จะไม่ทรงยินยอมให้นำพระพุทธศาสนาอันเป็นพระรัตนตรัยอันบริสุทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องผูกโยงกับอำนาจการเมืองที่เต็มไปด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายและหาความจริงใจต่อกันไม่ได้ เหมือนดั่งที่พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ให้นำพระพุทธศาสนาไปขึ้นกับอำนาจของเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นทั้งหลาย

ขณะประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ นครเวสาลี พระพุทธองค์ได้ทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์เป็นครั้งสุดท้ายด้วยการปลงอายุสังขารว่า พระตถาคตจะปรินิพพานแต่นี้ไปอีก 3 เดือน

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะแยกพระพุทธศาสนาออกจากอำนาจการเมืองการปกครอง ดังนั้นแทนที่พระพุทธองค์จะเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี อันเป็นพระอารามที่พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับและจำพรรษามายาวนานเพื่อใช้เป็นสถานที่ปลงสังขาร พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะไม่เสด็จกลับ แต่ทรงพระดำเนินต่อไปโดยนำภิกษุจำนวน 500 รูปเสด็จไปที่เวสาลีเพื่อประทานพระธรรมเทศนาแก่กษัตริย์ลิจฉวี เมื่อเสด็จออกจากเวสาลี ได้ประทับยืนเยื้องพระกายผินพระพักตร์ทอดพระเนตรเวสาลี ประหนึ่งทรงอาลัยเมืองเวสาลีเป็นที่สุด พร้อมรับสั่งกับพระอานนท์ว่า อานนท์ การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้จักเป็นครั้งสุดท้าย

ขณะเสด็จออกจากเวสาลี เวลาที่เหลืออยู่ภายหลังปลงอายุสังขารจึงเหลือน้อยลง การตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จไปประทับ ณ เมืองใด หรือสถานที่แห่งใดเพื่อทำการปลงสังขารจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนับเป็นอุบัติการณ์ที่ชาวพุทธทั้งหลายพึงตระหนักและพินิจพิเคราะห์ถึงเหตุผลของพระพุทธองค์ที่ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลือกไปยังสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อปรินิพพาน

เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงเลือกพระเชตวันมหาวิหาร ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่ที่เหล่าภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต่างรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี และพุทธบริษัทเหล่านั้นพร้อมที่จะจัดทำพิธีปลงสังขารถวายแก่พระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์กลับเลือกที่จะเสด็จไปเมืองปาวาลนครเพื่อรับบิณฑบาตสุกรมัททวะจากนายจุนทะ ครั้นต่อมาเมื่อเกิดพระอาการประชวรด้วยโรคท้องร่วงเป็นโลหิต พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร แต่กลับมุ่งไปสู่เมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพานที่นั่น

เหตุที่พระพุทธองค์ไม่เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร เพราะพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ให้ชาวเมืองและชาวแว่นแคว้นทั้งหลายต่างเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงยกชีวิตจิตใจและสถานะความเป็นพลเมืองของพระพุทธองค์ให้ขึ้นกับอำนาจปกครองของเจ้าผู้ครองนครสาวัตถี พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจว่าองค์พระศาสดาและพระพุทธศาสนาอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าผู้ครองนครสาวัตถีอันเป็นเมืองที่พระเชตวันมหาวิหารตั้งอยู่

อีกทั้งเหตุที่พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะไม่เสด็จกลับเวฬุวันวิหารหรือนิโครธารามเพื่อใช้เป็นสถานที่ดับขันธ์ปรินิพพานเพื่อให้เจ้าผู้ครองแคว้นมคธและเจ้าศากยะทั้งหลายที่ทรงคุ้นเคยได้เข้าร่วมพิธีปลงสังขารของพระพุทธองค์อย่างเป็นทางการด้วยความพร้อมหน้าของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย อันจะแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ในทางการเมืองระหว่างประเทศหรือระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ

แต่พระพุทธองค์กลับปฏิเสธอำนาจการเมืองของเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้น และไม่มีพระประสงค์ที่จะแสดงออกว่าพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาและตรัสเทศนาสั่งสอนแก่สัตว์โลกจนตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์นั้นอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองการปกครองของแว่นแคว้นใดแว่นแคว้นหนึ่ง

เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์ให้อำนาจทางการเมืองการปกครองเข้ามาข้องแวะหรือเข้ามาแปดเปื้อนพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์จึงไม่มีพระประสงค์ให้นำเรื่องทางโลกอันเป็นเรื่องของกิเลสราคะที่มีอยู่ในจิตใจของผู้ปกครองทั้งหลายเข้ามามีอำนาจบงการอยู่เหนือพระพุทธศาสนา และไม่มีพระประสงค์ที่จะให้ผู้ปกครองใดหรือบุคคลใดนำพระพุทธศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองการปกครอง หรือใช้พระพุทธศาสนาเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ทางการปกครองเพื่อการหวงห้ามหรือกีดกันศาสนาอื่นไม่ให้เข้ามาครอบงำชาวพุทธ

แต่บัดนี้ ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดอุตริได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปใส่ไว้ในกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อนำไปใช้ในทางการเมืองการปกครองของประเทศ กลุ่มบุคคลดังกล่าวผู้มีความคิดอุตริได้พยายามเปลี่ยนพระพุทธศาสนาที่เป็นพระรัตนตรัยอันบริสุทธิ์อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขัดเกลาจิตใจของชาวพุทธให้บริสุทธิ์สะอาด ให้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองบ้านเมืองอันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครกอันเนื่องจากอำนาจราคะตัณหาของความโลภ โกรธ หลง ของผู้ปกครองกลุ่มนั้น

กลุ่มบุคคลที่มีความคิดอุตริที่คิดว่าตนเองเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาดีแล้วนั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นเพียงกลุ่มบุคคลที่เพียงต้องการเข้าไปแสวงหาลาภ ยศ สักการะ จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ ความคิดอุตริที่นำพระพุทธศาสนาไปรวมกับการเมืองการปกครองเช่นนี้แหละที่เดินสวนทางกับองค์พระศาสดา อันจะเป็นเหตุนำพาให้พระพุทธศาสนาต้องจมหายไปกับความบ้าระห่ำของพวกคลั่งชาติและถูกทำลายล้างด้วยความโง่เขลาของพวกคลั่งศาสนา

ด้วยความคิดอุตริของบุคคลดังกล่าวที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่ใช่อกาลิโก ไม่ใช่สิ่งบริสุทธิ์ แต่กลับอุตริคิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ต้องการการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองการปกครองที่ต้องเข้าไปแก้ไขเหตุการณ์ในแต่ละขณะๆ อันเป็นเรื่องอุตริ หยาบคาย และไร้ภูมิปัญญาทั้งสิ้น

แท้จริงแล้ว บุคคลผู้มีความคิดอุตรินั่นเองที่กลับกลายเป็นผู้ต่ำชั้น เป็นผู้มีสายตายาวไกลเพียงแค่มองเห็นแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะตกได้แก่ตนเท่านั้น เป็นผู้มีความคิดกว้างไกลเพียงแค่มองกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่ายว่าเป็นพวกใดฝ่ายใด และผู้มีความคิดอุตรินั้นต้องการสนับสนุนกลุ่มการเมืองใด ความคิดของเขาจึงไปไม่ไกลเกินกว่าปลายจมูกที่ได้รับกลิ่นอาหารที่ตนมุ่งมาดปรารถนา บุคคลผู้มีความคิดอุตริเช่นนี้หรือที่มีจิตใจดีงามเพียงพอที่จะเข้ามาจัดการเรื่องพระพุทธศาสนาได้จริงหรือ

หากพระพุทธศาสนาของเราต้องเสื่อมถอยและมีเหตุต้องถูกทำลายล้างลง เพราะเหตุที่บุคคลผู้มีความคิดอุตรินั้นไปบัญญัติกฎหมายโดยนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปใส่รวมไว้กับการเมืองการปกครองแล้ว บุคคลผู้อุตรินั้นจะต้องถูกตราหน้าจากชาวพุทธทั้งหลายว่า เขานั่นแหละที่เป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา เขานั่นแหละเป็นผู้ที่ทำให้ชาวพุทธทั้งหลายต้องเศร้าหมอง และเสียใจจากความคิดอุตริที่นำพระพุทธศาสนาไปใส่รวมไว้กับสิ่งปฏิกูลโสโครกของอำนาจการเมือง

ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image