คลองไทย มรดกไทย ทำไมต้องขุด : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเดินทางติดต่อค้าขายและการดำเนินทางการทูตกับประเทศในแถบยุโรปจะอาศัยเส้นทางทางทะเล ขณะที่ในยุครัตนโกสินทร์รัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสมุทรสิงหนาทหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงเคยมีพระราชดำริที่จะขุดคลองเพื่อจะยาตราทัพเรือไปตีเพื่อยึดเมืองมะริด ตะนาวศรี ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งกำลังขยายอำนาจและแผ่อิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ พยายามที่จะสำรวจและก่อสร้างคลองเพื่อเชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเล ณ บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสนพระทัยต่อกรณีดังกล่าวแต่ยังไม่ได้ตัดสินพระทัยเพราะทรงเกรงปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต

ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอรัฐบาลในขณะนั้นให้มีการพิจารณาขุดคลองดังกล่าว จากนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศไทยต้องลงนามในข้อตกลงเพื่อเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษโดยมีการระบุเงื่อนไขข้อหนึ่งว่าห้ามไทยขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรกับอ่าวไทยหากมิได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ข้อตกลงนี้ได้มีการยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมารัฐบาลและรัฐสภาหลายยุคได้พิจารณาถึงความจำเป็นและความสำคัญที่จะศึกษาว่าด้วยการขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรมาอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดในการที่จะสร้างคลองเชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเล ณ บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อสร้างเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา จึงนับได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ผู้เล็งเห็นผลเลิศในด้านนี้จึงมีการศึกษาเพื่อหาความจริงและตอบโจทย์ให้ประเทศ และที่ปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อรัฐบาลในปี 2544 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อศึกษาตามความเป็นไปได้ในการขุดคลองคอดกระ ซึ่งสาระสำคัญก็เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้เองนักวิชาการและสถาบันการศึกษาตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงเข้าไปมีส่วนในการศึกษาความเป็นไปได้มากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตามจากปรากฏการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินของโลกในปลายปี พ.ศ.2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดประกอบกับสังคมไทยต้องประสบปัญหาตามมาหลายด้านโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยสภาพการดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในย่านอาเซียนตลอดจนประเทศในเอเชียแปซิฟิกต่างมีความก้าวหน้าสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สามารถนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างมากซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยเป็นอาณาจักรตั้งอยู่บนศูนย์กลางของอาเซียนมีคาบสมุทรแหลมทองเป็นจุดเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้นทางของการค้ามาแต่โบราณ

ด้วยธรรมชาติที่ได้สร้างมรดกทางยุทธศาสตร์ไว้ให้กับประเทศดังที่กล่าววันนี้จึงมีคำถามตามมาว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการที่จะนำมรดกดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการมองการณ์ไกลเพื่อการแสวหาทางเลือกในการขุดคลองไทย และจากคำถามของสังคมรวมทั้งโจทย์ใหญ่ที่รัฐจะนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสู่การปฏิบัติในอนาคต คลองไทยซึ่งเป็นมรดกทางทะเลในการจะนำมาซึ่งแสงสว่างเพื่อการสร้างงานสร้างเงินในภายภาคหน้า จึงเป็นกระแสหนึ่งที่รัฐบาลต้องนำมาสู่การพิจารณา

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยเฉพาะการปฏิรูปและการนำพาประเทศให้ก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ที่สำคัญเมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาฯทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วยการหยิบยกแนวคิดการกำหนดเป้าหมายการพัฒนา 4 ประการที่จะบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดผลสำเร็จภายใน 20 ปี ประกอบด้วย 1.การให้คนไทยทุกคนมีรายได้เฉลี่ย 4.5 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือ 3.75 หมื่นบาทต่อเดือน หรือมีรายได้ขั้นต่ำ 1,250 บาทต่อวัน 2.ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 5% 3.การนำประเทศไทยให้ผงาดเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการติดอันดับท็อปเท็นของโลก 4.และการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่เพียง 102 ล้านไร่ หรือ 31% ของพื้นที่ทั้งประเทศให้เพิ่มเป็น 128 ล้านไร่ หรือ 40%

Advertisement

เป้าหมายของประเทศในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดูเหมือนว่าจะนานพอควรแต่การศึกษาแนวทางเพื่อการพัฒนาชาติแห่งอนาคตที่รัฐบาลไม่ควรมองข้ามคือการรับฟังข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ที่ให้ความสนใจกับการขุดคลองไทยหรือมรดกชาติทางทะเลอันที่จะนำมาซึ่งการสร้างมิติใหม่ในอนาคตซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สำหรับลูกหลานในภายภาคหน้า

ด้วยความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การเสนอแนวทางในการขุดคลองไทยจึงเป็นอีกหนึ่งประกายความคิดที่ถูกจุดขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง ประเด็นนี้จึงเป็นทางเลือกของรัฐบาลที่ควรรับฟังหรืออาจจะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาควบคู่ไปกับนักวิชาการและองค์กรเอกชน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวจากสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 กรณีที่จีนและไทยลงนาม MOU ให้มีการขุดคลองคอดกระที่กว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมลงนาม แต่ต่อมาโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงข่าวปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว และระบุว่ารัฐบาลจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากการเสวนา “คลองไทยพื้นที่ได้ประโยชน์อะไร” ซึ่งสาระสำคัญจากการเสวนาครั้งนั้นพบว่าแนวคิดการขุดคลองไทยหรือคลองคอดกระเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เป็นแนวคิดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการขุดคลองเชื่อมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อมและวิถีของการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่และการเมืองระหว่างประเทศทำให้รัฐบาลไม่ไว้ใจที่จะดำเนินการใดๆ แม้ว่าจะมีข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ขั้นต้นในการขุดคลองไทยของวุฒิสภาเมื่อปี พ.ศ.2544-2545

โดยมีข้อสรุปทางวิชาการว่า เส้นทาง 9A น่าจะเป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด หากรัฐบาลจะดำเนินการขุดเพราะให้ผลกระทบเชิงบวกที่ประเทศจะได้รับมากกว่าผลในทางลบ

ด้วยความต้องการที่จะให้มีการดำเนินการศึกษาและขุดคลองไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงจัดประชุมสัมมนาประเด็น “คลองไทยคนไทยได้อะไร” บทสรุปที่ประชุมเสนอหลักการและเหตุผลเพื่อเป็นทางเลือกที่รัฐบาลควรจะนำไปศึกษาต่อคือคลองไทยจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือของอาเซียนและของโลกซึ่งเชื่อมต่อชีวิตของประชากรโลกไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านคน ประมาณว่าจะมีเรือขนส่งสินค้าขนาด 300,000 เมตริกตัน เดินทางผ่านวันละ 400-500 กว่าลำ ปีละ 125,000 ลำ และมีแนวโน้มสูงในอนาคต ฯลฯ

พร้อมกันนั้นในวงเสวนายังเชื่อว่า คลองไทยเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทยคลองนี้ จะจุดประกายความฝันของคนใต้และคนไทยทั้งประเทศทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่จะสร้างเงินไหลเวียนในพื้นที่อันเกิดจากธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมือง และเศรษฐกิจใหม่ของภาคใต้ที่ต้องการอัตราการจ้างงานตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบนเป็นจำนวนมหาศาล ขณะที่จำนวนเงินทุนในการสร้างคลองไทยจะไหลเวียนเข้าสู่พื้นที่ไม่น้อยกว่า 650,000 ล้านบาท ในระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี มีอัตราจ้างงาน 2.5-3 ล้านอัตรา

ด้วยภาวการณ์แข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกต่างมุ่งมั่นในการนำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศให้ชาวโลกได้ประจักษ์สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาและร่วมมือเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลที่ครอบคลุมตอนเหนือของจีนผ่านเอเชียกลางไปยังยุโรปในขณะที่ตอนใต้จะเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ตะวันออกกลางไปถึงแอฟริกา

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำจีน แน่นอนว่าประเทศเขาได้เตรียมการและวางแผนโครงการต่างๆ กับประเทศที่เรียงรายตามเส้นทางกว่า 900 โครงการ ครอบคลุมตั้งแต่โครงการขนส่งการวางท่อสายไฟเบอร์ออปติก ความร่วมมือทางการเงินธนาคารเป็นต้นและอีกในหลายมิติที่จีนจะผงาดเป็นเบอร์หนึ่งของโลก

ประเทศไทยในฐานะที่มีมรดกทางธรรมชาติซึ่งสามารถนำมาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้โดยไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกนี้ วันนี้รัฐบาลซึ่งกำลังกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าหากจะมองและให้ความสำคัญต่อการเสนอแนวคิดการขุดคลองไทยก็น่าจะเป็นอีกเลือกทางหนึ่งสำหรับการนำประเทศไทยให้ก้าวไกลแห่งอนาคต

วันเวลาและโอกาสบางครั้งไม่อาจจะรอได้ อนาคตของประเทศจึงเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคของการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 คลองไทย มรดกไทย จึงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบว่า ทำไมจึงต้องขุด

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image