ก็แล้วแต่ที่เธอจะเห็น โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าประเทศไทยเราเดินเข้าสู่ยุคสมัยที่คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ประชาชนทั้งประเทศจะอยู่ด้วยกันด้วยความสงบเรียบร้อยได้นั้นจำเป็นที่จะต้องให้คนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองมีจิตสำนึก เจตนาที่ดีงามต่อชาติบ้านเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่น มีอำนาจที่จะจัดการสร้างกลไกใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

เป็นกลไกที่ตอบสนองคนกลุ่มหนึ่งอย่างเต็มทั้งเอื้อต่อการใช้อำนาจได้อย่างเด็ดขาด และคุ้มครองไม่ให้การใช้อำนาจดังกล่าวมีความผิดตามมาทีหลัง

นับวันยิ่งชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้ได้ข้อสรุปกันไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไร้จิตสำนึกที่ดีงาม ที่ค่านิยมที่จะล่องลอยไปกับสิทธิเสรีภาพที่มีแต่จะนำความเลวร้ายมาให้ส่วนรวมมากกว่าความดีงาม เป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ความรู้และสติปัญญาไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองไม่ให้ทำในสิ่งและเรื่องราวนำความเสื่อมทรามมาให้สังคม

ในความคิดของคนกลุ่มนี้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเดินไปสู่ความดีงามได้ จะวางระบบที่จะจัดการบดขยี้ทำลายต้นเหตุของความเลวร้ายทั้งหลายให้หมดไป และสร้างกลไกที่จะส่งเสริมความดีงามขึ้นมา

Advertisement

เป็นความเลวร้าย และความดีงามที่จะเป็นไปตามความเข้าใจของคนกลุ่มนี้

จะไม่พูดกันถึงว่า “ถูกหรือผิด” ที่คนกลุ่มที่สถาปนาตัวเองว่าเหนือกว่าคนอื่นคิดและลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ แต่จะชวนให้วิเคราะห์ถึงสิ่งทื่จะเกิดขึ้นจากความพยายามที่จะจัดการเช่นนั้น

ในประเด็นที่ชวนคุยนี้จะมองไปถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงในสองด้านคือ ปัจจุบันและอนาคต

Advertisement

ในส่วนที่เป็นปัจจุบัน ความเป็นจริงอย่างหนึ่งของสังคมไม่ว่าที่ไหน ปัจจุบันนั้นสร้างมาจากอดีต

พัฒนาการของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเติบโตอย่างมีที่มาที่ไป และที่การจัดการจะทำให้เกิดขึ้นคือ แรงเสียดทานจากการเปลี่ยนทิศทางของพัฒนาการจากที่เคยเป็นมา

นับวันยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า

เศรษฐกิจจะปรับตัวจากทุนนิยมเสรี ไปสู่สัมปทานผูกขาดมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทุนนิยมเสรีเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุนสามานย์” ดังนั้น “การผูกขาดด้วยทุนที่มีจริยธรรมมากกว่าย่อมเป็นคุณกับประเทศมากกว่า” หน้าที่ของคนกลุ่มอำนาจแค่ “ทำให้ทุนที่เชื่อว่ามีจริยธรรมเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ”

แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นคือ “ทุนใหม่” ที่เติบใหญ่มากับพัฒนาการของ “ทุนนิยมเสรี” ที่ดำเนินในระบบเศรษฐกิจไทยยาวนานพอสมควร จะต้องดิ้นรนเพื่อหาทางอยู่รอด

จึงน่าสนใจยิ่งว่า “อำนาจจะเด็ดขาด” ที่ดำเนินการอยู่จะเพียงพอในการหยุดยั้ง “ทุนเสรี” ที่ถูกตีตราว่า “สามานย์” หรือไม่

ทางการเมือง จะปรับตัวจาก “ประชาธิปไตยสากล” มาสู่ “อำนาจนิยม” ด้วยเหตุผลที่ว่า “ประชาธิปไตยสากลที่ยืนอยู่ในหลักการความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน” กลายเป็นช่องที่เปิดทางให้ “คนเลวทรามต่ำช้า” ทั้ง “นักธุรกิจที่เห็นแก่ตัว” และ “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ที่ใช้อำนาจเถื่อนควบคุมประชาชน เข้าครอบครองอำนาจรัฐ เข้ามาสูบผลประโยชน์ของประเทศไปเป็นของตัวและพวกพ้อง จึงต้องทำให้ “ผู้ที่กลุ่มผู้มีอำนาจเห็นว่ามีจริยธรรม คุณธรรมมากกว่ามาควบคุมอำนาจรัฐ” เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติจะได้รับการจัดการจัดสรรอย่างถูกต้อง

ในเรื่องนี้แรงเสียดทานที่น่าสนใจอยู่ที่ “การทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นผู้ที่ไม่สามารถไว้วางใจในความรับผิดชอบต่อจริยธรรม” และ “ฝากความหวังเรื่องคุณธรรมที่ดีงามไว้ที่คนกลุ่มหนึ่ง” เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการยอมรับได้หรือไม่ จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ก้มหัวอยู่ในสภาพที่สำนึกว่า “ตัวเองไร้จริยธรรม” จนต้องให้ “สิทธิพิเศษที่เหนือกว่าในอำนาจการเมือง” กับคนกลุ่มหนึ่งนั้น จะทำอำนาจบังคับให้ยอมรับความคิดเช่นนี้ได้นานแค่ไหน

และที่สำคัญแน่ใจได้แค่ไหนว่า “อภิสิทธิ์ชน” ทั้งหลายจะอดทนกับภาระที่ต้องแบกป้าย “จริยธรรมเหนือกว่า” ไว้ได้

ในทางสังคม ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก “การกระจายอำนาจออกไป” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงภาระที่ต้องดูแลความทุกข์ ความสุขของตัวเอง ใช้ “กฎกติการ่วมกัน” เป็นเครื่องมือในการตัดสิน มาเป็น “การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง” ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนดตัดสินความถูก ความผิด ใครควรถูกลงโทษ ใครควรได้รับการคุ้มครองดูแล

แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นคือ ความสงบเรียบ ร้อยที่เกิดจากการให้น้ำหนักการชี้ขาดไว้ที่“กลุ่มคนที่ได้รับการสถาปนาความเชื่อมั่นว่าเป็นคนดี” จะส่งผลอย่างไรต่อการยอมรับของประชาชน

เหล่านี้คือปัจจุบัน

ผลของแรงเสียดทานในปัจจุบัน ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมนัก เพราะการใช้อำนาจอย่างเข้มข้น ยังเป็นที่สยบยอมของคนส่วนใหญ่

ปัจจุบันยังเป็นไปเช่นนี้

แต่อนาคตที่โลกทั้งโลกเคลื่อนไปด้วยค่านิยมใหม่ ท่างกลางพัฒนาการของเครื่องไม้เครื่องมือที่ไปสู่เป้าหมายเชื่อมทุกอณูของโลกให้เป็นหนึ่งเดียว

แรงเสียดทานกับประเทศที่สร้างระบบไว้ด้วยกรอบความคิดของ “ผู้เฒ่า” ที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ “ความดีงามในทรรศนะของตัวเอง” จะเป็นอย่างไร

จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต ผลสะเทือนของแรงเสียดทานระหว่าง “โลกใหม่” กับ “สังคมเก่า”

ได้แต่ต้องให้ “คนรุ่นใหม่” วิเคราะห์หาคำตอบกันไว้ เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะต้องรับชะตากรรมจากแรงเสียดทานรุนแรงนั้น

หาใช่ “ผู้ชรา” ที่สถาปนาตัวเองเป็นเหล่าคนดี แล้วพยายามนำเสนอความห่วงใยที่จะต้องค่อยๆ ล้มหายตายจากไปไม่

……………….

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image