ความต่างของ ‘เด็กเล่นเกม’ กับ ‘เด็กติดเกม’ : โดย พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช

ใช่ว่าเด็กยุคนี้ติดเกมทุกคนก็หาไม่ อาจเป็นการมองจากร้านเกมหรือในบ้านตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของสังคม แต่เกมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุคใหม่จากความเป็นจริงที่ว่าคนทุกเพศทุกวัยต่างรู้จักและผ่านการเล่นเกมกันมาอย่าได้ปฏิเสธ ขอเพียงอย่าได้ทึกทักเองว่าการเล่นเกมของเด็กหรือผู้ใหญ่ในแง่ลบคือไร้อนาคต ต้นเหตุเกิดจากนักประดิษฐ์คิดค้นเกมต่างค้นหาธรรมชาติของมนุษย์ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เล่นทันยุคทันสมัยในสังคมสมัยใหม่ รวมถึงมองไปสู่อนาคตอย่างน่าพิศวง

ผู้ประดิษฐ์เกมมองเห็นความสุขความมัน การท้าทายการแข่งขันเพื่อชัยชนะหรือเป็นหนึ่งเดียว และการให้สติปัญญาความรู้หลากหลายสอดแทรกเข้าไปผ่านอารมณ์และความต้องการผู้เล่นตามสตอรี่ ถ้าผู้ใดเล่นเกมอย่างขาดสติและการเรียนรู้หรือขาดการไตร่ตรองสิ่งที่อยู่ในเกม ที่สุดอาจเกิดกิเลสตัณหาจนผู้นั้นขาดสติและเสพติดจนไม่อาจสลัดพ้นอำนาจสิ่งประดิษฐ์นี้ได้ และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ติดเกม”

เว้นแต่ผู้นั้นมองเห็นวัตถุประสงค์ของผู้สร้างเกมและเข้าใจธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ที่เกิดมาพร้อมๆ กับความ “อยากได้ใคร่รู้” โอกาสที่จะถูกจัดไว้ในกลุ่มติดเกมตามที่คนทั่วไปมองหรือเข้าใจในแง่ลบ เหตุเพราะผู้เล่นเกมกลุ่มนี้อาจด้อยด้วยวุฒิภาวะ สนใจแต่ความมันความสะใจเพื่อระบายแรงกดดันทางความคิดที่สะสมจนไม่มีทางเข้าใจสภาพแวดล้อม หรือเหตุจากครอบครัวแตกแยกจนเด็กขาดความอบอุ่นหรือเด็กขาดความใกล้ชิดกับพ่อแม่ เพราะต่างห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องภารกิจหรือหน้าที่การงาน เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้จึงหันหน้าไปใช้เวลาทั้งวันกับเกมจากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี

ถามว่าเด็กคนนั้นจะสลัดสิ่งที่ถูกจัดเข้าไปในสมองและความคิดจนสลัดไม่หลุดได้ง่ายนักหรือ?

Advertisement

สิ่งที่ต้องถามครอบครัวหรือผู้ปกครองเด็กคนนั้นว่าเด็กเป็นเช่นนั้นหรือติดเกมเพราะเด็กสมัครใจจะเป็นหรือเพราะยังมีเหตุแห่งปัจจัยอื่นที่เกิดจากการละเลยหน้าที่และความรับผิดชอบต่อความเป็นลูกหรือหลาน เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคิดหาคำตอบขั้นพื้นฐานเสียก่อน ก่อนที่จะลงความเห็นว่า “เด็กยุคนี้ติดเกม” (แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าเด็กติดเกมไม่ได้ ต้องดูปัจจัยแห่งเหตุก่อน)

มีข้อย้อนแย้งจากการเฝ้าดูเด็กวัยรุ่นหลายครอบครัวล้วนแล้วแต่เล่นเกมกันทั้งนั้น (ไม่ใช่ติดเกม) แต่เกมก็มีหลายระดับแบ่งเป็นสิบๆ ประเภท หลายราคา ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่รู้เรื่องชนิดของเกมและเนื้อหาของเกมที่ตอบสนองต่อวัยต่างกันของเด็กคนนั้นได้ดีแค่ไหนเพียงใด เกมที่ให้ความบันเทิงอย่างมีสาระ ให้ความรู้ให้การศึกษามีให้เลือกเสพกันในตลาดเกม มันถูกผลิตเพื่อตอบสนองนักเล่นเกมทุกเพศวัยจำหน่ายทุกวันทั่วโลก เพื่อป้อนผู้บริโภคเกมในตลาดแข่งขันเสรีทั่วโลก

ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ผู้บรรลุนิติภาวะหลายคนจบระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก ต่างมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานกันทุกคน พบว่าหากวันใดเพื่อนสนิทว่างตรงกันมักปิดห้องเล่นเกมกันเป็นชั่วโมงอย่างสนุกสนาน หรือยามว่างผู้นั้นอาจนั่งเล่นเกมคนเดียวก็ได้ ทว่า ผู้ใหญ่ก็มีสิทธิที่จะเล่นเกมได้ไม่ต่างไปจากเด็ก

บทสรุปจากการสัมภาษณ์พบว่า “มันสนุกและลับสมอง หรืออาจคลายเครียดจากงาน” เป็นต้น

บางคนเป็นโปรแกรมเมอร์จบระดับปริญญาเอกทางคอมพิวเตอร์โดยตรงก็ยอมรับกับผู้เขียนว่า ตัวเขาเองกลับจากงานบริการลูกค้า หากบางวันเครียดหรือเหนื่อยก็ยังหาทางออกด้วยการนั่งเล่นเกมอยู่เป็นปกติ เพียงแต่ไม่ได้ติดเกมและรู้จักวิธีเลือกเกมที่จะมาใช้เล่นตามความสนใจส่วนตัว แต่มักจะเป็นเกมเพื่อใช้ผ่อนคลายหรือใช้ศึกษาหาความรู้ตามที่สนใจเฉพาะด้านเสียมากกว่า

เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เข้ามาสู่อาณาจักรที่เรียกว่าสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญา หรือเรียกว่า “เกม” สั้นๆ สิ่งนี้มันมาพร้อมกับความมันในอารมณ์และความสุขอันสุนทรีย์ที่ชวนให้ใหลหลง

เด็กยุคไซเบอร์ (อาจรวมทั้งผู้ใหญ่ก็เถอะ) จึงเสพสุขอย่างไม่รู้เท่าทันก็มี หรืออย่างไม่รู้ที่มาที่ไปทางความคิดของผู้คิดสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวก็ใช่ เว้นแต่จะมีองค์กรภาครัฐหรือเอกชน หรือผู้รู้หรือครู รวมถึงผู้ปกครองหรือพ่อแม่เป็นผู้ชี้แนะถึงประโยชน์และโทษของเกมด้วยความจริงที่ว่า แต่ละวันเกมถูกผลิตป้อนตลาดเป็นหมื่นๆ เกม บริษัทผู้ผลิตต่างสร้างมันขึ้นมาเพื่อสนองตอบตลาดผู้บริโภคไม่เว้นเด็กหรือผู้ใหญ่ (จึงไม่อยากให้มองเด็กเป็นเป้าของการถูกวิจารณ์หรือถูกสังคมลงโทษดังความเชื่อของคนทั่วไป)

ทว่า ในต้นศตวรรษที่ 21 สังคมไทยเปลี่ยนไปตามยุคสังคมหลังสมัยใหม่สืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าไปไกลเกินกว่ามนุษย์ในยุคนี้จะคาดคิดถึง เกมอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ชนิดหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เรียกหา จากวันวานสู่วันนี้สังคมไทยเริ่มรับรู้และเรียนรู้เรื่องเกมต่างๆ ผ่านเครื่องเล่น นับแต่ตู้เกมไปจนโทรศัพท์มือถือ และเข้าไปมีอิทธิพลเหนือความต้องการของเด็กผู้เยาว์คนหนุ่มสาว ไปจนกระทั่งผู้บรรลุนิติภาวะก็ยังรู้สึกชอบเล่นเกมกันทั่วหน้า มันคือส่วนหนึ่งของแต่ละชีวิตของสังคมยุคทุนนิยมดอทคอมไปแล้วจนกว่าจะมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่มาแทนที่

แต่เกมคือความบันเทิงที่เปรียบเสมือนหนึ่งมีดสองคม ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นหาให้ความสุขความฉลาดจากเนื้อหาในแง่มุมของความบันเทิงในลักษณะสร้างสรรค์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกเล่นเกมประเภทให้คุณหรือให้โทษทางสติปัญญาตามวัยวุฒิไม่เลือกเพศเป็นสำคัญ

สถาบันครอบครัวจะต้องเข้าใจเรื่องสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นปฐมเหตุเสียก่อน ปัญหาในชีวิตจริงจึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่มักตามใจลูกจนไม่สนใจเนื้อหาของเกมว่าเด็กจะได้อะไรติดสมองหรือไม่? เพียงใด? หรือไม่อยากขัดใจลูกเรื่องนี้ จึงขอความกรุณาให้มองย้อนกลับเข้าไปสู่นโยบายของรัฐกับการควบคุมเนื้อหาเกมหรือร้านเกม สถาบันครอบครัว โรงเรียน มูลนิธิเพื่อสิทธิเด็กทางปัญญาและการเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย (ที่ดีที่ไล่ทันความคิดทางสังคม) อย่างเคร่งครัด

นี่คือโจทย์ที่ย้อนถามกลับไปยังแต่ละครอบครัว รัฐบาล โรงเรียน มูลนิธิคุ้มครองสิทธิเด็ก และสุดท้ายหนีไม่พ้นรวมถึงสื่อมวลชนด้วย หรือแม้แต่การโฆษณาผ่านเว็บไซต์เพื่อแย่งชิงลูกค้าก็คงจะต้องกล่าวพาดพิงด้วย เป็นภาระร่วมกันของแต่ละภาคส่วนช่วยกันชี้แนะให้สังคมกระจ่างเรื่องนี้ด้วยเถิด

ผู้เสพเกมหรือเด็กบางคน (หรือหลายคน) หากถึงจุดแข็งตัวเด็กก็ดื้อรั้นไม่รับฟังคำสั่งหรือคำตักเตือนของพ่อแม่ หรือผู้อื่น มันจะกระทบทั้งส่วนตัวเด็ก ครอบครัว และสังคมในที่สุด

นี่คือสิ่งที่นำเสนอให้มีการถกเถียงกันแลกเปลี่ยนความคิดทั้งภายในครอบครัวและสังคม

สังคมไทยไม่ต่างไปจากสังคมชาติอื่นเรื่องของเด็ก (และผู้ใหญ่) ติดเกม ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าผู้เป็นพ่อหรือแม่เข้าใจยุคเปลี่ยนถ่ายความคิดทางสังคมในต้นศตวรรษที่ 21 หรือไม่ต่างหาก และจะนำพาครอบครัวอยู่ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกกันอย่างเข้าใจ อย่างรู้เท่าทัน และไม่เกิดช่องว่างทางความคิดกับลูกของท่านในประเด็นที่กล่าวข้างต้นได้อย่างไรกัน

วันนี้สังคมโลกไปไกลกว่าที่เราคิด เมื่อพิจารณาถึงปรากฏการณ์ของโลกดังกล่าวข้างต้น กล่าวได้ว่าเป็นการเกิดสังคมหลังสมัยใหม่ (The Postmodern Society) มีข้อน่าสังเกตว่าโลกยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง ถึงความสลับซับซ้อนเข้าใจยากขึ้นและไม่อาจแก้ไขได้ทันเวลา

ขอพูดเรื่องพื้นฐานทั่วไปว่า ผู้เป็นพ่อแม่เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมลูกๆ ถึงไม่ยอมอยู่บ้านใกล้ชิดพ่อแม่ แต่ไปอยู่ร้านเกมหรือนั่งเฝ้าจอคอมพิวเตอร์และสนใจแต่เรื่องไม่สร้างสรรค์ หาเหตุแห่งปัญหาให้พบเถอะ มันอาจไม่ได้มาจากลูกฝ่ายเดียวก็ได้

กล่าวได้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในสิ่งประดิษฐ์ทางความคิดบรรจุเนื้อหาในเกมมีหลายแนวหลายระดับให้เลือกตามต้องการ ต่างวัยต่างระดับสติปัญญาของผู้บริโภค แม้แต่คนมีการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่บุคคลหลายอาชีพยังเล่นเกมเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เพราะเกมเป็นทั้งความสนุกตื่นเต้น ให้การศึกษาทดสอบเชาวน์สติปัญญาอย่างบันเทิงสร้างสรรค์ดีทีเดียว

เชื่อหรือไม่ว่าผู้ใหญ่วันนี้หลายคนสมัยเด็กบางคนบ้าเกมตื่นขึ้นมาก็คิดแต่จะเล่นเกม แต่เด็กจำนวนนี้ไม่ละทิ้งคือภาระการเรียนและหลายคนสนใจวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป ครั้นโตขึ้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อของชาติเพื่อเรียนสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วันนี้ต่างเจริญก้าวหน้าเงินเดือนงามอยู่ในโลกไซเบอร์

ณ วันนั้นจากเด็กคนหนึ่งที่เคยบ้าเกมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต่อมาเขาทำงานจากการสร้างเกมป้อนสู่ตลาดโลกจนร่ำรวยอู้ฟู่ระดับเศรษฐีไปแล้วหลายคน ครั้งหนึ่งเขาถูกจัดเป็นกลุ่ม “บ้าเกม” ขอให้เด็กหรือนักเลงเกมทั้งหลายไปค้นหาข้อมูลกันเองจากอินเตอร์เน็ตก็แล้วกัน จะได้รู้ความจริงและเกิดสติปัญญา

ถ้าสังคมมีเด็กจำนวนหนึ่งสนใจแต่เกมและอยู่กับเกมจนไม่เรียนหนังสือ เด็กกลุ่มนี้โตขึ้นไม่มีความรู้เลี้ยงชีพ อนาคตไม่รุ่งแน่ ณ วันนี้สังคมไทยหากตกอยู่ในสภาพที่กล่าวถึง ปัญหาครอบครัวจะตามมา

ข้อเขียนจึงสะท้อนเพื่อให้พ่อแม่และสังคมเข้าใจกับสภาวการณ์ที่เป็นจริงในยุค “ปัญญาประดิษฐ์” (Atificial Intelligence)

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าพ่อแม่ของเด็กจะหาทางออกให้ลูกที่ติดเกมอย่างถูกวิธีได้อย่างไร? และไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ในสภาพที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่กระทำจนลูกถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กติดเกม จะทำได้อย่างไร? หากรู้รากแห่งปัญหาย่อมแก้ไขได้ และวันนั้น ครอบครัวก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขทั่วหน้ากัน

ก่อนอื่นผู้เป็นพ่อหรือแม่ต้องเป็นผู้เริ่มต้นก่อน เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาของเกมและระดับอายุของลูกที่ควรจะสนใจเนื้อของเกมก่อนว่าให้ความสนุกสนานอย่างเดียวหรือไม่? หรือหาเกมที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิงเพื่อทดสอบความสนใจของลูกมีจำหน่ายหรือไม่? ชีวิตครอบครัวก็จะจบลงด้วยแฮปปี้เอนดิ้ง

คิดแต่สิ่งดีๆ อะไรๆ ก็ดีไปหมด ใช่ไหมครับ?

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image