ขยะ… อย่าคิดว่าไม่สำคัญ! โดย : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

บรรพบุรุษของเราคงไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า ขยะจะกลายเป็นประเด็นที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งบัดนี้ก็ได้เป็นไปแล้วเพราะขยะก่อให้เกิดมลพิษและมีผลต่อสุขภาพอนามัยของชุมชน เกิดทรรศนะอุจาดทำลายการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่ทิ้งขยะมูลฝอยจำนวน 28 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีที่ทิ้งขว้างในที่ต่างๆ ที่นับปริมาณไม่ได้และมีขยะเกิดใหม่ 26 ล้านตัน/ปี เกือบเท่าๆ กับข้าวเปลือกที่ประเทศของเราผลิตได้ต่อปี แผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ.2559-2560) จึงเป็นการปรับกลยุทธ์หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางที่สามารถลงมือทำได้ในระดับหมู่บ้านและชุมชนโดยอาศัยกลไกการปกครองส่วนท้องที่ โดยมีตัวชี้วัดระดับกลยุทธ์ของแผนปฏิบัติการ ที่ระบุให้ร้อยละ 100 ของหมู่บ้าน/ชุมชนมีการดำเนินการคัดแยกขยะอันตราย และในจำนวนนี้ให้มีร้อยละ 40 เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบที่มีการคัดแยกขยะมูลฝอยทุกประเภทอย่างครบถ้วนถูกต้อง ณ แหล่งกำเนิด ในขณะเดียวกันให้ อปท.ทุกแห่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ จัดภาชนะรองรับขยะมูลฝอยชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และจัดเวลาและวันในการเก็บ/ขนขยะแต่ละประเภท พร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่ให้ผู้คัดแยกขยะมูลฝอยรายย่อย

ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 กำหนดให้ อปท.เก็บค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยจากครัวเรือนเพิ่มจาก 40 บาท เป็น 150 บาท/เดือน และให้ อปท.สามารถจัดเก็บค่ากำจัดมูลฝอยเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 200 บาท/เดือน เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการขยะ

การศึกษาของ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปรียบเทียบผลของการจัดการขยะแบบดั้งเดิม (Business as Usual: BAU) ที่เน้นการเก็บขนขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นไปกำจัดกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืนที่เน้นการจัดการขยะที่ต้นทางตามแนวคิดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste, ZW) โดยอาศัยข้อมูลจากกรณีศึกษาของ อปท. 9 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย น่าน และเชียงใหม่

Advertisement

ผลการวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของวัสดุ (Material Flow Analysis, MFA) ของชุมชนต้นแบบในพื้นที่การศึกษา พบว่า จากประสบการณ์ของชุมชนต้นแบบเหล่านี้ หากมีการจัดการต้นทางอย่างเต็มที่ ขยะที่เกิดขึ้น 1 กิโลกรัม (กก.) จะสามารถลดและคัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้จริงถึง 0.82 กก. แม้แต่ในเขตเทศบาลเมืองที่อาจจะมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมจัดการขยะอินทรีย์และการรวมกลุ่ม แต่ก็เป็นไปได้ที่จะลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเฉลี่ยคนละ 1.15 กก./วัน ลงร้อยละ 45

การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย 0.91 บาท/กก.ของขยะที่ลดลง หาก อปท.ที่เป็นกรณีศึกษาดำเนินการเต็มพื้นที่จะมีค่าใช้จ่ายต่อปีงบประมาณเฉลี่ยต่อหัวประชากร (ตามทะเบียนราษฎร) 260 บาท/คน หรือ 696 บาท/ครัวเรือน/ปี การลงทุนเพื่อส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะนี้ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่างบประมาณที่ อปท.ได้เคยจัดสรรให้แก่การจัดการขยะที่ต้นทาง

แต่หากทำอย่างสมบูรณ์จริงจังให้ได้ผลแล้วจะก่อให้เกิดการประหยัดงบประมาณที่ อปท.ต้องใช้ในการเก็บขนและกำจัดลงถึง 1.63 เท่าของต้นทุนการจัดการขยะที่ต้นทาง

Advertisement

สําหรับ อปท. 9 แห่งที่เป็นกรณีศึกษา อัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายใหม่ที่ อปท.ต้องจัดเก็บจากครัวเรือนเพื่อให้เกิดการคืนต้นทุน (Cost Recovery) รวมต้นทุนในการจัดการขยะที่ต้นทางแล้วจะยังอยู่ในระดับที่ประชาชนน่าจะยอมรับได้ ระหว่าง 31-93 บาท/เดือน แต่หาก อปท.ต้องเก็บขนและนำขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปกำจัดแล้ว ค่าธรรมเนียมที่ต้องจัดเก็บจะอยู่ในระดับสูงถึง 143-308 บาท/เดือน

การลดและคัดแยกขยะที่ต้นทางด้วยนวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยีที่ง่ายๆ เหมาะสมกับสภาพของบ้านเรา ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการจัดการขยะที่ต้นทางส่วนใหญ่อาศัยความร่วมมือเป็นหลักไม่ได้ใช้เครื่องจักรกลที่ใช้ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงมาก จึงช่วยลดผลกระทบในกลุ่มที่ขึ้นกับการใช้พลังงาน เช่น ภาวะโลกร้อน ฝนกรด หมอกควันแบบโฟโตเคมี ที่เกิดขึ้นจากการเก็บขนและกำจัดขยะ ตัวอย่างเช่นก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงร้อยละ 84 จากการเก็บขนขยะที่ลดลง

และสำหรับ อปท.ที่ยังอาศัยการเทกองโดยไม่มีระบบควบคุมและบำบัดมลพิษนั้นในหลุมขยะของหมู่บ้านนั้น การลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดทุกๆ 1 ตันจะช่วยลดปริมาณน้ำบาดาลที่จะถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษที่อยู่ในขยะลงถึง 5,000 ลบ.ม. หรือ 5 ล้านลิตร

อ.ปเนตยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้การดำเนินงานมีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้นคือ

ประเด็นที่ 1 ตัวแบบการจัดการขยะที่ต้นทางจะมีประสิทธิผลในการลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดมากขึ้น ถ้าแผนปฏิบัติการมีกิจกรรมและตัวชี้วัดของการจัดการขยะอินทรีย์ที่ครัวเรือน และการรวมกลุ่มกันจัดการขยะรีไซเคิลมีความชัดเจนมากกว่านี้

ประเด็นที่ 2 เป้าหมายการลดปริมาณขยะควรจะเปรียบเทียบกับปริมาณขยะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยควรอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 5 เพราะผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าศักยภาพการลดปริมาณขยะแม้แต่ในเขตเมืองก็สูงกว่าร้อยละ 40 อยู่แล้ว

ประเด็นที่ 3 การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการขยะควรจะเป็นไปตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เช่น การคิดค่าธรรมเนียมขยะต่อหน่วย (Unit-based Pricing, UBP) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประยุกต์ใช้หลักการนี้ในบางพื้นที่ เช่น กรณีของ อบต.ดอนแก้วที่ใช้ระดับความร่วมมือของครัวเรือนในการคัดแยกและจัดการขยะประเภทต่างๆ ที่ต้นทางมาเป็นฐานของการคิดค่าธรรมเนียมรายเดือน เป็นต้น

ประเด็นที่ 4 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในระบบเก็บขนจะเริ่มคุ้มค่าเมื่อมีผู้รับบริการอย่างน้อย 9,000 คน ส่วนการกำจัดขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาลจำเป็นต้องจัดการแบบรวมศูนย์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งการบริหารจัดการควรจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยภาครัฐทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานและให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 5 การจัดการขยะไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของท้องถิ่นและชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะเพิ่มความรับผิดชอบตามกฎหมายของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มากขึ้น ตามแนวคิดความรับผิดชอบที่ขยายออกไปของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility, EPR) เนื่องจากความสามารถในการจัดการขยะที่ต้นทาง และการกำจัดขยะตามหลักสุขาภิบาลของ อปท.นั้นมีข้อจำกัดในการจัดการขยะที่มีความซับซ้อน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอันตรายประเภทอื่นๆ

สุดท้ายนี้ อยากจะตบท้ายว่า ในตอนนี้ อปท.ในต่างจังหวัดเขาก็ก้าวหน้ากันไปแล้ว เมื่อไหร่คนบางกอกและ กทม.จะร่วมกันคัดแยกขยะ และจะมีส่วนร่วมในการไม่เอาขยะไปทิ้งไว้บ้านคนอื่น!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image