คำสั่ง “คสช.” ว่าด้วย “สิ่งแวดล้อม” ขัดแย้ง “ใหม่”

พลันที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปรากฏขึ้น

ก็บังเกิดสภาพอย่างที่เรียกว่า “ผึ้งแตกรัง”

ก่อให้เกิด “เอกภาพ” ในทางความคิดของภาคประชาสังคมขึ้นมาโดยมิได้นัดหมาย ไม่ว่าจะเป็น นายเดชรัต สุขกำเนิด แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม่ว่าจะเป็น นายศศิน เฉลิมลาภ แห่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

Advertisement

รวมแล้วเป็น 46 องค์กรอันเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” และ “ทรัพยากรธรรมชาติ” ออกแถลงการณ์ ลงนามเป็นบัญชีหางว่าว

คัดค้าน ต่อต้าน

ทำให้ความพยายามสมานโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำเอา “สิทธิชุมชน” ซึ่งหายไปหวนกลับคืนมา

กลายเป็นเรื่องแทบไม่มีประโยชน์

เพราะหากโครงการขนาดใหญ่สามารถดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก็เปิดเปลือยตัวเองอย่างล่อนจ้อน

ล่อนจ้อนว่า “มาตรา 44” มีไว้ “ทำไม”

ก็อย่างที่มีบทสรุปตั้งแต่แรกที่ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 29 มกราคมมาแล้วว่า

นี่คือ “ปัจจัย” อันส่งผลสะเทือนสูงยิ่ง

ไม่เพียงแต่ความขัดแย้ง “หลัก” อันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ระหว่าง “คสช.” กับ พรรคเพื่อไทย นปช.คนเสื้อแดง จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะทวีความเข้มข้นเท่านั้น

หากยังเป็น “ลิ่ม” ที่จะทะลวงไปใน “พวกเดียวกัน”

พวกเดียวกันอย่าง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ก็ออกมาต่อต้าน พวกเดียวกันอย่าง นายแก้วสรร อติโพธิ ก็ออกมาคัดค้าน

พวกเดียวกันอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ก็แสดงความหงุดหงิด ไม่สบายใจ

ไม่ว่าจะเป็น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ไม่ว่าจะเป็น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ก็เพิ่มดีกรีร้อนแรงไปอยู่ในระนาบเดียวกันกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

พวกเดียวกันอย่าง “ภาคประชาสังคม” ก็มอง “คสช.” ด้วยสายตาแหม่ง-แหม่ง

ยิ่งเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 ออกมา บรรยากาศอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยวในทางการเมือง ยิ่งส่งกลิ่นอวลตลบ

เรียกตามสำนวน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นี่คือการทำลาย “แนวร่วม”

กลายเป็นคู่แห่ง “ความขัดแย้งใหม่” เพิ่มขึ้นในความร้อนแรงของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ

ภาคประชาสังคมอย่าง นายศศิน เฉลิมลาภ ภาคประชาสังคมอย่าง นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับ คสช.มาแล้วในทางความรู้สึก

ไม่เพียงเห็นด้วย 1 กับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หากประการสำคัญเป็นอย่างมาก 1 มีบทบาทร่วมในการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างคึกคัก

บางคน “นกหวีด” ยังเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี

แต่แล้วกาลเวลาผ่านไปยังไม่ครบ 2 ปีของรัฐประหารด้วยซ้ำ ก็บังเกิดปรากฏการณ์อย่างที่โบราณสรุปอย่างรวบรัด

“เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

เพียงเพราะต้องการเปิดทางสะดวกให้กับโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟ หรือเขื่อนบางเขื่อนที่คาราคาซัง รวมถึงท่าเรือน้ำลึกในจุดสำคัญบางแห่งทางภาคใต้

ในนามแห่ง “การลงทุน” จาก “ภาครัฐ”

ในนามแห่งความพยายาม “ร่วมทุน” ระหว่างทุนภายในประเทศกับทุนข้ามชาติ ไม่ว่าจะจากจีน ไม่ว่าจะจากออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น

รายงานผลกระทบ “สิ่งแวดล้อม” ไม่ต้อง ลงมือ “สร้าง” ได้เลย

ก่อนสิ่งแวดล้อมจะ “กระทบ” ปรากฏว่าคนทำงาน “ภาคประชาสังคม” กระทบก่อน

ความขัดแย้ง ความแตกแยกภายในสังคมมีทั้งความขัดแย้ง “หลัก” และความขัดแย้ง “รอง” เกิดขึ้นและดำรงอยู่

หากบริหาร “ความขัดแย้ง” ได้ไม่ดี ขณะที่ความขัดแย้ง “หลัก” เดิมยังมีอยู่ อาจเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งอันเคยดำรงอยู่อย่างเป็นความขัดแย้ง “รอง” อาจทวีความแหลมคมและใหญ่โตกว้างขวาง

ผลที่สำคัญเป็นอย่างมากคือเกิด “ความแตกแยก” และเกิด “การแยกตัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image