ไทยพบพม่า : ทำไมคนพม่าจึงชิงชังแขก? : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ปัญหาในรัฐอาระกันที่ปรากฏเป็นความขัดแย้งขั้นรุนแรงระหว่างชาวพุทธทุกหมู่เหล่ากับชาวมุสลิมโรฮีนจามีความซับซ้อนอย่างมากจนยากที่จะ “ฟันธง” ลงไปว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนทั้งสองฝั่งลุกขึ้นมาประหัตประหารกันได้ถึงเพียงนี้ ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าปัญหานี้อาจอธิบายได้จากมุมมองของการแย่งชิงทรัพยากรในรัฐอาระกัน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล และผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับการทำท่อส่งก๊าซเชื่อมระหว่างอ่าวเบงกอลในรัฐอาระกันไปสู่จีนทางตอนใต้ แต่บรรดาวาระซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจและการรุกคืบของเสรีนิยมใหม่นี้กลับถูกบดบังด้วยสิ่งที่เรียกว่า อคติทางด้านเชื้อชาติและศาสนา คนทั่วโลกจึงมองว่าความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธในพม่ากับชาวโรฮีนจาเป็นประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ประกอบกับการกีดกันให้ชาวโรฮีนจากลายเป็นชาว “เบงกาลี” หรืออีกนัยยะหนึ่งคือผลักให้โรฮีนจาเป็นผู้อพยพเข้ามาจากบังกลาเทศอย่างผิดกฎหมาย

ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่า ความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธในพม่ากับ “แขก” หรือผู้ที่อพยพเข้ามาในพม่าจากทุกภูมิภาคในอินเดียเกิดขึ้นมานมนานแล้ว และบ่อยครั้งที่อคตินี้นำไปสู่ความรุนแรงอย่างการจลาจล และการสนับสนุนให้ภาครัฐกำจัด “แขก” ออกไปจากพม่าด้วยวิธีต่างๆ อนึ่ง “แขก” ที่เป็นเป้าโจมตีของสังคมพม่าตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีทั้งที่เป็นชาวฮินดูและชาวมุสลิม การจลาจลทางเชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในทศวรรษ 1930 หรือเกือบ 1 ทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในเอเชีย ความรุนแรงนี้มีทั้งที่เป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งรายวันระหว่างชาวอินเดีย (ทั้งชาวฮินดู มุสลิม และศาสนาอื่นๆ) กับชาวพม่า และมีทั้งที่เป็นการปะทะกันที่บานปลายเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งสร้างความเกลียดชัง “แขก” อย่างหนักให้เกิดกับชาวพม่า

อคตินี้ถูกโหมกระพือโดยกลุ่มชาตินิยมพม่า ที่ต้องการใช้วาระความเกลียดชังชาวอินเดียเพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มชาวพม่า เพื่อชี้ให้เห็นความเลวร้ายของระบบอาณานิคม และเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในที่สุด นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ชาตินิยมหลายฉบับยังมีส่วนในการโหมกระพือความเกลียดชังนี้ ทั้งการตีข่าวเกินความจริง และการใส่อคติของตนลงไปเพื่อเร่งเร้าให้ชาวพม่าเกลียดชังชาวอินเดียเพิ่มขึ้น

ความเกลียดชังชาวอินเดียของชาวพม่าเกิดขึ้นในยุคอาณานิคม พร้อมๆ กับการสร้างพม่าให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชีย ธุรกิจที่เติบโตทั่วประเทศ (รัฐอาระกันเป็นฐานที่มั่นแรกของอังกฤษในพม่า) พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้อังกฤษต้องนำเข้าแรงงานอินเดียนับล้านคนเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนการผลิต ในต้นศตวรรษที่ 20 ย่างกุ้งที่เป็นเมืองท่าที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย มีประชากรที่เป็นแรงงานจากอินเดียมากกว่าชาวพม่า นอกจากแรงงานนับล้านๆ คนจะหลั่งไหลเข้าสู่พม่า คนอินเดียอื่นๆ โดยเฉพาะ

Advertisement

ผู้ที่ปล่อยกู้อย่าง “เชตเทียร์” หรือ “เชตตี้” ก็เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจุลภาค เพราะปล่อยกู้ให้กับชาวพม่าและชาวอินเดียที่มีรายได้น้อย ต่อมา ธุรกิจการปล่อยกู้ที่สร้างกำไรเป็นล่ำเป็นสันให้กับเชตตี้ทั้งในเมืองใหญ่ๆ และในชนบท และนี่จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนพม่านำมากล่าวโจมตีชาวอินเดียในพม่าว่าเป็นพวกเอารัดเอาเปรียบ ทำนาบนหลังคน และเป็นเนื้อร้ายของสังคมพม่า

นอกจากนี้ ความระแวงที่อังกฤษมีต่อคนพม่ายังทำให้อังกฤษไม่เลือกคนพม่าเข้าไปทำหน้าที่บริหารอาณานิคม ข้าราชการในระบบอาณานิคมของอังกฤษในพม่าจึงเป็นชาวอินเดียทั้งหมด มีชาวพม่าจำนวนน้อยมากที่จะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในระบบราชการระดับสูง หรือที่เรียกว่า Indian Civil Service (ICS) ชาวพม่าที่จะไต่เต้าขึ้นไปเป็นข้าราชการ ICS ระดับสูงเกิดขึ้นในช่วงปลายสุดของยุคอาณานิคมคือในทศวรรษ 1930 แล้ว ความไม่ไว้ใจชาวพม่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักชาตินิยมพม่ามักนำมาโจมตีเจ้าอาณานิคมอังกฤษอยู่เนืองๆ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่างกุ้งกลายเป็น “เมืองแขก” โดยสมบูรณ์ การเมืองในพม่าจึงถูกนำไปผูกกับการเมืองระดับชาติในอินเดียและปากีสถานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปี 1930 (พ.ศ.2473) เกิดการจลาจลขึ้น เรียกว่า “การจลาจลคอริงงี” (Coringhee Riot) คอริงงีเป็นชื่อเรียกแรงงาน (กุลี) ชาวเตลูกู (Telugu) ที่นับถือศาสนาฮินดู และเดิมอาศัยอยู่ในอินเดียทางตอนใต้ แรงงานคอริงงีในพม่าตอนล่างลุกขึ้นมานัดหยุดงานทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 1930 เพื่อแสดงพลังและประท้วงการจับกุมมหาตมะ คานธี ที่อินเดีย ต่อมาการชุมนุมกลายเป็นการประท้วงเพื่อให้นายจ้างขึ้นค่าแรง นายจ้างที่ไม่ทราบจะทำอย่างไร นำแรงงานพม่าเข้ามาทำงานแทนกุลีคอริงงี แต่เมื่อคอริงงีกลับเข้ามาทำงาน แรงงานพม่าก็ถูกขับออกไป สร้างความไม่พอใจให้กับแรงงานพม่าที่มองว่าคอริงงีเป็นแรงงานราคาถูกที่ต่ำต้อยกว่าตน การจลาจลเกิดขึ้นเมื่อชาวพม่าที่โกรธแค้นจับอาวุธเข้าโจมตีชาวอินเดียโดยไม่เลือกว่าจะเป็น “แขก” เชื้อชาติใดและนับถือศาสนาอะไร เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีชาวอินเดียเสียชีวิต 82 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน และมีชาวพม่าเสียชีวิต 9 คน

Advertisement

กบฏต่อต้านระบบอาณานิคมอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พม่าอย่างกบฏสะยาซานที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1930-1932 (พ.ศ.2473-2475) มิได้เป็นเพียงกบฏเพื่อต่อต้านอังกฤษเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงการต่อต้านคนของอังกฤษ มีการเผาทำลายบ้านเรือนของชาวอินเดียในชนบท ปล้นสะดมร้านค้า และทำลายพื้นที่ทางการเกษตรของชาวอินเดีย ความสูญเสียที่เกิดกับชุมชนชาวอินเดียยิ่งโหมกระพือความเกลียดชังให้ชาวพม่าและอคติทางเชื้อชาตินี้จะไปตกผลึกอีกทีในการจลาจลระหว่างชาวพม่ากับชาวอินเดียครั้งสำคัญที่สุดในปี 1938 (พ.ศ.2481)

การจลาจลในปี 1938 แตกต่างไปจากการจลาจลคอริงงี เพราะคราวนี้จะเป็นการปะทะกันระหว่างชุมชนชาวพุทธพม่ากับชุมชนชาวอินเดียมุสลิมในย่างกุ้ง สาเหตุหลักของการจลาจลครั้งนี้ไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าชาวพม่าไม่พอใจแผ่นพับหนึ่งที่เขียนขึ้นโดยชาวมุสลิมนามว่า “หม่อง ฉ่วย พี” อันมีเนื้อหาดูถูกดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ชาวมุสลิมโต้กลับว่าแผ่นพับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อโต้ตอบหนังสือของพระพม่าที่เขียนโจมตีศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ปี 1930 (พ.ศ.2473)

อนึ่ง ชุมชนชาวมุสลิมตามเมืองใหญ่ๆ ในพม่ายุคนั้นมิใช่มุสลิมอย่าง “โรฮีนจา” แต่เป็นชาวพม่ามุสลิมที่อยู่มาตั้งแต่เดิมที่เรียกตนเองว่า “เซอร์บาดี” (Zerbadi) มีจำนวนราวๆ ครึ่งล้าน เซอร์บาดีมองว่าตนเองคือคนพม่ามากกว่าคนอินเดีย เนื่องจากการจลาจลในปี 1938 เริ่มมาจากประเด็นที่ละเอียดอ่อนด้านศาสนา หนังสือพิมพ์ชาตินิยมหลายฉบับในพม่าจึงเล่นเรื่องนี้และโหมกระพือความเกลียดชังในเนื้อข่าวทุกวัน กระแสขับไล่ชาวอินเดียทั้งหมดออกไปจากพม่าเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่ความเกลียดชังพุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวมุสลิม การจลาจลในครั้งหลังนี้แม้จะไม่ได้มีจำนวนคนเจ็บและตายมาเท่ากับครั้งก่อน แต่สร้างความบาดหมางร้าวลึกระหว่างคนพม่าและคนที่นับถือศาสนาอิสลาม

การจลาจลในปี 1938 สิ้นสุดลงได้เพราะอังกฤษใช้ตำรวจและกองทัพเข้าสลายการชุมนุมและรักษาความเรียบร้อย แม้ความเสียหายในเชิงกายภาพจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น แต่ทัศนคติในแง่ลบที่ชาวพม่ามีต่อชาวมุสลิมในพม่าจะยังมีอยู่ และถูกถ่ายทอดลงมาจากรุ่นสู่รุ่น ชาวมุสลิมถูกผลักออกไปให้เป็นคนอื่น และเป็นส่วนเกินของสังคมชาวพุทธอันดีงามในพม่า อคติด้านเชื้อชาติและศาสนาในพม่าจะกลายเป็นปัญหาที่กร่อนเซาะความมั่นคงและความงอกงามของพม่าต่อมาจนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 (พ.ศ.2491) และจะเป็นมะเร็งร้ายที่หลอกหลอนสังคมพม่ามาจนถึงปัจจุบัน

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image