บทเพลงแห่งความรัก โดย สุกรี เจริญสุข

ด้วยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้ประสานงานกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการจะจัดงานแสดงดนตรี “บทเพลงแห่งความรัก” เพื่อรำลึกเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

พระองค์ประสูติที่เมืองบอสตัน (Boston) สหรัฐอเมริกา ทรงรับการศึกษาหลักที่เมืองโลซาน (Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ ทรงรับการศึกษาดนตรีตามความประสงค์ของพระองค์ที่ทรงมีความตั้งพระทัยสูง ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สำหรับภาษาไทยนั้นทรงเรียนรู้จากครอบครัว ส่วนภาษาดนตรีนั้น ดนตรีได้กลายเป็น “หุ้นส่วนของชีวิต”

ทรงมีพระปรีชาสามารถทางดนตรีและทรงมีความสุขที่ได้ทรงดนตรี

คณะนักวิจัยดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นเรื่องดนตรีที่เป็นหุ้นส่วนสิ่งแวดล้อมอยู่รอบๆ พระองค์ ตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ อาทิ ครูสอนดนตรี การศึกษาดนตรี การทรงเครื่องดนตรี (เปียโน แซกโซโฟน คลาริเนต) การเลือกแผ่นเสียงฟังบทเพลงต่างๆ ที่ทรงโปรด นักดนตรีและบทเพลงที่ทรงโปรด

Advertisement

การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรดนตรีตามเมืองต่างๆ เมื่อเสด็จฯ เยือนนานาประชาชาติ ผู้นำของประเทศนั้นๆ ต่างจัดการแสดงดนตรีที่ดีที่สุดถวาย ทั้งดนตรีแจ๊ซ ดนตรีคลาสสิก

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้อาศัยหลักฐานจากเอกสารสิ่งพิมพ์ การบันทึก หนังสือพระราชประวัติ ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ แผ่นเสียงบทเพลงที่ทรงโปรด นำมารวบรวมแล้วคัดเลือกบทเพลงที่สำคัญที่จะนำเสนอเพื่อร้อยเรียงเนื้อหาให้เป็น “บทเพลงแห่งความรัก” ได้เห็นเส้นทางแห่งความรักในดนตรีของพระองค์

“ตอนอยู่โรงเรียนเล็กเรียนเปียโน 2 คน รัชกาลที่ 8 เรียนด้วย เรียนอยู่พักหนึ่ง พอไปเจนีวา โรงเรียนใหญ่ขึ้น ครูก็ไม่ดี แล้วไม่มีเวลาซ้อมเลยเลิก ตอนนี้ไม่ได้เลย…แต่ชอบฟังเพลง”

Advertisement

“ตอนเย็นเมื่อโรงเรียนเลิกแล้ว สองพี่น้องจะอยู่เรียนเปียโนในห้องเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งมีเปียโนหลังใหญ่ตั้งอยู่มุมห้อง ดิฉันเคยเยี่ยมๆ มองๆ ไปดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่มิได้เคยคิดอยากเรียน” จากหนังสือเฉลิมฯ 84 พรรษา 30660 : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเรียนเปียโนก็ได้ซื้อหนังสือเปียโนมาฝึกหัดเล่น ซึ่งมีบันทึกการเรียนเปียโนนั้น ใช้บทเพลง Caro Mio Ben สำหรับการฝึกเล่นเปียโน (แบบฝึกหัด) บทเพลงนี้ยังสามารถที่จะหาฟังได้

เมื่อครูสอนแซกโซโฟนและคลาริเนต ชื่อ เวย์เบรชท์ (Weybrecht) สอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อพระองค์ (เรียนทั้ง 2 พระองค์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) ใช้บทเพลง Plaisir d?amour ประพันธ์โดย Jean-Paul-?gide Martini (ค.ศ.1741-1816) บทเพลงฝึกหัดสำหรับแซกโซโฟน (อัลโต) และเปียโน (บทเพลงคลาสสิก) ซึ่งเป็นบทเพลงพื้นฐานสำหรับนักเป่าแซกโซโฟน

เมื่อครั้งเสด็จฯ เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ระหว่าง 14-18 มิถุนายน 2503) ได้ทรงดนตรีแจ๊ซ (Jam-session/Clarinet) กับนักดนตรีในงานเลี้ยง (มีบทเพลง Blue in E-flat, Back Home in Indiana, Lovely Hula Hands, Blue Hawaii, Aloha ?Oe) สำหรับผลงานเพลงของนักร้อง ทรงโปรดแผ่นเสียงจูเลีย โรเจอร์ส (Julie Rogers Hawaiian Wedding Song) และบทเพลงของเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley, Hawaiian Wedding Song, My Way, And I love You So, If You Love Me Let Me Know, I Can?t Stop Loving You)

ในวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2503 เสด็จฯ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะวันที่ 5 กรกฎาคม เสด็จฯ ไปที่บ้านพักของเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักคลาริเนตแจ๊ซคนสำคัญของโลก เป็นการส่วนพระองค์ ได้มีการเล่นดนตรี (Jam-session) ใช้เวลาถึง 90 นาที ซึ่งมีบทเพลง อาทิ My Fair Lady, The Sheik of Araby, On the Sunny Side of the Street และ Honeysuckle Rose เป็นต้น

บทเพลงที่แวดล้อมรอบชีวิตของพระองค์ (โดยเอกสาร) มีทั้งดนตรีแจ๊ซโบราณ แจ๊ซสมัยใหม่ บทเพลงคลาสสิก โอเปร่า บัลเลต์ อาทิ เพลง Ol? Man River ของ Paul Roberson

สําหรับดนตรีแจ๊ซนั้น ทรงโปรดนักดนตรีและสะสมแผ่นเสียงทั้งของนักร้องและนักดนตรี อาทิ ผลงานของหลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักเป่าทรัมเป็ตแจ๊ซชาวอเมริกัน โดยมีแผ่นเสียงชุดต่างๆ อาทิ Coal Cart Blues, Come On And Stomp โดยมีเอ็ดดี้ เดวิส (Eddy Davis) เล่นแบนโจ และโปรดวงนิวออร์เลียนแจ๊ซ (New Orleans Jazz) ชุดที่มีวูดดี้ อัลเลน (Woody Allen) และเอ็ดดี้ เดวิส (Eddy Davis) เล่นแบนโจ แผ่นเสียงชุดของไมล์ส เดวิส (Miles Davis) เป่าทรัมเป็ต (ค.ศ.1959) แผ่นเสียงชุดของเช็ต เบเกอร์ (Chet Baker) นักเป่าทรัมเป็ตแจ๊ซ นักโซปราโนแซกโซโฟนแจ๊ซอย่างซิดนีย์ เบเซต์ (Sidney Bechet) นักเป่าอัลโตแซกโซโฟนแจ๊ซอย่างจอห์นนี่ ฮอดเจส (Johnny Hodges) และนักเปียโนอย่างดุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) เป็นต้น รวมทั้งผลงานของเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักคลาริเนตชาวอเมริกันด้วย

นักร้องที่ทรงโปรด อาทิ เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) แผ่นเสียงชุดดิ๊กซี่แลนด์แจ๊ซต้นตำหรับ (Original Dixieland Jazz Band) ซึ่งมีแผ่นเสียงอยู่หลายชุด นักดนตรีหลายคนจะเป็นนักร้องด้วยในเวลาเดียวกัน นักร้องผู้ชายที่มีชื่อเสียงมากอย่างแฟรงค์ ซินาตร้า (Frank Sinatra) ได้บันทึกเสียงร้องไว้จำนวนมาก

เมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองไบรอยท์ ประเทศเยอรมนี (26 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2503) ทอดพระเนตรการแสดงโอเปร่า (Lohengrin) ของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) บทเพลงเริ่มด้วยทำนองเพลง (ตัดเค้ก) แต่งงานในปัจจุบัน ซึ่งโปรดผลงานโอเปร่าของริชาร์ด วากเนอร์

ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2503 เสด็จฯ เยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทอดพระเนตรบัลเลต์ 2 เรื่อง (Les Sylphides) ใช้ดนตรีของโชแปง ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงชาวโปแลนด์ที่ไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เมื่อมีรายได้ก็จะส่งเงินไปช่วยการปฏิวัติในโปแลนด์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงโปรดผลงานของโชแปงมาก และได้ชมบัลเลต์อีกเรื่อง (Pas de Deux) ซึ่งใช้ดนตรีของจอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin) นักดนตรีอเมริกันที่ผสมระหว่างดนตรีแจ๊ซกับดนตรีคลาสสิก (Rhapsody in Blue, American in Paris) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเพลงของเกิร์ชวิน (Gershwin)

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2505 ในวันที่ 30 กันยายน เสด็จฯ ไปฟังดนตรีที่โรงโอเปร่า กรุงเวียนนา ทรงโปรดบทเพลงโหมโรง (Overture Die Fledermaus) ผลงานของโยฮันน์ สเตราส์ (Johann Strauss) ซึ่งบรรเลงโดยวงเวียนนาฟีลฮาร์โมนิก วันที่ 2 ตุลาคม เสด็จฯ เมืองซาลซ์บูร์ก บ้านเกิดของโมสาร์ท สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงทดลองเล่นเปียโนเพลงลาวดวงเดือน วันที่ 3 ตุลาคม เสด็จฯ ชมการแสดงของวงออเคสตรา (Nieder?sterreich Tonk?nstler) โดยวงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ กินรีสวีท (Kinari Suite) สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน มาร์ชราชวัลลภ

และในวันที่ 5 ตุลาคม เสด็จฯ สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wien) ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบัน หมายเลขที่ 23

สําหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พ.ศ.2482 (พระชนมพรรษา 8 พรรษา) ทรงเริ่มเรียนเปียโนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เมื่อมีพระชนมพรรษา 13 พรรษา ต้องติดตามครอบครัวไปอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ทรงฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนักวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดนตรีกรุงปารีส

“ชั่วโมงขับร้อง…นักเรียนจะถูกฝึกให้ขับร้องเพลงไทยเดิม…จะมีเสียงฉิ่งหวานใสตีให้จังหวะอย่างไม่ผิดพลาดจากฝีมือของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์…จำได้ว่าเพื่อนนักเรียนเซนต์ฟรังร่วมชั้นกับพระคู่หมั้น ก่อนที่เธอจะติดตามพระบิดาไปต่างประเทศ ก่อนที่เธอจะลาออกจากโรงเรียน เธอได้เล่นเปียโนและขับร้องเพลง When I Grow Too Old Too Dream” (เขียนถึงสมเด็จฯ) โดย ม.ร.ว.กิติวัฒนา ปกมนตรี

บทเพลงแห่งความรัก เป็นตัวอย่างบทเพลงและดนตรีที่อยู่รอบๆ พระองค์ ทำให้พสกนิกรของพระองค์รับรู้ได้ว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงดนตรีแล้ว ทรงมีความสุข ทรงมีความเบิกบาน ยิ่งกว่ากิจกรรมใดๆ ในชีวิตประจำวัน พระองค์เคยรับสั่งไว้ว่า “ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน”

ดังนั้น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้ร่วมมือกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra, TPO) โดยมีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ประสานงาน รวบรวมบทเพลงแห่งความรัก โดยนำบทเพลงสำคัญๆ มาเรียงร้อยให้เป็นไปตามลำดับของเวลา บทเพลงที่เป็นบทเรียน บทเพลงที่ทรงฟัง บทเพลงที่ทรงเล่น บทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่ศิลปิน (20 เพลง) ได้ประพันธ์ขึ้นถวายแด่พระองค์

เมื่อพระองค์ทรงเป็นนักดนตรี ทรงเป็นดุริยกวี ทรงเป็นนักปราชญ์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ วันที่ 9 มิถุนายน 2559 เป็นวันครบรอบ 70 ปี ที่พระองค์ทรงครองราชย์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

บทเพลงแห่งความรักก็จะแสดงพลังผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ชื่นชมทั่วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image