ความจริงที่คัดมาแล้ว โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

ในทางตรรกะแล้ว ความชอบธรรมของผู้กล่าวนั้นแยกจากความชอบด้วยเนื้อหาของสารที่กล่าวออกมา ความไม่สมบูรณ์ของผู้นำเสนอไม่อาจทำลายความสมบูรณ์ของสิ่งที่นำเสนอนั้น ในทางกลับกันก็เช่นกัน ความจริงออกจากปากใครก็คือความจริงโดยปฏิเสธไม่ได้ ทั้งความเท็จก็เช่นกัน

การโต้แย้งด้วยการยกเหตุเกี่ยวด้วยคุณสมบัติหรือความประพฤติของผู้กล่าว หรือตั้งประเด็นนั้นมาโจมตีเหตุผลของเนื้อหาที่กล่าว ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของตรรกะวิบัติ (Fallacy) ที่เรียกว่าการโจมตีตัวบุคคล (argumentum ad hominem) ซึ่งถือเป็นการให้เหตุผลที่ใช้ไม่ได้ แต่กระนั้น การโต้แย้งด้วยวิธีดังกล่าว กลับเป็นรูปแบบการโต้แย้งที่เป็นที่พบบ่อยที่สุดในแทบทุกเรื่อง เราจะพบวิธีการ “ตอบโต้” ด้วยตรรกะวิบัติแบบโจมตีตัวบุคคลได้ในแทบทุกการถกเถียง และหากจะกล่าวไป ผู้คนนั้นมักจะให้น้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวผู้กล่าวอ้างหรือกล่าวหาด้วย

อาจมีสองเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ คือ เหตุผลเชิงประสบการณ์ และเหตุผลเรื่องประโยชน์ได้เสีย

เหตุผลเชิงประสบการณ์นั้นค่อนข้างเข้าใจได้ง่าย กล่าวคือ ข้อกล่าวอ้างหรือข้อเสนอบางประการนั้นผูกพันกับความรู้และประสบการณ์อย่างแยกได้ยาก และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความจริงเท็จของข้อกล่าวอ้างกล่าวหานั้นด้วย เช่นว่า วิธีสร้างความร่ำรวยจากเศรษฐีหมื่นล้านน่าจะรับฟังได้มากกว่าพนักงานบริษัทเงินเดือนหลักหมื่น หรือคำแนะนำในการไปต่างประเทศจากคนที่เคยไปเที่ยวประเทศนั้นมาจริงๆ ก็มีภาษีดีกว่าคำแนะนำจากผู้ที่ไปค้นคว้ามาจากข้อมูลชั้นสองอื่นๆ หรือบางครั้งข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ก็อาจจะต้องมาจากการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่อาจอยู่เหนือประสบการณ์ก็ได้ อย่างที่เราคงเชื่อในคำปรึกษาเกี่ยวกับการอาการป่วยของสัตว์เลี้ยงจากสัตวแพทย์ปริญญา มากกว่าคำปรึกษาจากเจ้าของร้านขายสัตว์เลี้ยงที่แม้จะมีประสบการณ์มากกว่าก็ตาม

Advertisement

ส่วนเหตุผลเรื่องประโยชน์ได้เสียนั้น ออกจะเป็นเหตุผลในเรื่องของเจตนาเบื้องหลังในการนำเสนอข้ออ้างข้อเถียง นั่นคือ แม้ว่าสิ่งที่ผู้กล่าวอ้างนั้นจะกล่าวในสิ่งที่ถูกต้องทุกอย่าง แต่หากเขามีประโยชน์ไม่ว่าจะในทางได้หรือทางเสียในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว ก็ย่อมน่าสงสัยว่า การยกข้ออ้างข้อเถียงนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ได้เสียของเขานั้น-ตัวอย่างที่มักพบบ่อยคือ หากมีงานวิจัยว่าด้วยประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผู้วิจัยคือบริษัทสุรารายใหญ่ เราจะให้น้ำหนักแก่ข้อพิสูจน์นั้นได้มากเพียงไร แม้ว่าการทำวิจัยนั้นจะถูกต้องทุกประการด้วยระเบียบวิธีวิจัย กระนั้นเราจะมั่นใจได้แค่ไหนเพียงไรว่า ไอ้ความถูกต้องทั้งหลายนั้นจะไม่ใช่ความจริงเฉพาะที่ถูกคัดสรรแล้วว่าทั้งหมดเป็นไปเพื่อโน้มนำให้ได้ข้อสรุปมาเพื่อให้สมประโยชน์แก่ผู้กล่าวอ้าง

เพราะการโน้มน้าวที่ทรงพลังคือการโน้มน้าวด้วยความจริง และที่ทรงพลังมากที่สุดคือการโน้มน้าวด้วยความจริงที่ตัดทอนแล้วเพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนข้อเสนอด้วย และหากเราละบริบทอื่นๆ และพิจารณาเพียงด้วยตรรกะว่า ความจริงออกจากปากคนเท็จก็ยังเป็นความจริงอยู่วันยันค่ำ โดยละเลยเจตนาที่อยู่เบื้องหลัง “ความจริง” นั้น ในที่สุดประโยชน์ก็จะตกแก่ผู้ใช้ความจริงอันเลือกสรรแล้วนั้น

ความจริงและความถูกต้องจะแยกขาดจากบริบทเรื่องผลประโยชน์ได้หรือไม่ แม้เราจะรู้ทั้งรู้ว่าความจริงอันเขากล่าวอ้างมานั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ แต่เราก็ต้องปกป้องความจริงที่ว่ากระนั้นโดยไม่ต้องพิจารณาว่าความจริงนั้นจะยังประโยชน์อันมิชอบให้ใคร ความจริงนั้นแยกพิจารณาได้ และลอยพ้นจากทุกบริบทได้จริงหรือ

Advertisement

หลังจากนี้ สังคมและการเมืองไทยจะเป็นสนามรบแห่งเหตุผล เพื่อโน้มนำให้ผู้คนยอมรับในเหตุผลของฝ่ายที่ประสงค์จะวางกรอบกติกาเพื่อควบคุมอนาคต ผ่านกลไกการใช้อำนาจรัฐที่ออกแบบขึ้นตามพิมพ์เขียวของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงการชวนเชื่อกล่อมให้เพียงลงประชามติยอมรับในขั้นต้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การกล่อมให้ยอมรับสภาวะอันผิดปกติธรรมดาอื่นๆ ที่เขามองว่าเป็นความจำเป็น และด้วยเป้าหมายดังกล่าวนั้นเอง จะมีเหตุผล “จริง” มากมายที่จะถูกคัดสรรนำยกขึ้นเพื่อเป้าประสงค์นั้น

เหตุผลอัน “จริง” อันสนับสนุนว่า สิ่งที่จะปรากฏตามกติกาใหม่นั้นดีแล้วชอบแล้วจะถูกยกขึ้นอ้าง เช่นว่า ด้วยระบบเลือกตั้งที่การเลือกตั้งแบบใครได้เสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะนั้นจะไม่ใช่วิธีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมที่สุด การเลือกตั้งในยุคใหม่ของต่างประเทศจะพยายามเกลี่ยคะแนนเสียงให้ผู้ชนะเลือกตั้งสะท้อนความนิยมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นความจริง

หลักการว่าฝ่ายการเมืองที่มีที่มาจากประชาชนไม่อาจใช้อำนาจล้นพ้นได้ หากจะต้องอยู่ภายใต้ความชอบธรรมด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และถูกตรวจสอบได้ด้วยองค์กรตุลาการ นี่ก็เป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัยอีก รวมทั้งที่ว่าประเทศต่างๆ ในโลกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรมาทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น นี่ก็จริงอีก

และที่ว่า ไม่มีประเทศไหนกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้ที่เป็น ส.ส. นั่นก็คงจริงอีกเหมือนกัน

หรือแม้แต่อาจจะมีข้อเสนอว่า การยึดอุดมคติประชาธิปไตยแบบก้าวกระโดดอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองได้ จึงควรมีกระบวนการชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจ เพื่อลดการต่อต้าน โดยมีที่ทางให้ฝ่ายที่มีอำนาจยอมรับได้อยู่ในระบบในระยะชั่วคราวนี้โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน เช่น ให้มี ส.ว.แต่งตั้งไปพลางระหว่างการคายคืนอำนาจไปสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยสันติวิธีอย่างช้าๆ อันนี้ก็อาจจะเป็นความจริง และเป็นประสบการณ์เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่มีกรณีศึกษาของหลายประเทศเช่นกัน

แต่สุดท้ายมันอยู่ที่ว่า ความจริงทั้งหมดนั้นชี้ไปในหาข้อสรุปใด และจะมีผู้ใดเป็นผู้ได้ประโยชน์จากความจริงอันคัดสรรมาดีแล้วเหล่านั้น เราจะสนับสนุนข้ออ้างเหล่านั้นเพียงเพราะมันเป็น “ความจริง” โดยต้องไม่สนใจว่าความจริงนั้นจะยังประโยชน์ให้แก่ใครอย่างไรได้หรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image