ไทยพบพม่า : สัมภาษณ์ ‘วันดี สันติวุฒิเมธี’ อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

วันดี สันติวุฒิเมธี อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์

สัมภาษณ์ ‘วันดี สันติวุฒิเมธี’ อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์ :

ในวันที่พม่า ‘เปลี่ยน’ แต่ ‘ไม่ผ่าน’

ผู้ที่สนใจความเป็นไปของพม่า โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ในช่วงสิบปีมานี้คงจะคุ้นเคยกับวารสารเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า “สาละวินโพสต์” เป็นอย่างดี ในยุคก่อนโซเชียลมีเดียเบ่งบาน สาละวินโพสต์เป็นสื่อเล็กๆ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวจากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศปิดอย่างพม่า และเรียกว่าเป็นสื่อในไทยสำนักเดียวที่ทำข่าว ค้นคว้า และรายงานประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของพม่าอย่างจริงจัง ในปลายปี 2554 สาละวินโพสต์ปิดตัวลงพร้อมๆ กับบทบรรณาธิการในชื่อ “สาละวินโพสต์ฉบับสุดท้าย เปิดใจบรรณาธิการ ถอดบทเรียนเก้าปี ประมวลภาพความประทับใจ” ที่ผู้เขียนยังคงติดตาตรึงใจและในขณะนั้นมีความรู้สึกแค่เพียงใจหายที่ต้องเห็นสาละวินโพสต์ร่ำลาพื้นบรรณพิภพไป

วันดี สันติวุฒิเมธี หรือคุณผึ้ง ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ คือบรรณาธิการบริหารของสาละวินโพสต์ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2545 จนมาถึงฉบับสุดท้ายในปี 2554 หลังจากสาละวินโพสต์ลาแผงไป 6 ปี วันดีกลับมาแล้วพร้อมกับความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่าอยากกลับมาเขียนหนังสือและเริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพม่าอีกครั้ง คำถามที่ยังค้างคาใจของผู้อ่านและแฟนๆ ของสาละวินโพสต์ก็คือ เหตุใดสาละวินโพสต์จึงปิดตัวลง ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่พม่าเริ่มมีการปฏิรูปอย่างจริงๆ ออง ซาน ซูจี ถูกปล่อยตัวออกจากบ้านพักมาแล้วเพียง 1 ปีเศษ และเป็นช่วงที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าพม่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบที่อะไรก็ฉุดไม่อยู่

Advertisement

ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งสนทนากับคุณวันดี และในฐานะแฟนสาละวินโพสต์คนหนึ่ง แม้ไม่เคยพบคุณวันดีมาก่อน แต่เคมีเข้ากัน และผูกพันกันด้วยความหลงใหลและสนใจพม่าของเราทั้งคู่ คุณวันดีเล่าว่าเมื่อเธอตัดสินใจเลิกทำสาละวินโพสต์ เธอรู้สึกว่าทั้งตัวเธอและวารสารเองถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ในส่วนของเธอ เธอหันไปจับธุรกิจกับครอบครัว และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่หลังจากยุ่งอยู่กับธุรกิจของเธอมาหลายปี เธอคิดถึงพม่าและอยากจะหันกลับมาเขียนบทความ หนังสือ และทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับพม่า สำหรับจุดอิ่มตัวของสาละวินโพสต์ในฐานะสื่อ เธอมองว่าสาละวินโพสต์เข้าไปทำงานในพม่าใหม่ๆ ตั้งแต่พม่ายังปิดประเทศ และยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการปฏิรูปทางการเมือง วารสารของเธอจึงเป็นพื้นที่เล็กๆ ให้กับชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่โดยรัฐบาลทหารพม่า ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นสื่อที่เรียกได้ว่าทำงานกับคนพม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่าจริงๆ เรียกได้ว่าการเข้าไปทำข่าวในพม่าตั้งแต่ปี 2545-2554 ในช่วงที่สาละวินโพสต์ยังแอ๊กทีฟอยู่นั้น เป็นเรื่องยากเย็นและเสี่ยงอันตรายอย่างมาก

สำหรับคุณวันดี การทำข่าวในพม่าในยุคนั้นต้องใช้ความอดทนและใช้เครือข่ายที่ตัวเองมี และต้องทำงานกับคนที่เธอไว้ใจเท่านั้น เพราะหากไม่ระมัดระวังอาจเป็นเหตุให้ถูกทางการพม่าควบคุมตัวได้ น้ำเสียงของคุณวันดีเมื่อเล่าถึงเรื่องการใช้พึ่งพาเครือข่ายที่เธอสั่งสมมาหลายปีเพื่อเข้าไปทำข่าวในพม่าเริ่มเปลี่ยนไป เธอยังคงตื่นเต้นและตั้งหน้าตั้งตาเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่เธอคุ้นเคยอีกครั้ง คุณวันดีเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่เคยขึ้นไปสัมภาษณ์ผู้นำกลุ่ม KIA (Kachin Independence Army) กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของพม่า และเธอเป็นนักข่าวไทยเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ด่อ ออง ซาน ซูจี ในปี 2553 การจะเข้าไปสัมภาษณ์ซูจีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องอาศัยให้เพื่อนชาวพม่าของเธอที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในสหรัฐอเมริกาติดต่อคนในพรรคเอ็นแอลดีให้ แม้แต่โชเฟอร์ที่รับเธอไปสัมภาษณ์ซูจียังต้องเป็นคนที่คนในพรรคและเพื่อนที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของเธอไว้ใจ จะโบกแท็กซี่สุ่มสี่สุ่มห้าไปที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีในสภาพที่มีหน่วยสืบราชการลับของกองทัพพม่าอยู่หัวระแหงมิได้ เมื่อถามถึงความประทับใจที่คุณวันดีมีต่อออง ซาน ซูจี เธอมองว่าซูจีให้เกียรติเธอมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเธอเป็นตัวแทนจากสื่อเล็กๆ ที่ซูจีมองว่านำเสนอข่าวเพื่อผู้คนในพม่าอย่างแท้จริง แตกต่างจากสำนักข่าวขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อาจจะนำเสนอข่าวของเธอเพียงเพื่อสร้างจุดขาย

เมื่อคุยกันถึงเรื่องออง ซาน ซูจี ประเด็นที่ผู้เขียนอดถามคุณวันดีไม่ได้และเป็นประเด็นที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้คือ เธอคิดอย่างไรกับซูจี และเธอมีความคาดหวังอย่างไรกับพัฒนาการทางการเมืองในพม่าปัจจุบัน คุณวันดีตอบคำถามนี้ทั้งในฐานะนักข่าวที่มีโอกาสได้สัมผัสออง ซาน ซูจี และผู้ที่ศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับพม่าอย่างจริงจัง เธอบอกกับผู้เขียนว่า เราไม่ควรมองออง ซาน ซูจี ว่าเป็นขาวหรือดำเพียงด้านเดียว ควรมองซูจีทีละประเด็น เพราะปัจจุบันเธอก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง และในฐานะผู้นำพรรคเอ็นแอลดีและผู้นำรัฐบาล เธอต้องเลือกเล่นการเมือง การเป็นนักการเมืองเป็นบทบาทหนึ่งที่ทำให้เธอใช้เสรีภาพที่เธอมีในเวลานี้ได้ และสำหรับชาวพม่าที่ไม่ชอบรัฐบาลทหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอย่างไร เอ็นแอลดีและออง ซาน ซูจี ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ารัฐบาลทหารแต่เดิมมาก ชาวพม่าทราบว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้เอ็นแอลดียังมีการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ชาวพม่ามองว่ารัฐบาลชุดนี้คอร์รัปชั่นน้อยกว่า และพวกเขาสบายใจกับการมีรัฐบาลพลเรือนภายใต้ออง ซาน ซูจี มากกว่าการอยู่ภายใต้ความกลัวในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร

Advertisement

ในประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากอย่างเรื่องโรฮีนจานั้น คุณวันดีมองว่า ไม่ว่าออง ซาน ซูจี จะออกมาให้สัมภาษณ์หรือไม่ เลือกยืนหยัดอยู่ข้างใคร ก็จะถูกแต่ละฝ่ายโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เธอจึงเลือกที่จะเงียบ และปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวกับความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนา คุณวันดีย้ำปิดท้ายว่า การปฏิรูปในพม่ายังเพิ่งเริ่มต้น และพม่ามีปัญหาทางการเมืองที่สั่งสมมานาน การแก้ปัญหาที่ตรงจุดภายในเวลาอันสั้นคงเป็นไปไม่ได้ และการฝากความหวังให้กับออง ซาน ซูจี เพียงคนเดียวคงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image