วิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่ กับภาพสะท้อนรัฐเปราะบางในพม่า โดย : ลลิตา หาญวงษ์

แฟ้มภาพ

ในการจัดอันดับรัฐเปราะบาง (Fragile State Index) โดยกองทุนเพื่อสันติภาพ (The Fund for Peace) ประจำปี 2017 พม่าถูกจัดให้เป็นรัฐเปราะบางอันดับที่ 35 ของโลก (จาก 178 ประเทศ) จากตัวชี้วัดหลักๆ 4 ประการ ได้แก่ ตัวชี้วัดทางความสอดประสาน (cohesion) ภายในประเทศ ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และทางสังคม มีเพียงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและทางการเมืองเท่านั้นที่มีทิศทางบวกอย่างชัดเจน นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการที่รัฐบาลพม่าแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าได้สร้างเครื่องมือทางการเมืองขึ้นมาเพื่อนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ตัวเลขความเจริญทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองสวนทางกับตัวเลขด้านความสอดประสานของคนในประเทศ และตัวชี้วัดทางด้านสังคมที่มีทิศทางดำดิ่งลงเรื่อยๆ

ดัชนีชี้วัดเชิงสังคมชี้ให้เห็นชุดวิกฤตทางสังคม 2 ชุดใหญ่ ที่พม่ากำลังประสบอยู่ ได้แก่ ปัญหาความยากจนและช่องว่างระหว่างชนชั้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความขัดแย้งภายในประเทศ ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ปัญหาทั้ง 2 ชุดนี้ทำให้พม่าไม่สามารถเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจและเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจัง และยังเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เกิดการพัฒนาอื่นๆ ตามมาด้วย ในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนขอโฟกัสไปที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า ที่แม้เราจะพูดกันมานมนาน
กาเล แต่อสูรกายในนามความรุนแรงอันเกิดจากอคติทางชาติพันธุ์และศาสนาก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม มีผู้พบศพ 6 ศพ เป็นชาย 3 คน และผู้หญิงอีก 3 คน ใกล้เมืองหม่องด่อ (Maungdaw) เมืองสำคัญในรัฐยะไข่ (อาระกัน) ที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮีนจาอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังการชันสูตรและสอบสวนพบว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์เมี้ยว (Myo) ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ กระแสสังคมพม่าฟันธงว่ากลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธชาวโรฮีนจาในนามกองกำลังปลดปล่อยชาวอาระกันโรฮีนจา (The Arakan Rohingya Salvation Army) เป็นผู้ก่อการร้ายญิฮาด (jihadist) ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารชาวพุทธผู้บริสุทธิ์ในครั้งนี้

รัฐบาลพม่าและชาวพม่าจำนวนมากมองว่าชาวโรฮีนจาที่มีจำนวนราว 1 ล้านคนในรัฐยะไข่ มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองและกำลังพยายาม “แก้แค้น” ชาวพุทธและโจมตีรัฐบาลพม่าที่ก่อนหน้านี้โจมตีหมู่บ้านชาวโรฮีนจาอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตจำนวนมาก และชาวโรฮีนจาอีกหลายหมื่นคนต้องอพยพข้ามแม่น้ำนาฟเข้าไปลี้ภัยในประเทศบังกลาเทศ

Advertisement
กองกำลังปลดปล่อยชาวอาระกันโรฮีนจา (ARSA) ออกมารับผิดชอบในการโจมตีกองกำลังของรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ในภาพคืออาบู อัมมาร์ จูโนนี (Abu Ammar Junoni) ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยชาวอาระกันโรฮีนจา (ที่มาของภาพ: Mizzima)

ดูเหมือนว่ารัฐบาลและชาวพม่าจะมองความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในพม่าปัจจุบันออกเป็น 2 ส่วนแยกกันอย่างเด็ดขาด ส่วนแรกคือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า กับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ยังไม่ยอมวางอาวุธและลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ชาวพม่าเชื่อว่าความขัดแย้งในส่วนนี้สิ้นสุดลงได้ด้วยการเจรจา แต่สำหรับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในส่วนที่สอง คือระหว่างชาวพุทธในพม่ากับชาวมุสลิมโรฮีนจา (ชาวพม่าเรียกชาวโรฮีนจว่า “เบงกาลี” เพราะอ้างว่าคนกลุ่มนี้อพยพมาจากบังกลาเทศและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่า) ชาวพม่ากลับเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับชาวโรฮีนจาอย่างเด็ดขาด ราวกับเรียกร้องให้มีการล้างบางครั้งสุดท้าย (The Final Solution) ไม่ต่างจากที่ฮิตเลอร์ปฏิบัติกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลพม่าจะไม่ยอมประนีประนอมกับชาวโรฮีนจา เพราะนอกจากชาวโรฮีนจาจะถูกมองว่าเป็นผู้อพยพที่ผิดกฎหมายแล้ว ในปัจจุบันคนในสังคมพม่า รวมทั้งออง ซาน ซูจี เองก็มองชาวโรฮีนจาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และพยายามกันความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจาออกไป

เมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่ากองทัพพม่าก็ต้องการเร่งพิชิตศึกในครั้งนี้ถึงขนาดที่ได้วางแผนนำกองกำลังติดอาวุธเข้าไปประจำการในรัฐยะไข่ และฝึกทหารที่เป็นชาวยะไข่ให้ขึ้นมาต่อสู้แบบใช้กำลังเพื่อรับมือกับกองกำลังของโรฮีนจา รัฐบาลออกมาแก้ข่าวในทันทีว่านโยบายของรัฐบาลและกองทัพคือการสร้างความปรองดองอย่างสันติ นับตั้งแต่ชาวบ้านเมี้ยว 6 คน ถูกสังหาร ชาวยะไข่พุทธทั่วรัฐอาระกันออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังและใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อจัดการกับปัญหาชาวโรฮีนจา ปัญหานี้ถูกหยิบยกขึ้นไปอภิปรายในรัฐสภาพม่า แต่ลงเอยด้วยการปะทะคารมกันระหว่างผู้แทนจากฝั่งพรรคเอ็นแอลดี และผู้แทนของกองทัพ เนื่องจาก ส.ส.ของเอ็นแอลดี ลุกขึ้นอภิปรายและกล่าวโทษกองทัพและรัฐบาลชุดที่แล้วของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ว่าเป็นต้นตอทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวยะไข่พุทธและชาวมุสลิม “ปัญหาโรฮีนจา” เป็นเวทีให้พรรครัฐบาลและกองทัพโต้ตอบกันมาตลอดปีเศษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวพุทธในพม่าจำนวนมากมองว่าประเด็นเรื่องโรฮีนจา
ไม่ใช่ปัญหาที่ซับซ้อน และมีทางออกอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้นคือการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อกวาดล้างชาวโรฮีนจาออกไปจากแผ่นดินพม่าให้สิ้นซาก

ความรุนแรงในระลอกนี้มีที่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 เมื่อกลุ่มติดอาวุธกลุ่มหนึ่งโจมตีป้อมตำรวจในรัฐยะไข่ กองทัพมองว่ากองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮีนจาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ จึงเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮีนจาครั้งใหญ่ รายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ เรียกการกวาดล้างในครั้งนั้นว่าเป็นการสังหารหมู่ (genocide) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลพม่าเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดปัญหาระลอกใหม่ขึ้น มีชาวโรฮีนจาที่อพยพหนีการกวาดล้างของกองทัพพม่าเข้าไปในเขตประเทศบังกลาเทศแล้วนับแสนคน ในการปะทะกันระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม มีชาวโรฮีนจาอีกหลายพันคนที่อพยพสู่บังกลาเทศ

Advertisement

มีรายงานว่าตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม มีชาวโรฮีนจารวมทั้งเด็กและสตรีที่พยายามหนีการกวาดล้างของทหารพม่าและถูกยิงเสียชีวิตไปแล้ว 92 คน

ความโกรธแค้นล่าสุดของชาวพุทธในพม่ามาจากรายงานของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ที่มี นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นประธาน รายงานฉบับนี้สรุปว่า การแก้ปัญหาในรัฐยะไข่อย่างยั่งยืนคือการเร่งมอบสัญชาติให้กับชาวโรฮีนจา และรัฐบาลพม่าต้องเลิกจำกัดบริเวณชาวโรฮีนจาให้อยู่เฉพาะในค่ายชาวโรฮีนจาด้วย หลังจากมีรายงานออกมา เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังของโรฮีนจากับฝ่ายรัฐบาลพม่า เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าเสียชีวิตนับ 10 ราย และฝ่ายโรฮีนจาเสียชีวิต 77 นาย มีการพูดถึงความรุนแรงในรัฐยะไข่ระลอกนี้อย่างกว้างขวาง

ชาวพม่าทั่วประเทศเริ่มเข้าร่วมการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า “Save Rakhine” (ช่วยยะไข่) โดยการเปลี่ยนกรอบรูปในเฟซบุ๊กของตนเอง สังคมพม่าเข้าสู่ “โหมดการเมือง” อีกครั้ง และมีข้อเรียกร้องให้จัดการชาวโรฮีนจาอย่างเด็ดขาดเสียที ยิ่งรัฐบาลและกองทัพเร่งทำสงครามทางจิตวิทยาประโคมโฆษณาให้ประชาชนเชื่อว่าโรฮีนจาเป็นผู้ก่อการร้ายที่จ้องทำลายพระพุทธศาสนา เราคงเห็นจุดแตกหักกันในไม่ช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image