อจ.ป๋วย-พี่ทำนุ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ครบ 100 ปี ชาตกาล ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อีกมุมที่ควรรำลึก ได้แก่ข้อเขียนที่สะท้อนทรรศนะและจุดยืนของอาจารย์ป๋วย ซึ่งมีหลายชิ้นด้วยกัน

อาทิ คำกลอนเตือนรัฐมนตรีที่ไปเป็นกรรมการธนาคารต่างๆ (2507), จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง (2515) จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (2516)

โดยเฉพาะจดหมายที่อาจารย์ป๋วยใช้ชื่อ นายเข้ม เย็นยิ่ง เขียนถึง ผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ที่ดัดแปลงมาจากชื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯสมัยนั้น

Advertisement

ขณะนั้น อาจารย์ป๋วยออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไปสอนหนังสือในต่างประเทศ และทราบถึงการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม เมื่อ 17 พ.ย.2514 ทั้งที่เพิ่งเลือกตั้งเมื่อปี 2512 และจอมพลถนอมเป็นนายกฯอยู่แล้ว

จดหมายนายเข้มเริ่มต้นชื่นชม “พี่ทำนุ” ที่ได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 และเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลง

ผู้ปกครองหมู่บ้านได้ โดยสันติวิธี ถือหลักประชาธรรม ที่อำนาจสูงสุดมาจากประชาชนหมู่บ้านไทยเจริญ ฯลฯ คือ การเลือกตั้งเมื่อ ก.พ.2512

Advertisement

“..บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้าน และเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจ ของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ”

“เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่า เป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญ และทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆ ที่ร้ายอยู่นั้น จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่างที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา”

จดหมายนายเข้มกล่าวว่า ปัญหาความสงบเรียบร้อย ภัยจากภายนอก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาเยาวชน ล้วนแก้ไขได้โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน หรือรัฐธรรมนูญ ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาหมู่บ้าน หรือ “สภา” ให้เลือกใหม่ก็ทำได้

“ข้อสำคัญที่สุดก็คือ การจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย” จดหมายระบุ

ตอนท้าย นายเข้มวิงวอนให้พี่ทำนุเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 หรืออย่างช้าอย่าให้ข้ามปี

อย่างไรก็ตาม “กติกาหมู่บ้าน” ที่นายเข้มเรียกร้องมาเกิดจริงๆ หลัง 14 ตุลาฯ 2516 หลังจากพี่ทำนุระเห็จไปบอสตัน สหรัฐอเมริกาแล้ว

จดหมายฉบับนี้อายุ 44 ปีแล้ว แต่ยังไม่ตกยุคแต่ประการใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image