กฎหมาย ‘สัตว์’ ของ ‘คน’ : โดย กล้า สมุทวณิช

หนึ่งในกฎหมายใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ที่มีผลกระทบต่อสังคมมากที่สุด คือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 หรือ “กฎหมายห้ามทารุณสัตว์”

อาจกล่าวได้ว่า เป็นกฎหมายที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดฉบับหนึ่ง มีการบังคับใช้ต่อบุคคลทั่วไปในระดับกว้างขวาง ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งใน “ดราม่า” หรือ “ข่าวชาวบ้าน” กันบ่อยครั้ง ล่าสุดก็เรื่องข่าวนักศึกษาแพทย์วางยาสุนัขเพื่อเรียกเงินประกันจากผู้ให้บริการขนส่งสัตว์

ผู้คนจดจำกฎหมายนี้ในฐานะของ “กฎหมายคุ้มครองสัตว์” ที่การทำร้ายสัตว์นั้นถือว่ามีโทษตามกฎหมายที่ร้ายแรง เป็นอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้

แถมบางทียังอาจจะเลยเถิดไปจนเข้าใจว่า เป็นกฎหมายที่ยกสถานะของสัตว์ขึ้นมาให้เท่ากับคน หรืออาจจะเหนือกว่าคนด้วยซ้ำไป ดังวาทกรรมในช่วงหนึ่งที่ว่า ต่อยเจ้าของหมาพอให้ช้ำๆ ยังโทษน้อยกว่าตีหมาให้บาดเจ็บ หรือเจ็บร้อนกว่านั้นก็ยังมี ว่าหลายทีทำให้คนตายไปซึ่งๆ หน้า ยังอาจจะเอาโทษยากกว่าฆ่าหมาสักตัวเสียอีกในทางคดี

Advertisement

ยังไม่กล่าวถึงกรณีที่สัตว์ โดยเฉพาะสุนัขไปก่อให้เกิดอันตรายต่อคน แต่ไม่สามารถเรียกร้องหรือเอาผิดกับใครได้ในทางกฎหมายโดยง่ายดายนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่ใครสักคนกระทำการที่ถือเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์ ซึ่งตามแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่ปรากฏเป็นข่าว การฆ่าหรือทำให้สัตว์บาดเจ็บก็สามารถถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวได้แล้ว

พูดง่ายๆ กฎหมายฉบับนี้ถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจ ว่าเป็น “กฎหมายโลกสวย” โดยคนรักสัตว์เพื่อเอาผิดกับชาวบ้าน โดยไม่มองในแง่มุมอื่นๆ ตามสภาพความเป็นจริงหรือเปล่า

อันที่จริงแล้ว การกระทำทารุณกรรมสัตว์นั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของไทยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2452 และปรากฏสืบมาตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้บังคับกันอยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา 381 และมาตรา 382 เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความผิดดังกล่าวนั้นถือว่าเกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฉบับนี้ไปแล้ว ตามหลักกฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป และหลักความผิดทางอาญา ที่หากการกระทำใดเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีโทษสูงที่สุด

Advertisement

แต่นอกจากการกำหนดโทษให้สูงขึ้นแล้ว ความแตกต่างสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับที่ว่านี้ กับประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ที่มีอยู่เดิมของไทย คือ ถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายไทยที่คุ้มครอง “สัตว์” ด้วยตัวของมันเองในฐานะที่เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกรับรู้” ไม่ใช่ในสถานะของวัตถุมีชีวิตอย่างหนึ่ง หรือการคุ้มครองสัตว์ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับกฎหมายลักษณะนี้ของหลายๆ ประเทศในโลก

ก่อนหน้านี้ สถานะในทางกฎหมายของ “สัตว์” ทั้งในกฎหมายไทยและในกฎหมายต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นเหมือนทรัพย์สินอย่างหนึ่ง กฎหมายต่างๆ ก่อนหน้านั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพย์สินนั้น เช่นการกำหนดทะเบียนกรรมสิทธิ์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสัตว์ หรือการกำหนดวิธีการบำรุงพันธุ์สัตว์ไว้เพื่อประโยชน์ต่อการใช้งาน หรือมองว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติในกรณีของสัตว์ป่า

การทำร้ายสัตว์หรือฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าของ ถือเป็นความผิดฐาน “ทำให้เสียทรัพย์” ส่วนการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายก็จริง แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดในเชิงกฎหมายศีลธรรม ภายใต้ความคิดว่าการทารุณสัตว์ส่งผลกระทบต่อศีลธรรมและจริยธรรมของสังคมมนุษย์ หรือส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจของบุคคลในสังคมที่จะเกิดความรู้สึกเวทนาสงสารสัตว์ จึงต้องมีกฎหมายห้ามการกระทำดังกล่าว ซึ่งสรุปก็คือว่า การคุ้มครองสัตว์จากการถูกทารุณกรรมตามกฎหมายแต่เดิมนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือในทางจิตใจของ “คน” ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ใดๆ ของสัตว์เลย

หากมุมมองทางกฎหมายในสมัยใหม่ ถือว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พึงได้รับความคุ้มครองด้วยตัวของมันเอง โดยมีสถานะบางประการตามกฎหมายไม่ใช่เพียงทรัพย์สินอย่างหนึ่งของมนุษย์ และก็ไม่ใช่การคุ้มครองด้วยเหตุผลเชิงศีลธรรมเท่านั้น แต่สัตว์นั้นพึงได้รับความคุ้มครองในฐานะที่มันเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งที่มีชีวิตและความรู้สึกอันมีค่าในตัวของมันเอง และบางแนวคิดก็ไปไกลจนมีแนวความคิดว่าสัตว์เป็นผู้ทรงสิทธิบางประการในทางกฎหมายด้วย เพียงแต่สิทธินั้นยังไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับสิทธิของมนุษย์เท่านั้นเอง หรือกฎหมายของบางประเทศ เช่นสวิตเซอร์แลนด์นั้น ยอมรับว่า นอกจากมนุษย์จะมี “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้ว สัตว์เองก็มี “ศักดิ์ศรีของสัตว์” ซึ่งมนุษย์จะต้องให้ความเคารพด้วย

การคุ้มครองตามกฎหมายต่อสัตว์ในทางสากลนั้น ถือว่าแม้มนุษย์จะสามารถกินสัตว์เป็นอาหารหรือใช้ประโยชน์จากสัตว์โดยประการอื่นๆ ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นไปโดยเคารพในหลัก “สวัสดิภาพสัตว์” ที่จะต้องจัดให้สัตว์ได้มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่เพียงพอเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และแสวงหามาตรการในการปฏิบัติต่อสัตว์ในอันที่จะไม่กระทำการใดๆ ให้สัตว์ต้องเจ็บปวดและไม่ทรมานอย่างไม่จำเป็น โดยวิธีการที่อาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม จรรยาบรรณ และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติเข้ามาใช้ในการพิจารณาจัดสวัสดิภาพสัตว์

ดังชื่อเต็มๆ ของกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ไทย ที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติ “ป้องกันการทารุณกรรม” และ “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ที่มีเจตนารมณ์ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติว่า “…สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง…”

จากชื่อเต็มของกฎหมาย จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีสองมิติด้วยกัน คือเป็นกฎหมายห้ามการทารุณกรรมต่อสัตว์ และอีกมิติหนึ่ง คือการจัดสวัสดิภาพสัตว์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการใช้บังคับมาเกือบ 3 ปีนั้น กฎหมายฉบับนี้ปรากฏหน้าต่อสังคมเพียงหน้าเดียว คือในมิติของการห้ามการ “ทารุณกรรมสัตว์” เนื่องจากเป็นส่วนที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่หน้าของการ “จัดสวัสดิภาพสัตว์” นั้นเป็นส่วนที่ยังไม่ค่อยปรากฏ เพราะการจะต้องเป็นไปตามกฎหมายลำดับรอง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้ยังอยู่ในระหว่างการยกร่างกัน

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องของการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในกฎหมายฉบับนี้เลย ก็ยังมีมาตรา 23 ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์ไปดูแลแทน

ดังนั้น การเอาสุนัขหรือแมวไปปล่อยทิ้งไว้ จริงๆ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน ซึ่งแม้จะไม่มีโทษถึงจำคุกเท่าการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์ แต่ก็ปรับกันถึงสี่หมื่นบาท ซึ่งไม่ถือว่าน้อย เพราะหากไม่มีเงินค่าปรับก็ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับได้ในอัตราวันละ 500 บาท ถ้าหากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับเลยก็ถูกขังกันไปได้ร่วมสองเดือนกว่าเหมือนกัน

และนอกจากนี้ การที่เจ้าของปล่อยปละไม่ดูแล ให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ก็เป็นความผิดอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากสัตว์ที่ไปทำอันตรายหรือความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นเป็นสัตว์มีเจ้าของ เจ้าของสัตว์ดังกล่าวก็ต้องรับผิดในทางแพ่งในฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 ด้วย

กระนั้น แม้ตามพระราชบัญญัตินี้จะกำหนดความผิดเกี่ยวกับการทอดทิ้งสัตว์เอาไว้ หรือมีประมวลกฎหมายอาญาเอาผิดเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยสัตว์ไปจนอาจจะก่ออันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินก็ตาม แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดที่จะช่วยในการบ่งชี้ “เจ้าของสัตว์” ได้เป็นการทั่วไป แม้จะมีกฎหมายระดับท้องถิ่นกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงคือสุนัข ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ที่ให้ผู้เลี้ยงสุนัขจะต้องนำสุนัขของตนไปฝังไมโครชิปแสดงความเป็นเจ้าของ แต่ในทางความเป็นจริง ก็ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตามกฎหมายนี้สักเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกประการ คือเรื่องของสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของ แต่มีผู้อุปการะให้อาหารหรือให้ที่พักพิง การดูแลสุนัขจรจัดในลักษณะเช่นนี้ อาจจะเป็นการแสดงความเมตตาธรรม เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีที่สุนัขนั้นถูกทอดทิ้ง แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาที่ตามมา เช่นทำให้สุนัขนั้นเป็นสัตว์ติดที่และบางกรณีก็ก่ออันตรายหรือความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น และยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขอนามัยรวมถึงก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย โดยบุคคลที่อุปการะสัตว์นั้นไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนในทางกฎหมาย

ดังนั้น หากการบังคับใช้กฎหมายนี้ในมิติของการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในเรื่องของการป้องกันผู้เลี้ยงสัตว์และนำสัตว์มาปล่อยได้ น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า เพียงแต่จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพพอในการที่จะบ่งชี้พิสูจน์ตัวเจ้าของสัตว์ให้ได้ด้วย

การบังคับใช้กฎหมายในมิติของการ “จัดสวัสดิภาพสัตว์” ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะช่วยลดความรู้สึกของผู้คนที่มองกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “กฎหมายโลกสวย” หรือ “กฎหมายให้ท้ายสัตว์” หรือกฎหมายที่เห็นสัตว์ดีกว่ามนุษย์ลงไปได้ เพราะทุกคนคงยอมรับกันในหลักการอยู่แล้ว ว่าการทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพียงแต่การที่กฎหมายยังขาดส่วนที่ว่าด้วยการควบคุม “มนุษย์” ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่ว่าโดยทางตรงด้วยการเป็นเจ้าของ หรือโดยทางอ้อมจากการอุปการะ ก็ทำให้คนมองว่ากฎหมายฉบับนี้แก้ปัญหาหนึ่งลงไป แต่ก็ปล่อยอีกปัญหาหนึ่งเอาไว้

เพราะเราต้องยอมรับและเข้าใจว่า สัตว์ก็คือสัตว์ สัตว์อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรับรู้ มีความรู้สึก แต่สัตว์ก็เคลื่อนไหวใช้ชีวิตของมันไปตามธรรมชาติโดยขาดเจตนาและไม่มีเจตจำนงใดๆ ปัญหาที่เกิดจากสัตว์ เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นปัญหาของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง ที่จะต้องแก้กันไปด้วยกลไกแห่งกฎหมาย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image