สุจิตต์ วงษ์เทศ : บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ เล่นลูกคอ ใส่ทำนองโหยหวนจากลาว

บุญผะเหวด มีขบวนผู้แสดงตามเรื่องพระเวสสันดร จ. ร้อยเอ็ด [ภาพจาก กระทรวงวัฒนธรรม (http://www.smile.emworkgroup.co.th)]

หน้าร้อน เข้าฤดูกาลบุญผะเหวดทางอีสาน กับเทศน์มหาชาติในท้องถิ่นอื่นๆ
บุญผะเหวดเป็นคำลาว ตรงกับคำไทย (ภาคกลาง) ว่าบุญพระเวส กร่อนจากคำเต็มว่า บุญพระเวสสันดร หมายถึงงานบุญเทศน์มหาชาติ เรื่องพระเวสสันดร
มหาชาติ หมายถึงชาติอันยิ่งใหญ่ที่กำเนิดเป็นพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เทศน์มหาชาติ หมายถึงเทศนาเป็นทำนองต่างๆ เรื่องพระเวสสันดร จากคำประพันธ์ร้อยกรองประเภทร่ายยาว (หมายถึงคำคล้องจองเป็นข้อความยาวกว่าปกติ อย่างเดียวกับที่ใช้เจรจาโขน ในการแสดงโขน)
ทำนองเทศน์มหาชาติแบบดั้งเดิมเก่าสุดเป็นวัฒนธรรมลาวลุ่มน้ำโขง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์ว่า “พระเทศน์เวสสันดรชาดกโดยทำนองต่างๆ เห็นจะมีขึ้นทางเมืองลาวก่อน แล้วจึงแพร่หลายลงมาข้างใต้” (คำนำหนังสือมหาพนคำเฉียง พิมพ์งานศพ เมื่อ พ.ศ. 2462)
ทำนองเทศน์มหาชาติแบบลาวลุ่มน้ำโขง ส่งแบบแผนลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา น่าจะราวหลัง พ.ศ. 1700 คราวเดียวกับการโยกย้ายกลุ่มชนและทรัพยากรจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วฟักตัวอยู่ในบ้านเมืองแถบภาคกลางตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา
ก่อนเป็นทำนองเทศน์มหาชาติ คำคล้องจองภาษาร่ายเป็นคำขับลำของหมอผีในพิธีสู่ขวัญ เรียกขวัญ
ครั้นรับศาสนาจากอินเดีย จึงถูกพัฒนาเป็นคำและทำนองอ่านโองการของพราหมณ์กับเทศนามหาชาติของพระสงฆ์
คำขับลำมีพัฒนาการต่อไปเป็นหมอลำ ที่ลำทำนองต่างๆ ซึ่งมีลูกคอและเสียงโหยหวน จนกระทั่งเป็นขับเสภาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image