คนอยากจน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะตัดสินใจดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคม ให้เงินช่วยเหลือคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ผ่านบัตรสวัสดิการคนจน เป้าหมายจะเริ่มเติมเงินใส่บัตรตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย 40,000 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่าง ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม ขาดแคลน มีไม่พอกินกับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบหลายรอบมากขึ้น

เพื่อให้คนจนลืมตาอ้าปากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลักการข้อนี้คงไม่มีใครคัดค้าน

กระนั้นก็ตาม เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะทำในนามประชารัฐ สวัสดิการสังคม หรือประชานิยมแฝงก็ตาม เงินที่ใช้มาจากภาษีซึ่งเป็นเงินของส่วนรวม ควรใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

Advertisement

ประเด็นปัญหาอยู่ที่วิธีการปฏิบัติ ซึ่งส่งผลในระยะยาวหากก้าวพลาด

นั่นคือต้องจ่ายตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง คนจนจริงๆ คนยากจน ไม่ใช่คนอยากจนที่ฉวยโอกาสเข้ามาสวมสิทธิ

จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 14.1 ล้านคน ตัดกลุ่มผู้มีเงินฝากและที่ดินเกินจำนวนออก 2.5 ล้านราย เหลือ 11.6 ล้านราย

Advertisement

ข้อมูลที่น่าศึกษานอกจากระดับการศึกษา ปริญญาตรี โท เอก มีเท่าไหร่แล้ว อีกมุมหนึ่งก็คือ ช่วงอายุ หรือช่วงวัยของผู้มาลงทะเบียน เป็นคนวัยทำงานเท่าไหร่ คนนอกวัยทำงานเท่าไหร่

คิดเทียบกับจำนวนประชากร 70 ล้านคน ตัดเด็กและคนแก่ออกไปอีก มีคนจนที่รายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี หรือไม่ถึง 100 บาทต่อวัน มากถึง 11.6 ล้านคน เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ น่าคิด ในความเป็นจริง มีมากขนาดนั้นจริงหรือ คนไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำจริงๆ กับคนไม่ทำงานต้องจำแนกแยกแยะให้ชัด

วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนเก็บของเก่า คนรับจ้างทั่วไป ทำกันจริงๆ จังๆ วันๆ หนึ่ง รายได้เกินกว่า 100 บาทอยู่แล้ว

คนแก่ที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา 600-1,000 บาทต่อเดือน กับบำนาญชราภาพตามระบบประกันสังคมเดือนละ 3,200 กว่าบาทหรือต่ำกว่านั้นตามฐานเงินสะสมที่นำมาคิด รวมกับรายรับอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะเกิน 2,500 บาทต่อเดือน หรือ 30,000 บาทต่อปี คนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไหร่

ฉะนั้นการตรวจสอบสภาพจริงเพื่อเข้าถึงคนที่มีคุณสมบัติควรจะได้รับจริงๆ ต้องรัดกุม สอบถามรายรับ แล้วควรสอบถามรายจ่าย ควบคู่กันไปหรือไม่

จํานวนโทรศัพท์มือถือ รุ่นมือถือ ค่าโทรศัพท์ ค่าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต บริการพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด เพราะถูกชักชวนให้ใช้เพื่อไทยแลนด์ 4.0 กันถ้วนหน้า

ทางการพยายามโฆษณาความทันสมัยของคนไทย ตัวเลขการใช้โทรศัพท์มือถือ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่กลับสวนทางกับรายได้และตัวเลขคนจน อย่างมีนัยสำคัญ

การดำเนินนโยบายสาธารณะ สังคมจึงต้องมีส่วนร่วม ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน หรือท้วงติงเพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้น

ไม่ใช่ไม่เห็นใจคนจน หรือทีนโยบายจะช่วยคนจน ทำเรื่องมาก คิดมาก คิดเล็กคิดน้อย แต่กับคนรวย กลับไม่เข้มงวดเร่งรัด อย่างภาษีทรัพย์สิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อืดอาด ยืดยาด ชักช้า ที่ว่าจะใช้ตั้งแต่ปี 2560 เลื่อนออกไป 2561 2562 ไม่รู้จะมีผลใช้บังคับหรือไม่

ประการหลังนี่แหละครับ ต้องช่วยกันเร่งรัด กระตุ้น ผลักดันให้ออกมาใช้เสียเร็วๆ เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งในทางปฏิบัติ บัตรเติมเงินคนจน เดือนละ 2,900 บาทต่อเดือน เป็นค่ารถไฟไม่เกิน 1,000 บาท รถ บขส.ไม่เกิน 800 บาท ขสมก. ไม่เกิน 600 บาท ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 200 บาท ค่าน้ำประปาไม่เกิน 150 บาท ซื้อสินค้าร้านธงฟ้าไม่เกิน 100 บาท ค่าก๊าซหุงต้มไม่เกิน 15 บาท

วิธีการจ่าย หรือหักเงินจากบัตรจะทำอย่างไร รถไฟ รถ บขส. รถ ขสมก. ไฟฟ้า ประปา ร้านธงฟ้า ร้านขายก๊าซ ต้องติดเครื่องรูดบัตรกันพร้อมหน้า ใช่หรือไม่

ฉะนั้นจึงน่าติดตามความทันสมัยที่กำลังตามมา

คําถามคือว่า นโยบายนี้จะดำเนินไปยาวนานแค่ไหน เพียงแค่หมดวงเงินที่ตั้งเค้าไว้ หมดแล้วก็แล้วกัน หรือจนกระทั่งหมดอายุรัฐบาลนี้ หรือช่วยเหลือ เติมเงินในบัตรสวัสดิการให้ตลอดไปเช่นเดียวกับเงินสวัสดิการคนแก่ เบี้ยยังชีพคนชรา เงินสวัสดิการประกันสังคม ประกันชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนสะสมเอง นายจ้างและรัฐสมทบให้ส่วนหนึ่ง

พร้อมไปกับการติดตามผลจากนโยบายนี้ เพื่อไม่ให้ส่วนรวมถูกหลอก หรือหาคะแนนนิยมล่วงหน้า ทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองกันก่อน

ความจนเกิดจากสาเหตุอะไร ไม่มีงานทำ ไม่ทำงาน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกฉ้อโกง เจ็บป่วยเก็บเงินมาทั้งชีวิตถูกโรงพยาบาลเอกชนขูดรีด โรงพยาบาลรัฐบริการย่ำแย่ เล่นการพนัน ติดยาเสพติด สุรายาเมา หรือเหตุเพราะ ระบบ โครสร้างที่หละหลวม กฎเกณฑ์ กติกาไม่เป็นธรรม

กลับมาถึงคำถามอมตะนิรันดร์กาล จะโทษคนหรือโทษระบบ

นโยบายนี้ด้านหนึ่งก็ดี แต่อีกด้านหนึ่งในทางกลับกัน น่าคิดเช่นกัน

ทำให้คิดถึงคำพูดที่ว่า ให้ปลากับให้เบ็ดตกปลา อะไรจะยั่งยืนกว่ากัน อีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image