ควันหลงซีเกมส์ สีสันแห่งอาเซียน : โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

SEA GAMES กีฬาของภูมิภาคอาเซียนที่ผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 19-30 สิงหาคม 2560 เป็นมหกรรมกีฬาแมตช์ยักษ์ของอาเซียน ชื่อว่า กีฬาซีเกมส์ เป็นครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ ซึ่งผลการแข่งขันโดยสรุปรายงาน เป็นที่ทราบกันแล้ว ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าเหรียญทอง สื่อมวลชนติดกัณฑ์เทศน์กันขรมว่าเป็น “ซีโกง” บ้าง “ซีเกมส์” หรือเกี้ยเซี้ย แต่ช่างเถอะ ถือว่า “กีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ” ก็แล้วกัน
“ซีเกมส์” ที่จัดเป็นปฐมฤกษ์ครั้งแรกมี “ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2502 (ค.ศ.1959) ใช้ชื่อ “กีฬาแหลมทอง”…(South East Asian Peninsular Games) หรือเซียปเกมส์ (SEAP GAMES) ประกอบด้วย 6 ประเทศที่เป็นสมาชิก เริ่มต้น คือ ประเทศไทย เมียนมา มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์

วิวัฒนาการทางการเมืองของโลกยุค globalization ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้มีการรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เห็นความสำคัญในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ณ จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 เป็นเวลา 50 ปีมาแล้ว รวมตัวกันใช้ชื่อว่า “Association of South East Asia nations” หรือ ASEAN จากประเทศที่เอกลักษณ์เป็นของตัวเองมีหลากหลาย หลากสีสัน หลากวัฒนธรรม มารวมตัวกันเป็นหนึ่ง มาเป็นภูมิภาคแห่งความแข็งแกร่ง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันผนึกกำลังกันทั้งทาง…“เศรษฐกิจและวัฒนธรรม” 10 ประเทศที่มาจากความต่างกัน มีสีสัน มีความจัดจ้านในแบบฉบับของตัวเองซึ่งเป็นเอกลักษณ์ เมื่อมาผสมรวมกลุ่มกัน “อาเซียน” จึงจัดได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีลีลาและสีสัน ที่ผสมกันได้อย่างลงตัว และสวยงาม บางประเทศโดดเด่นในเรื่อง…วัฒนธรรมกัน บางประเทศเด่นชัดในวิถีแห่งศรัทธา

วาระที่ ASEAN มีอายุครบ 50 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะทำความเข้าใจรู้ตัวเหล่าสีสันของแต่ละประเทศ รวมทั้งเดือนสิงหาคม 2560 นี้ช่วงวันที่ 19-30 สิงหาคม มีมหกรรมกีฬาของชาว “อาเซียน” ที่กล่าวข้างต้น

นอกจากกลุ่ม 10 ประเทศมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแล้ว อีกหนึ่งของกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันก็คือ “กีฬาซีเกมส์” จาก “กีฬาแหลมทอง” (South East Asian Peninsular Games) ที่กรุงเทพมหานคร จัดเป็นครั้งแรก พ.ศ.2502 (ค.ค.1959) ต่อมา ปี ค.ศ. 1967 เป็นจุดเริ่มต้นรวมกลุ่มประเทศจาก 6 ประเทศ เป็น 10 ประเทศ คือ “ASEAN” และเริ่มใช้ชื่อ “ซีเกมส์” ครั้งแรก (SEA Games : South East Asia Games) หลังจากจุดรวมตัวกันมาอีก 10 ปี คือ ปี ค.ศ.1977 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย…2 ปี คือจัดงานรอบปีที่จะจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

Advertisement

ซีเกมส์ครั้งแรกมีจำนวนชนิดกีฬา 12 ชนิด มีจำนวนนักกีฬา 527 คน ซีเกมส์ครั้งล่าสุดมีจำนวนชนิดกีฬา 36 ชนิด มีจำนวนนักกีฬา 7,000 คน ประเทศที่เข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน คือ “สาธารณรัฐ ติมอร์-เลสเต” ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ.2003 กีฬาซีเกมส์ : จัดขึ้นภายในเหตุผลที่ว่า เพื่อให้การแข่งขันกีฬาช่วยสนับสนุนความร่วมมือ ความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีในบรรดากลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กีฬา “ฮอกกี้น้ำแข็ง” และ “สเก๊ตน้ำแข็ง” ถูกบรรจุเข้าชิงชัยเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในซีเกมส์ 2017 ปีนี้

“Logo” ประจำการแข่งขันเป็น “รูปว่าวบุหลัน” คือ สัญลักษณ์ซีเกมส์ครั้งที่ 29 : เป็นว่าวพระจันทร์เสี้ยว ที่นิยมเล่นในชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย ลวดลายเป็นการรวมสีที่มาจาก “ธง” ทุกประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันสื่อความหมายคือ…ความสง่างามเกรียงไกรสัญลักษณ์ที่เป็นทางการของซีเกมส์ 2017 คือ RIMAU “เสือมลายู” มาจากการย่อของคำ 5 คำ ได้แก่ : Respect (ความเคารพ), Integrity (ความมั่นคง), Move (ความปราดเปรียว) Attitude (ความมีทัศนคติ), Unity (ความเอกภาพ) ซึ่งสื่อว่า RIMAU เป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์ที่มีน้ำใจ และมีความเป็นกันเองอีกด้วย

มาดูสีสันที่เป็นจุดเด่นด้าน “วัฒนธรรม” ของแต่ละประเทศให้ความสำคัญในความเป็น “สัญลักษณ์ของตัวตน” ของเขาเองดังนี้

Advertisement

1.เริ่มด้วยประเทศ MALAYSIA : เป็นสมาชิกก่อตั้ง “WAU” ศิลปะประดับฟ้า “มาเลเซีย” เป็นดินแดนที่มีสีสันมากมายไม่แพ้ชาติใด แต่ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติที่หลากหลาย จึงได้มีวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน ทั้งจากประชากรหลัก ชาวมุสลิม ชาวจีน และชาวอินเดีย สามเชื้อชาติ สามวิถีชีวิตหลักที่ผสมผสานกันอย่างกลมเกลียว ออกมาเป็นอาหารรสอร่อย เป็นประเพณีสืบต่อกันและแม้แต่การละเล่นที่สนุก สดใส มีสีสัน อย่าง “การเล่นว่าว” กิจกรรมยอดนิยมที่คนมาเลเซียชอบเล่นกัน Wau ออกเสียงว่า “วาอู” แปลว่า “ว่าว” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของมาเลเซีย ด้วยรูปร่างหน้าตาอันสวยงาม สีสันสดใสมีขนาดใหญ่กว่าว่าวทั่วไป (บางตัวมีขนาดเท่ากับคน) มีรูปแบบอันเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่า “วาอู” เนื่องจากรูปร่างคล้ายตัวอักษรอารบิกมีอ่านออกเสียงว่า “ว่าว” นั้นเอง วาอู มีรูปแบบรูปร่างหน้าตาสีสันเป็นแบบ แต่วาอูที่นิยมเล่นกันมากที่สุด ได้แก่ วาอูบุหลัน “Wau Bulan” ซึ่งคำว่า บุหลัน แปลว่าดวงจันทร์ ด้วยรูปของหางว่าวมีลักษณะโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกกันที่ชอบเล่นเพราะมันควบคุมง่าย ตัดลมได้ดี ขึ้นสูง อยู่นิ่ง เล่นมากในรัฐ “กลันตัน” ถึงขนาดจัดให้มีการแข่งขันระดับประเทศ ส่วนมากจัดเทศกาลเล่นว่าวกันช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้ “ว่าว” ในประเทศไทยที่นิยมเล่นกันเป็นประเพณี คือ ว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา ที่ท้องสนามหลวงทุกเดือนเมษายนของทุกๆ ปี ประชาชนคนไทยเรามักจะไปเดินเที่ยว นั่งบนเสื่อ นั่งกินเมี่ยงไทยโดยนั่งแดดล่มลมตก ดูเกมกีฬาว่าวจุฬา-ปักเป้า ผู้เขียนไม่มีวันลืมอดีตเช่นนี้ตอนเรียนหนังสือที่ศิริราช จะข้ามเรือมานั่งกินเมี่ยง ไก่ย่างส้มตำ นั่งดูกีฬา “ว่าว” ของไทยเรา ผู้เขียนเชื่อว่า “คนไทย” ไม่ลืมและต่างจังหวัดทั่วประเทศช่วงเดือนนี้จะเล่นว่าวกันทั้งประเทศเลยล่ะ รัฐบาลมาเลเซียเองก็สนับสนุนและอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เพื่อสืบสานวัฒนธรรมต่อไป จึงได้นำมาเป็น Logo ของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 29 ครั้งนี้

2.INDONESEA : เป็นสมาชิกก่อตั้ง “เครื่องเทศ” สีสันในจานอร่อย เครื่องเทศ (Spice) เป็นเครื่องปรุงที่มนุษย์รู้จักมานับพันปี เครื่องเทศไม่ได้แต่ปรุงอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นยารักษาโรคและถนอมอาหารได้อีกด้วย ย้อนกลับไปหลายร้อยปีหมู่เกาะ “โมลุกะ” หรือ “มาลูกู” ในประเทศอินโดนีเซีย ถูกเรียกโดยชาวจีน อินเดีย ชาวยุโรปสมัยนั้นว่าเป็น “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังถูกขนานนามเช่นเดิมเพิ่มเติมคือ ตอนนี้เครื่องเทศนี้จะถูกส่งออกไปทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านชนชาติอื่นอีกแล้ว เนื่องจากเครื่องเทศมีมายาวนานตั้งแต่ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะสมัยล่าอาณานิคม… “เครื่องเทศ” มีค่าดุจทอง ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนต่อรองหากประเทศใดมีเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ประเทศต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกจะมุ่งหน้าสู่เกาะตะวันออกอย่างประเทศอินโดนีเซีย ความเป็นประเทศแห่งเครื่องเทศ สีสันและความเจริญทั้งปวง อินโดนีเซีย คืออาหารท้องถิ่นที่ต้องใส่เครื่องเทศเข้าไปในส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนตามแบบชาวเกาะ ทุกวันนี้เครื่องเทศของอินโดนีเซียจึงมีความสำคัญกับคนทั้งโลกอย่างไม่รู้ลืม

3.MYANMAR : เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1997 ลำดับที่ 9 : “แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง”…พม่าเป็นประเทศสีทองอร่ามของสถูปเจดีย์และพระพุทธรูป คนไหว้พระ ไปวัด นั่งสวดมนต์ เจริญสมาธิเหล่านั้นคือ ภาพคุ้นตาที่สุดเมื่อเราก้าวสู่แผ่นดินพม่าหรือประเทศที่เรียกชื่อใหม่ว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพ
เมียนมา (Republic of the Union of Myanmar) แผ่นดินที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของผู้คน ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเหตุการณ์รอบข้างจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร ก็ไม่อาจสั่นคลอนเลยทางศรัทธาที่ดีนี้ได้

วิถีศรัทธาของชาวเมียนมานั้นไม่ใช่แค่กิจกรรม “ความเชื่อ” แต่มันคือ “วิถีชีวิต” ตั้งแต่เช้าเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ ทำบุญ ในมือแต่ละคนมักจะมีลูกประคำเก็บไว้ เวลาว่างๆ ก็สวดมนต์ วัดเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีที่พักผ่อน กินอาหาร มากวาดลานวัด หนุ่มสาวนัดกันมาสวดมนต์ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศานาหล่อหลอมคน
เมียนมาเป็นคนใจดี มีเมตตา จึงไม่ผิดที่มูลนิธิ CAF (Charitable Aid Foundation) ได้จัดอันดับให้เมียนมาเป็นประเทศที่มีใจเอื้อเฟื้อ มีมิตรภาพเป็นความมิตรเป็นอันดับ 1 ของโลกปี 2016

4.LAO : เป็นสมาชิกลำดับ 8 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1997 : “ศิลปะงามคู่แผ่นดิน” สปป.ลาว มักจะนำแหล่งท่องเที่ยว 2 แห่ง คือ “เวียงจันทน์” และ “หลวงพระบาง” เมืองหนึ่งคือ “เมืองหลวง” อีกเมืองคือ “เมืองมรดกโลก” ที่ยังมีวิถีชีวิตสงบผู้คนใจดีมีน้ำใจ ใครได้ไปเยือนมีแต่ความประทับใจกลับมา

5.VIETNAM : สมาชิกลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1995 : “สีสันเมืองเก่าเย้ายวนใจ” “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ชื่อเต็มที่เกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมาก แม้ทางการเมือง วัฒนธรรมผ่านมามากมาย ส่วนหนึ่งความทรงจำเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ในชีวิตประจำวันตามถนนหนทางตึกรามบ้านช่อง ซึ่งก็คือ อาคารสีสวยสไตล์โคโลเนียล นั่นเอง ตึกสีสดบอกเล่าถึงการมาเยือนของ “วัฒนธรรมตะวันตก” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามไม่ว่าใครก็ต้องมาตกหลุมรัก
อาคารเก่าๆ บ้านเรือนเก่าๆ สีสันสวยงามกันทั้งนั้น ได้แก่ เมืองฮอยอัน (Hoi An) เมืองเว้ (Hue) มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างจีน เวียดนาม และยุโรป และได้ถูกยกให้เมือง “มรดกโลก” อีกด้วย คือ “บ้านเรือนสีเหลืองสด”

6.BRUNEI : สมาชิกอันดับ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 1984 : “ดินแดนแห่งความสุข” ตามความเชื่อประเทศ “บรูไนดารุสซาลาม” หมายถึง ดินแดนแห่งความสุข ซึ่งไม่ผิดความเป็นจริงเลย เป็นประเทศเล็กมีประชากรไม่เกินสี่แสนคนมีทรัพยากร “น้ำมัน” สร้างรายได้ให้ประเทศชาติ ประชาชนยึดมั่นในหลักศาสนา อิสลามเคร่งครัด เป็นเรื่องสงบสุข มีอาชญากรรมในลำดับต่ำมาก อีกทั้งยังมีแวดล้อมด้วยพรรณไม้นานาชนิดถือเป็นสัญลักษณ์แห่งดินแดนสวรรค์

7.PHILIPPINES : สมาชิกผู้ก่อตั้ง 8 สิงหาคม 1967 “เทศกาล” ความรื่นเริงบนหมู่เกาะ : เป็นประเทศมีหมู่เกาะ 7,000 เกาะ กระจายตัวอยู่บนพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรมีหลากหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน ทั้งมลายู ผสมกับจีน รามัน อเมริกัน โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ อาหรับ แม้จะมีความแตกต่างสัมพันธ์ระดับหนึ่งแต่มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยหล่อรวมเขาด้วยกันคือ “เทศกาล” ความรื่นเริงในแบบฉบับชาวฟิลิปปินส์ ไม่ใช่แค่ความบันเทิงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเทศกาลมีขึ้นเพื่อให้เขาได้มีการรวมตัวแต่ละชนชาติไว้ด้วยกัน ได้มาแสดงออกให้เห็นว่า พวกเขายังคงสืบทอดเอกลักษณ์และความเชื่อเอาไว้อย่างเหนียวแน่นอย่างที่เคยเป็นมา

8.CAMBODIA : สมาชิกอันดับ 10 วันที่ 30 เมษายน 1999 “ระบำอัปสรา” ความงามอันเป็นอมตะ…ปราสาทนครวัด (Angkor Wat) หนึ่งในสถานที่สวยงามสักครั้งก่อนหมดลมหายใจ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งเมืองเสียม
ราฐกัมพูชา ที่ถูกสร้างขึ้นมาเกือบสองพันปีก่อนตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ครองอาณาจักรขอมตามความเชื่อของชาวเขมร นาง
อัปสรา คือนางฟ้า หรือเทพธิดา ที่คอยรับใช้ และดูแลศาสนสถานรูปแกะสลักของนางอัปสรา
ที่ผนังปราสาทนครวัด จัดเป็นความสวยงามและความเพลิดเพลินของผู้ได้พบเห็นอาจจะเป็นสาเหตุให้ชวนหลงใหลในความงามของนาง จนเกิดจินตนาการว่าถ้านางอัปสรามีตัวตนขึ้นมาจริงคงจะดี

9.SINGAPORE : สมาชิกก่อตั้ง 8 สิงหาคม 1967 : “การ์เดนบายเดอะเบย์” สวนสวยแห่งอนาคต : ถ้ามอง Garden by the Bay เป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เป็นสวนดีไซน์สวยล้ำสมัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก เราจะเห็นคุณภาพชีวิต เป็นธรรมชาติต้นไม้ของป่า แนวคิดและการวางแปลนเมืองของชาวสิงคโปร์ที่แทรกซึมอยู่ ณ ผืนป่าลึกอยู่ใจกลางเกาะแห่งนี้ มีประชากร 5 ล้านคนอาศัยอยู่เป็นเกาะเล็กๆ ไม่ได้มีทรัพยากรมากมาย แต่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงไม่แปลกเลยที่นี้จะมีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน

ประเทศสุดท้าย คือ THAILAND : ขนมไทย ความหวานจาก “อาหารไทย”…Thai Food ไม่แพ้ใครในโลกจริงๆ เพราะพอพูดถึงอันดับความอร่อย ความประณีต ความสวยงาม อาหารไทย ขนมไทย มักจะติดอันดับต้นๆ อยู่เสมอนอกจากอาหาร “คาว” เช่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ ฯลฯ จะเป็นหน้าเป็นตาของความอร่อยของเมนูอาหารไทยแล้ว ขนมหวานของไทยก็ไม่ธรรมดา ขนมไทยที่โดดเด่นในแง่ความประดิดประดอย สร้างสรรค์และใช้สีสัน ผนวกกับขั้นตอนการทำที่ต้องใส่ใจใช้เวลาทำเป็นขั้นๆ กว่าจะได้ขนมแต่ละชิ้นกว่าจะปั้น จับจีบทีละขั้น ต้องละเมียดละไม นอกจากทำไว้กินเองในบ้านแล้ว ยังทำไว้ในงานบุญ งานแต่งงาน งานมงคลที่เราจะใช้ถวายพระ คนทำก็ยิ่งต้องตั้งใจ เพิ่มความจริงใจจริงจังเป็นทวีคูณเพื่อให้ได้ขนมที่สวยละมุน อร่อย มีคุณภาพอย่างเช่น ทองหยิบ ทองหยอด ลูกชุบ เป็นต้น

ความเป็น “ขนมไทย” ของชนชาติไทย จึงไม่ได้สะท้อนแค่การประดิษฐ์ให้ขนมสวยงาม ไม่ใช่แค่ความอร่อย แต่ภายใต้ขนมไทยที่หอมหวานนั้น สอดแทรกด้วยความมีเสน่ห์ ความเคารพของ “ผู้ให้” ให้เกียรติ “ผู้รับ” รับมาแค่ไหนเคารพมากเท่าใด ก็ดูได้จากการบรรจงของขนมไทยที่จัดให้ท่าน นั้นคือ “ขนมไทย” นอกจากจัดเป็นอาหารยังเป็นสื่อ “วัฒนธรรมไทย ด้านจิตใจ อารมณ์” ที่สุนทรีย์ที่มอบกันและกันระหว่าง “ผู้ให้” กับ “ผู้รับ” ด้วยความนอบน้อมจริงใจต่อกันด้วยนะครับ…

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image