ปัจจัย กดดัน ต่อสภาวะ ไม่แน่นอน จาก ‘เลือกตั้ง’

เหตุปัจจัยอะไรทำให้ “ความเชื่อ” ที่ว่าไม่น่าจะมี “การเลือกตั้ง” ภายในปี 2561 ตามโรดแมปของ คสช. และของรัฐบาลมีน้ำหนัก หนักแน่น มากยิ่งขึ้น

เบื้องต้นมาจากบทสรุปของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ล่าสุดมาจากบทสรุปด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงจาก นายพิชัย รัตตกุล

“วันนี้ผมเชื่อว่าจะไม่มีเลือกตั้งตามโรดแมปแน่นอน”

Advertisement

คำอธิบาย 1 มาจากความล่าช้าอันมาจากการยกร่างและการพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกว่า “กฎหมายลูก”

สังคมเริ่มมองว่าดำเนินไปอย่าง “เตะถ่วง”

คำอธิบาย 1 มาจากปฏิกิริยาต่อผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี สถาบันพระปกเกล้า

Advertisement

เมื่อนำ 2 เรื่องนี้มา “ประสาน” ก็จะ “โป๊ะเชะ”

ถามว่าเหตุใดจึงอ้างอิงท่าทีและความเห็นอันมาจากคนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นด้านหลัก ทำไมมาหยิบยกท่าทีและความเห็นจากพรรคเพื่อไทยมาเสริม

คำตอบไม่มีอะไรสลับซับซ้อน

เพราะนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยสำเหนียกและตระหนักโดยพื้นฐานอยู่แล้วว่า คสช.ไม่ต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” เกิดขึ้น

เรียกร้องไป กดดันไปก็ไม่เกิดผล

ขณะที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ยังเปี่ยมด้วยความหวัง ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

หรือแม้กระทั่ง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ

“เศรษฐกิจจะเป็นตัวเร่งเร้ารัฐบาล ปัญหาการกดดันทางการค้าจากสหรัฐและยุโรป ถ้ามีการเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กฎระเบียบที่ถูกกดดันต่างๆ จะผ่อนคลาย พรรคการเมืองร่วมเป็นรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจก็สามารถขับเคลื่อนได้”

ปัญหาอยู่ที่ว่า คสช.จะคิดเหมือนพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

ผลสำรวจจากการสรุปและวิเคราะห์จากสถาบันพระปกเกล้าที่ออกมาเนื่องในวาระครบรอบ 19 ปีต่างหากที่มากด้วยความละเอียดอ่อน

ละเอียดอ่อนจากคะแนนความนิยมต่อ นายทักษิณ ชินวัตร

แม้ว่าจะเป็นความนิยมในปี 2546 แต่ตัวเลขที่ทะยานไปจนถึงร้อยละ 92.9 เป็นอันดับสูงสุดเหนือกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ

แต่เมื่อนำเอาผล “การเลือกตั้ง” มาวางเรียงให้เห็น

ถามว่าเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 ใครชนะ เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ใครชนะ เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ใครชนะ และเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ใครชนะ

คำตอบคือ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

ความเป็นจริงนี้อยู่ในความรับรู้ของประชาชนแม้ว่าจะผ่านรัฐประหารจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และสร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างสูงให้กับฝ่ายตรงกันข้าม

ส่งผลให้ต้อง “เลื่อน” โรดแมปครั้งแล้วครั้งเล่าจาก “ปฏิญญาโตเกียว” เป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” กระทั่งไม่สามารถมีคำตอบที่แจ่มชัดและแน่นอน

เหมือนกับว่าการเลื่อนวาระแห่ง “การเลือกตั้ง” ให้เนิ่นยาวออกไปจะเป็นผลดีให้กับ คสช.และรัฐบาล แต่ก็เป็นผลดีในท่ามกลางการกดดันอันหนักหน่วง

เพราะเท่ากับไม่รักษา “คำพูด”

เพราะเท่ากับทำลายความคาดหวัง ไม่ว่าจะมาจากพวกเดียวกันอย่างพรรคประชาธิปัตย์ อย่างพรรคภูมิใจไทย อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรืออย่าง กปปส.

และที่สำคัญ 1 คือ ในสายตา “ต่างประเทศ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image