แทรกแซงภาษา โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

อาการแทรกแซงสื่อในภูมิภาคอาเซียนดูจะแทรกซ้อนขึ้นมาพร้อมๆ กัน

หลังจาก Cambodia Daily หนังสือพิมพ์เอกชนเจ้าใหญ่ในกัมพูชาถูกปิดตัวไปเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.ย. เพราะเจอรัฐบาลเรียกภาษีรวดเดียว 200 ล้านบาท จึงยอมปิดฉากการเป็นสื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุน เซน อย่างเปิดเผยมา 24 ปี

ฉบับสุดท้ายพาดหัวทิ้งทวนไว้ว่า ดิ่งลงสู่เผด็จการโดยสมบูรณ์ พร้อมแถลงการณ์จากบรรณาธิการ โจดี เดอจอนช์ ว่า วันมืดมนของเสรีภาพสื่อมวลชนในกัมพูชา

ถัดมาอีกวันหนึ่ง BBC บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ ภาคภาษาพม่า ที่มียอดผู้ชม 3.7 ล้านคน หยุดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็มเอ็นทีวี สถานีร่วมทุนระหว่างเอกชนกับรัฐบาลเมียนมา

Advertisement

บีบีซีไม่ยอมถูกเซ็นเซอร์ให้ถอดบางรายการออก เพียงเพราะบีบีซีเรียกชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงยา ว่า โรฮิงยา แทนที่จะเป็น เบงกาลี ตามที่รัฐบาลและกองทัพพม่าต้องการ

ความเคลื่อนไหวนี้นอกจากทำให้คิดถึงผลกระทบในด้านเสรีภาพสื่อมวลชนแล้ว ยังนึกถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยที่เพิ่งต้อนรับผู้นำกองทัพของพม่าไปเมื่อไม่นานนี้ ว่าเขาอยากให้ไทยเรียกโรฮิงยา ว่า เบงกาลี เหมือนกัน

ยังดีที่ว่าทางการไทยยังไม่มีประกาศมาตราใดออกมาบังคับ จึงทำให้สื่อมวลชนไทยยังเรียกโรฮิงยาได้เหมือนเดิม แม้จะต่างกันที่ตัวอักษรซึ่งบางเจ้าใช้ว่า โรฮิงญา หรือบางสื่อใช้คำตามความเห็นของราชบัณฑิตว่า โรฮีนจา ตามการถอดคำทับศัพท์ภาษาพม่าและหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการพม่า

Advertisement

อีกประเด็นที่สำคัญซึ่งนักวิชาการเน้นย้ำก็คือการจะเรียกชื่อประเทศอื่นว่าอะไรเป็นสิทธิและอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นๆ

ปัจจุบันทางการไทยเรียกทางการพม่าว่า เมียนมา ก็เพื่อให้เกียรติตามการเปลี่ยนชื่อของเพื่อนบ้าน เพียงแต่ในชีวิตประจำวันหรือในการศึกษาประวัติศาสตร์เราก็ยังชินกับการเรียกพม่าเหมือนเดิม

กรณีโรฮิงยา ผู้เชี่ยวชาญชาติพันธุ์กล่าวเตือนว่า การที่เราจะไปเรียกชนชาติหรือชนเผ่านั้นว่าอะไร ควรจะเคารพชื่อตามที่เขาเรียกตัวเอง และศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ให้ลึกซึ้ง

โรฮิงยาไม่ใช่เบงกาลี แม้หน้าตาคล้ายกัน แต่ภาษาและวัฒนธรรมนั้นไม่เหมือนกัน ชนเหล่านี้อยู่ในรัฐยะไข่หรืออารกันมาช้านานแล้วและมีจำนวนอยู่ในพม่าราว 1 ล้านคน

เราควรเคารพความเป็นชนชาติต่างๆ ที่หลากหลายในโลกนี้หรือไม่ ให้นึกถึงเวลาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศแล้วโดนทักว่าเป็นคนจีน เรายังต้องบอกว่าไม่ใช่ เราเป็นคนไทย

ไม่เพราะเรามีอธิปไตยของตนเอง วัฒนธรรมและภาษาของเราก็ต่างจากจีน

กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงเวลานี้คือการที่สำนักงานกำกับดูแลคลื่นความถี่วิทยุฮ่องกง ปิดสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมงของบีบีซีที่ให้บริการมาตั้งแต่ 2521 และทดแทนด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติของจีน หรือซีเอ็นอาร์

ความเคลื่อนไหวนี้นอกจากจะถูกมองเป็นเรื่องเสรีภาพสื่อแล้ว ยังมีข้อสังเกตเรื่องภาษาด้วย

เนื่องจากวิทยุซีเอ็นอาร์ใช้ภาษาจีนกลาง หรือแมนดาริน ไม่ใช่จีนกวางตุ้ง ภาษาท้องถิ่นของชาวฮ่องกง

การรุกคืบของจีนไปทางสื่อฮ่องกงแบบนี้ คงได้แต่ติดตามด้วยความเห็นใจ

…………………..

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image