สงครามตัวแทนอันแสนเหน็บหนาว

ใครที่พอจะรู้จักแนวคิดเรื่อง Proxy War และ Cold War หรือแปลไทยง่ายๆ ว่า สงครามตัวแทนŽ และ สงครามเย็นŽ นั้นอาจจะพอทำความเข้าใจกับประเด็นที่ผมพยายามจะนำเสนอในสัปดาห์นี้ไม่ยากนัก สงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็นนั้นเป็นสงครามที่ประเทศมหาอำนาจจริงๆ ไม่ได้รบกันเอง แต่จะไปสนับสนุนให้เกิดการต่อสู้ในประเทศโลกที่สาม ผ่านการส่งมอบกำลังหรือจัดตั้งฝ่ายของตนเอง เช่น ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้าน การต่อสู้เหล่านี้เกิดในหลายพื้นที่ในโลก และมีระดับการเกี่ยวข้องต่างกัน บางทีก็สนับสนุนเข้าไปทางอ้อมผ่านการจัดตั้ง และช่วยเหลือ บางทีก็เข้าไปเกี่ยวข้องเอง เช่น สงครามเวียดนาม หรือสงครามปลดแอกมากมายในละตินอเมริกา หรือในบ้านเรา

ผมมองว่ากรณีของเนติวิทย์และเพื่อนที่กระทำการบางอย่างต่อพิธีกรรม 20 ปีของมหาวิทยาลัยของเขา ซึ่งลามไปถึงการลงโทษทางวินัยอันมีผลให้พวกเขาถูกตัดคะแนนนิสิตเยี่ยงเดียวกับการทุจริตในการสอบ และมีผลต่อการที่เนติวิทย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตที่ได้รับเลือกมาจากนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ผ่านตัวแทนนิสิตแต่ละคณะนั้น สะท้อนวิธีคิดและการถกเถียงในแบบสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น

ที่น่ากลัวกว่าก็คือ ฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการกระทำของเนติวิทย์และเพื่อนนั้น ต่างคิดไปว่าฝ่ายเนติวิทย์และฝ่ายมหาวิทยาลัยมีคนอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ซึ่งในระดับหนึ่งก็มีจริงๆ ก็คือต่างฝ่ายต่างมีกลุ่มที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนและคัดค้านการลงโทษจากกลุ่มโน้นกลุ่มนี้

แต่ที่ผมว่ามันเลยเถิดจากการ คิดŽ ไปสู่การ มโนŽ ก็คือข่าวลือที่เชื่อว่า ผู้มีอำนาจนั้นหนุนหลังทั้งสองฝ่าย

Advertisement

ฝ่ายต้องการลงโทษก็มีความพยายามที่จะอธิบายว่า เนติวิทย์ต้องมีคนหนุนหลัง ถึงได้มีการพยายามจัดฉากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ที่จะรองรับความคิดเห็นที่แตกต่างเอาไว้แล้ว ดังนั้น การจัดการเนติวิทย์นั้นจึงไม่ใช่แค่เนติวิทย์ แต่หมายถึงบรรดาคนที่สนับสนุนเนติวิทย์ไปพร้อมๆ กัน

ลอง (แอบ) อ่านไลน์ผู้บริหารและคำสัมภาษณ์ฉบับแรกๆ ของผู้บริหารดูสิครับ อาทิ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะมีหลายฝ่ายในสังคมซึ่งอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันคอยจับจ้องมองดูอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นทางมหาวิทยาลัยทราบมาว่ามีกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต และกลุ่มเพื่อน ซึ่งกำลังเฝ้ามองดูและอาจนำประเด็นตรงนี้ ไปขยายเป็นความรุนแรงได้Ž

หรือ ทางฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ก็เข้าใจและเคารพในความเห็นต่างและได้พยายามจัดพื้นที่ให้กับผู้ที่ประสงค์จะแสดงความเคารพด้วยการคำนับโดยมีข้อตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ในแถวที่แยกออกไป และจะมาแสดงความเคารพเมื่อกระบวนการถวายบังคมเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่กลุ่มของสภานิสิตไม่ได้เคารพข้อตกลงนั้นและพยายามจะจัดฉากให้ปรากฏภาพที่ขัดแย้งตรงข้ามกันระหว่างการถวายบังคมซึ่งไม่ได้ใช้วิธีหมอบกราบและการคำนับŽ

Advertisement

และ ผมต้องขอโทษนิสิตคนนั้นแทนอาจารย์ด้วยที่อาจจะทำอะไรเกินไป ทางจุฬาฯพยายามเปิดพื้นที่ให้กับทุกคน แต่ผมว่ามันต้องให้ความยุติธรรมและให้การเคารพข้อตกลงซึ่งมีต่อกันและกัน สำคัญที่สุดคือต้องจริงใจต่อกันด้วยŽ (ทั้งสามข้อความมาจาก http://www.tnews.co.th/contents/343912)

ส่วนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้มีการลงโทษเนติวิทย์ (ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเห็นด้วยกับสิ่งที่เนติวิทย์ทำลงไป เพราะในสถานการณ์นั้นมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เคยมีความชัดเจนจากฝ่ายผู้บริหารที่ย้ำว่าเนติวิทย์นั้นละเมิดข้อตกลงโดยไม่ไปแสดงการกระทำทางสัญลักษณ์ที่เป็นการโค้งคำนับในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ ขณะที่ฝ่ายเนติวิทย์อ้างว่าทางผู้บริหารก็ละเมิดข้อตกลงในข้อที่ว่าถ้ามีฝนตกจะเปลี่ยนรูปแบบการถวายบังคม ซึ่งในช่วงนั้นก็มีฝนตกลงมา) ก็เต็มไปด้วยข่าวที่ว่าการกระทำของผู้บริหารตั้งแต่การเอาผิดไปจนถึงการลงโทษนั้นก็มีแรงจูงใจและอำนาจอยู่เบื้องหลังเช่นกัน

สิ่งที่ท้าทายก็คือ การตัดสินใจในการลงโทษและการออกแถลงการณ์ของทางมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้คำนึงถึงความขัดแย้งทางสังคมที่คุกรุ่นขึ้นจากเรื่องนี้เลย การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยกลับนำพาเอาความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวขึ้นเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ทั้งจากการลงโทษเนติวิทย์และเพื่อน รวมทั้งถ้อยแถลงของมหาวิทยาลัยที่ออกมาล่าสุด (https://www.matichon.co.th/news/655482)

นิสิตกลุ่มนี้เลือกที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีการโดยการเดินออกไปจากแถวที่จัดไว้สำหรับพวกเขาในฐานะสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และแสดง พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ž โดยการยืนโค้งคำนับ ในขณะที่นิสิตคนอื่นๆ นับพันคนถวายบังคมอย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบŽ 

กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล พิธีถวายสัตย์ฯ แม้จะกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปี หลังการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลในปี 2530 แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของจุฬาฯ ซึ่งเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิต เจ้าหน้าที่ และนิสิตเก่าŽ

สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศŽ 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัยŽ (อ้างจากมติชนตามลิงก์ข้างต้น)

สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยเน้นย้ำในแถลงการณ์ดังกล่าวคือเรื่องของการกระทบต่อ ความศักดิ์สิทธิ์Ž ของพิธีกรรม และเชื่อมโยงไปว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนั้นเกี่ยวข้องหรือนำไปสู่ความอ่อนไหวและทำร้ายความรู้สึกของผู้คน สิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือจุดเปราะบางต่อความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันว่า การลงโทษเนติวิทย์นั้นวางอยู่บนวินัย แต่การกระทำที่นำไปสู่การลงโทษนั้นเป็นเรื่องของการละเมิดพิธีกรรม ซึ่งการละเมิดพิธีกรรมนี้ไม่เคยมีบทลงโทษมาก่อน อาทิ ถ้าทำเช่นนี้คือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพิธีกรรมแล้วบทลงโทษคืออะไร การไม่ทำตามขั้นตอนของพิธีกรรมถือเป็นการละเมิดต่อความศักดิ์สิทธิ์ที่ย้ำถึงบ่อยๆ ในแถลงการณ์นั้น โทษของการละเมิดความศักดิ์สิทธิ์คือสิ่งที่เนติวิทย์กำลังเผชิญอยู่นั้นสมควรกว่าเหตุ

หรือว่าการลงโทษเนติวิทย์นั้นมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น ทั้งที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนั้นมันจะถูกสั่นคลอนลงจากการกระทำเล็กๆ ของ เนติวิทย์และเพื่อน?

สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยควรคำนึงถึงก็คือ การละเมิดพิธีกรรมนั้นควรจะมีบทลงโทษอย่างไร การละเมิดพิธีกรรมกับละเมิดระเบียบวินัยนิสิตที่ชัดเจน เช่น การไม่ใส่เครื่องแบบนิสิต การทุจริตในการสอบ ซึ่งมีบทลงโทษที่ชัดเจนอันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยควรตระหนักให้ดีว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร แทนที่จะมองว่ากรณีนี้เป็นเสมือนสงครามเวียดนามหรือมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็น โดมิโนตัวสุดท้ายŽ ของความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านที่คุกรุ่นในสังคม

มหาวิทยาลัยจะก้าวข้ามความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยวาทกรรมของการอ้างว่าอีกฝ่ายไม่จริงใจและบิดเบือนอย่างไร โดยไม่เอาตัวเองลงไปเป็นคู่ขัดแย้งในสังคมแห่งนี้ตามความมุ่งมั่นที่จะเป็น เสาหลักของแผ่นดินŽ และเสาหลักจะวางตัวอย่างไรเมื่อถูกกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ พัดผ่านเข้ามา

การตั้งกำแพงว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้มี ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วยŽ ซึ่งถือว่าเป็น จุดยืนของมหาวิทยาลัยŽ คำถามที่สำคัญก็คือ การที่จุฬาฯนั้นผลักดันให้คนที่คิดต่างจากพวกเขาเป็นพวกเสรีนิยมตะวันตก ทั้งที่สิ่งที่เนติวิทย์ทำนั้นเป็นการแสดงออกถึงการเคารพในแบบอื่นๆ ไม่ใช่การไม่เคารพ แต่ในหลายคำสัมภาษณ์ คำแถลงการณ์ และความเห็นของฝ่ายตรงข้ามเนติวิทย์กลับมองว่าเขามีเบื้องหลังและไม่จริงใจ หรือจัดฉาก

นอกจากนั้นการเปิดประเด็นเรื่องของเสรีนิยมตะวันตก กลับเป็นจุดเปราะบางที่สองที่มหาวิทยาลัยต้องระวัง เพราะอาจจะเป็นการตั้งประเด็นที่ผิดฝาผิดตัวยิ่ง ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความแตกต่างไปจากการศึกษาแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก ทั้งที่ก็มีธรรมเนียมมากมายในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และการอธิบายว่ามหาวิทยาลัยนั้นสนับสนุนคุณค่าบางประการที่แตกต่างไปจากคุณค่าของตะวันตกก็ดูจะเป็นเรื่องที่ออกจะแปลกประหลาดไปสักหน่อย ทั้งที่ในหลายส่วนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากตะวันตกมากมายนัก

มหาวิทยาลัยไม่ควรไปตั้งกำแพงว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นที่เข้าใจของแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก ทั้งที่ในข้อถกเถียงในเรื่องของการจัดการศึกษานั้นเขาไม่ได้มาเถียงกันเรื่องของความเป็นเสรีนิยมตะวันตก หรือไม่เป็นเสรีนิยมตะวันตก มีแต่เขาจะพูดกันในเรื่องการศึกษาเสรี (Liberal Education) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของเสรีนิยมตะวันตกไปทั้งหมด

การตั้งกำแพงแบบนี้ในการสื่อสารของมหาวิทยาลัยทำให้ไม่สามารถเกิดความเข้าใจซ้อนเข้าไปจากความไม่เข้าใจกันของฝ่ายที่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนั้นสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของความขัดแย้งภายในประเทศ มาสู่การเป็นตัวแทนของความไม่เข้าใจของการเป็นตัวแทนในระดับโลกเข้าไปอีก เพราะไม่ได้อธิบายปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง แต่ไปอธิบายจุดยืนทางการเมืองของผู้บริหารที่เขียนแถลงการณ์เสียมากกว่า เพราะองค์คณะของการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่สภามหาวิทยาลัย หรือสภานิสิตที่ควรจะเป็นตัวแทนในการริเริ่มอภิปรายพฤติกรรมของเหล่าตัวแทนของเขาเสียก่อน

สมาคมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา (Associations of American Colleges and Universities) ได้นิยามว่า การศึกษาแบบเสรีนั้นจะต้องมีขึ้นในทุกสาขาอาชีพ การศึกษาเสรีนี้เป็นหลักปรัชญาการศึกษาที่สนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลนั้นมีความรู้ที่กว้างขวางและมีความชำนาญที่สามารถส่งทอดให้กันได้ รวมไปถึงการมีคุณค่า ศีลธรรม และค่านิยมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนและสังคม การศึกษาเสรีสำหรับศตวรรษนี้ถูกนิยามว่าเป็นการเตรียมให้ผู้เรียนแต่ละคนนั้นพร้อมที่จะเผชิญกับความซับซ้อน ความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนั้นพัฒนาความรู้สึกในการมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความสามารถในการสื่อสาร วิเคราะห์และแก้ปัญหาทั้งในชั้นเรียน และในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของแปรเปลี่ยนหลักการดังกล่าวมาเป็นเรื่องของรายวิชา การศึกษาทั่วไปŽ (General Education)

แนวคิด Liberal Education นี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการมีสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นสาขาเฉพาะ ซึ่งนั่นคือ Liberal Arts หรือสาขาวิชา หรือการมี Liberal Arts College ซึ่งหมายถึงวิทยาลัยเล็กๆ ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์กับนักเรียน อาทิ ชั้นเรียนที่ไม่ใหญ่ และระบบการสอนแบบเน้นการตามติดกับนิสิตกลุ่มย่อยหรือตัวต่อตัว รวมทั้งมักเน้นการสอนในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ในเชิงประวัติศาสตร์นั้นการศึกษาเสรีนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของอเมริกาในยุคหลังสงครามเลิกทาส ประธานาธิบดีลินคอล์นออกกฎหมายให้เกิดมหาวิทยาลัยรัฐที่มีที่ดินของตัวเอง เพื่อให้มีการศึกษาตามหลักปรัชญาการศึกษาเสรี และให้คนมีความชำนาญในการทำงาน

นอกจากนั้นในบางสังคมอย่างอเมริกานั้นยังเชื่อว่า การศึกษานั้นเป็นรากฐานของเสรีภาพที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของประชาธิปไตย หรือในกรณีของบิดาแห่งปรัชญาอย่างโสเครติสนั้น การตั้งคำถามกับชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ และนั่นก็คือภารกิจของการศึกษา ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาในความหมายของการปลดปล่อยความคิดจากการครอบงำกดขี่ของนิสัยและประเพณี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการผลิตผู้คนที่มีความละเอียดอ่อน รับรู้ต่อสิ่งรอบตัว และเตรียมพร้อมที่จะเป็นพลเมืองของโลก

ที่พยายามอธิบายมานี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่มหาวิทยาลัยที่ลงโทษเนติวิทย์และตั้งกำแพงต่อความไม่เข้าใจของคนอื่นนั้นจะต้องสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นเลิศผ่านการเป็นขั้วตรงข้ามกับเสรีนิยมตะวันตก เพราะการศึกษาเสรี (Liberal Education) นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกับเสรีนิยมตะวันตกไปเสียทั้งหมด (ยิ่งถ้าพวกพูดถึงเสรีนิยมใหม่นั้น บางทีไปไกลถึงการพูดถึงการศึกษาในฐานะสินค้าอีกต่างหาก ซึ่งระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยในไทยก็ถูกวิจารณ์เรื่องนี้บ่อยๆ) และเอาเข้าจริงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีหลักการดีๆ ของการศึกษาเสรี และค่านิยมเสรีนิยมตะวันตกอยู่มากมายที่เป็นที่ยอมรับของโลกอยู่แล้ว สิ่งที่น่าจะทำคือการอธิบายคุณค่าของระบบความเชื่อและประเพณีของตนว่าไม่ได้ขัดกับค่านิยมของโลกและยังส่งเสริมให้ไปด้วยกันได้มากกว่าการตั้งกำแพงแบบที่เป็นอยู่

นี่คือห้วงจังหวะที่มหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมประสานความขัดแย้งในสังคม และความเชื่อมโยงของสังคมไทยกับสังคมโลกที่ท้าทาย แต่น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยกลับเลือกใช้การลงโทษและการสร้างกำแพงในแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งยิ่งเป็นการทำให้สงครามเย็นในรอบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความเชื่อมั่นในตัวตนและชัยชนะแห่งอำนาจอย่างที่เป็นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image