แผลเป็นยังสด แผลเก่า 2553 แผลเดิม สังคมไทย

12 กันยายน

ในงาน “รัฐศาสตร์วิชาการ” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จากนักวิชาการสู่นายกรัฐมนตรี:ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไป” มีกลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จำนวน 4 คน นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

ชูป้ายที่เขียนข้อความว่า

Advertisement

“And there were fighting on the street and people unfortunately, some people died น่าเสียดายที่บางคนก็ตาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2555”

ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวขอบคุณที่มาแสดงความเห็นและขอบคุณที่ไม่แสดงออกอย่างรุนแรง

แต่ปัญหาตอนนั้นคือมีผู้ติดอาวุธแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

อันที่จริงตนก็ถูกวิจารณ์จากอีกฝ่ายว่าทำไมส่งทหารไม่มีอาวุธเข้าไปในวันที่ 10 เม.ย.2553 จนเกิดความสูญเสีย

เมื่อมีการยิงอาวุธจากทางฝั่งผู้ชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีทางเลือกต้องขอติดอาวุธ

เพื่อเข้าปฏิบัติการต่อไป

“ผมขอย้ำว่าพยายามจะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่เมื่อมีการใช้อาวุธกลับมา มันก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย

ทุกวันนี้ก็มีวาทกรรมมาต่อว่าผมอยู่แม้ว่าศาลจะตัดสินไปแล้วก็ตาม

ดังนั้น ผมขอตั้งคำถาม ถามว่าแทนที่จะใช้วาทกรรมมาชี้หน้ากันว่าอีกฝ่ายขี้โกง เป็นฆาตกร

ทำไมไม่มาพูดคุยกันแบบปัญญาชนมาค้นหาความจริงกันดีกว่าว่ามันคืออะไร

ผ ม ยึด มั่น ใ น คำ ข วัญ ข อ ง พ ร ร คประชาธิปัตย์ว่าให้อยู่กับความจริง ถ้าเรายึดมั่นอยู่กับความจริงแล้ว สักวันหนึ่งสิ่งที่เรายึดมั่นก็จะได้รับการพิสูจน์”

ภายหลังการบรรยาย นายพริษฐ์เดินเข้าไปถามนายอภิสิทธิ์ว่า

“ท่านคิดอย่างไรกับการที่เด็กอายุ 17 ถูกยิงตายที่รางน้ำ”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ตอบด้วยสีหน้านิ่งเรียบว่า

“ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ อายุ 17 ปี ถูกยิงด้วยสไนเปอร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

ที่ซอยรางน้ำ

หนึ่งวันถัดมา

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)จะแถลงข่าวติดตามคดีทวงความยุติธรรม 99 ศพ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว ในวันที่ 14 กันยายน ว่า

ในเบื้องต้นต้องถามก่อนว่าการแถลงข่าวดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่

ถ้าเข้าข่ายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรายังไม่อนุญาตให้ดำเนินการได้ในช่วงนี้ เพราะยังมีงานสำคัญของชาติรออยู่หลายประการ

หากถึงเวลาสมควรแล้ว คสช.ก็จะผ่อนปรนให้ดำเนินการได้

หากกลุ่ม นปช.จะจัดแถลงข่าวจริง ทางเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจทหาร ก็จะเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ด้วย

ถ้ากิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ขอให้พึงระมัดระวัง

“เราไม่อยากให้คิดว่ามีความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ระหว่างฝ่ายเกิดขึ้น เพราะ คสช.พยายามรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการบริหารแผ่นดินของรัฐบาล

แต่ถ้าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อไปปลุกกระแสเป็นการเคลื่อนไหวต่างๆ เราก็บอกกล่าว ตักเตือน ขอร้อง และขอความร่วมมือให้ใจเย็นๆ ก่อน

รอให้บรรยากาศมีความเหมาะสมจะดีกว่าค่อยดำเนินการ”

และกล่าวย้ำด้วยว่า หากกลุ่ม นปช.ยืนยันจะแถลงข่าวจริงก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม

และต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำลงไป

จะเห็นได้ว่า

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายอภิสิทธิ์ก็ดี

กรณีของ นปช.ที่โยงยาวไปถึง คสช.ก็ดี

ล้วนชี้ให้เห็นว่าบาดแผลของความสูญเสียจากการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนในปี 2553

ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 99 คน และบาดเจ็บอีกนับพัน

ยังไม่ได้จางหายไปจากสังคมไทย

เหมือนจะเป็นแผลเก่า

แต่ก็เป็นแผลสดที่กดหรือกระทบครั้งใด

ก็ยังเจ็บปวดอยู่ครั้งนั้น

ตราบเท่าที่ความจริงยังไม่ปรากฏ

และความยุติธรรมยังไม่บังเกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image