ทางออก ส.ว.ลากตั้ง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

การตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แม้จะบอกเหตุผลอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เกรงจะเกิดการผูกมัดและครหาว่าไปสุมหัวกัน ซึ่งต้องรับฟังทุกฝ่ายก็ตาม

ท่าทีดังกล่าวสะท้อนถึงชั้นเชิง ลีลาทางการเมือง นักการเมืองมืออาชีพยังต้องยอมรับคารวะ เพราะมีความหมายทางการเมืองไม่น้อยทีเดียว

ที่สำคัญ เป็นการแสดงออกภายหลังจากที่มีข้อเสนอแนวคิด ส.ว.ควรมาจากการสรรหาทั้งหมด เพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ขณะที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอแนวทางให้มาจากการเลือกของกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ

ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะพยายามทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

ท่าทีของนายมีชัยต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบงำ ชี้นำจากแม่น้ำสองสายหลัก จึงต้องการรักษาระยะห่างไว้ในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็เปิดช่องหายใจให้กับคณะกรรมการยกร่าง สามารถพิจารณาข้อเสนอวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา เปรียบเทียบกับแนวทางของกรรมการได้อย่างเต็มที่

หากไปรับมติของที่ประชุมแม่น้ำห้าสายมา จะทำให้กรรมการร่างคนอื่นๆ อึดอัด ลำบากใจ ส่งผลถึงภาพความเป็นอิสระของกรรมการร่างโดยตรงทีเดียว

และถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญยืนกรานตามแนวทางเดิม ประธานก็ย่อมมีข้ออ้างได้ว่า เป็นเรื่องของมติที่ประชุม

ลีลา ท่าทีทำนองนี้จะเรียกว่าแทงกั๊ก หรือไม่ใช่ก็แล้วแต่ ผมเห็นว่า นี่แหละชั้นเชิงระดับเซียนเรียกพี่ทีเดียว

แต่หากมองด้านกลับ กลับทำให้ปัญหาความแตกต่างเรื่องที่มาของวุฒิสมาชิกดำรงอยู่ต่อไป แทนที่ถกแถลง อภิปรายกันด้วยเหตุผลอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าแนวทางใดส่งผลดีกว่ากัน นอกจากสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าแล้ว ยังจะส่งผลถึงการลงประชามติให้การรับรองเป็นไปได้มากกว่าอีกด้วย

การเลือกที่จะไม่เข้าประชุม นอกจากไม่ต้องการให้เกิดการโต้แย้งหักล้างกันแล้ว คงประเมินแล้วว่า ผลน่าจะออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายมีชัยไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนถึงขั้นปฏิเสธแนวทางวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ขอยืนยันในแนวทางเดิมของกรรมการยกร่างก่อน และขอฟังเหตุผลของฝ่ายผู้เสนอแนวทางสรรหา ก่อนจะพิจารณาและตัดสินใจในที่สุด

ฉะนั้น จุดยืนของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคนในเรื่องนี้จึงมีความหมาย และมีผลต่อการลงประชามติอย่างแน่นอน

ว่าไปแล้ว ทางออกเพื่ออุดช่องว่างของข้อโต้แย้ง กรณีวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกของกลุ่มอาชีพ ที่เกรงว่าจะเกิดการบล็อกโหวตและไม่เชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ไม่น่าจะยุ่งยากซับซ้อน ผมมีข้อเสนอดังนี้ครับ

แทนที่กระบวนการเลือกกันเองระหว่างกลุ่มอาชีพจะสิ้นสุดแค่การเลือกในระดับจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ได้รับเลือกได้เป็นวุฒิสมาชิก 200 คนครบเป็นอันจบกัน ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ เพิ่มขั้นตอนที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงเข้าไป

โดยการเลือกระหว่างตัวแทนกลุ่มอาชีพตามขั้นตอนเดิมให้เลือกมาจำนวนสองเท่า ได้รายชื่อแล้วก็ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกในขั้นตอนสุดท้าย ใครได้คะแนนมากกว่าได้เป็นวุฒิสมาชิก

แนวทางนี้เป็นการสนับสนุนทั้งหลักการวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรง และหลักการที่ให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตามกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายอีกด้วย

ซึ่งน่าจะเหมาะกว่ามาจากการสรรหา ถึงแม้จะปรับกระบวนการที่เข้มงวดกว่าที่ผ่านมาก็ตาม ไม่อาจหลีกพ้นข้อตำหนิเป็นพวกลากตั้ง เพื่อสืบทอดอำนาจเหนือฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนไปได้

โอกาสที่จะผ่านประชามติมีน้อยกว่าแนวทางเดิมของกรรมการยกร่างอีกด้วย

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเลือกตั้งหรือลากตั้งก็ตาม ประเด็นที่ต้องยืนหยัดในร่างก็คือบทบัญญัติที่ป้องกันไม่ให้เกิดสภาพี่น้อง สภาผัวเมีย สภาสืบมรดกตกทอด ที่ให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว เพื่อป้องกันพวกที่เล่นไม่เลิก เสพติดอำนาจ เป็นแล้วติดลมอยากเป็นต่อไปเรื่อย

ในขั้นตอนยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ควรแก้ไขนิยามคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสียใหม่ ให้ครอบคลุมถึงองค์กรที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือในชื่ออื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

มิเช่นนั้น บทบัญญัติที่เขียนไว้ว่า ห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในสองปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะยังคงกลับไปนั่งเป็นอะไรต่อมิอะไรกันได้อีกเช่นเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image