รัฐประหารธิปไตย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการรำลึกเล็กๆ น้อยๆ ถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 11 ปีก่อน และเริ่มมีเสียงเล็กๆ น้อยๆ ทวงถามว่า ระบอบรัฐประหารปัจจุบันเมื่อไหร่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เพราะตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 4 เข้าไปแล้ว

ผมขอมีส่วนร่วมในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 ปีของการทำรัฐประหาร โดยเริ่มตั้งคำถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ในบ้านเรานั้นอยู่ตรงไหนของภูมิทัศน์การทำรัฐประหารในประเทศไทย การเก็บข้อมูลคร่าวๆ จากการทำรัฐประหาร 13 ครั้งที่สำเร็จและเป็นทางการในประเทศไทย ผมพบว่ารัฐประหารที่ทำให้คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดคือ การทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อปี 2501 ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2512 โดยอยู่ในอำนาจ 10 ปี 3 เดือน

รัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดลำดับต่อมาคือครั้งนี้แหละครับ ตอนนี้ก็ 3 ปี 4 เดือนแล้ว รัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานเป็นอันดับ 3 คือ เมื่อจอมพลถนอมยึดอำนาจตัวเองในปี 2514 และนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2518 ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในอำนาจไม่ได้ และทำให้ค่าเฉลี่ยของการอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 ปี 1 เดือน

ทีนี้มาดูในรายละเอียด การทำรัฐประหารอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดโดยไม่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง (ไม่ว่าการเลือกตั้งนั้นจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือไม่) นั้นอยู่ในอำนาจโดยผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจจนตายในตำแหน่ง และอยู่ต่อโดยทายาททางอำนาจของผู้นำทหารคนเก่า จากนั้นก็ลงจากตำแหน่งโดยการสร้างระบอบที่ตนเองมีอำนาจเหนือนักการเมือง และสุดท้ายก็ทำรัฐประหารตนเองอีกครั้ง

Advertisement

ส่วนในการทำรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจเป็นอันดับ 3 นั้น ต่อเนื่องจากครั้งที่ 1  และเอาจริงๆ ไม่ได้อยู่ยาวนานมาก สุดท้ายก็จบลงโดยการลุกฮือของประชาชนในปี 2516 และมีการเปลี่ยนผ่านจากนั้นเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งจริงๆ ประมาณปี 2518

สิ่งที่ทำให้เราต้องคิดก็คือ จากตัวอย่างของการมีระบอบรัฐประหารที่ยาวนานที่สุดของประเทศไทย ระบบทหารในยุคนั้นไม่ได้มีความมุ่งหมายอย่างจริงจังที่จะมอบอำนาจการเลือกตั้งให้ประชาชนเอาเสียเลย สุดท้ายผู้นำทหารตายคาตำแหน่ง มีการถ่ายโอนอำนาจให้พรรคการเมืองสนับสนุนทหาร และไม่ได้ดังใจก็รัฐประหารซ้ำ และท้ายสุดก็เกิดการลุกฮือของประชาชน (แต่แม้ว่าประชาธิปไตยจะมาถึง ก็อยู่ได้ไม่นานเช่นเดียวกัน เพราะอยู่ได้จริงๆ ในช่วงประมาณ 2518-2519 ก่อนการล้อมปราบประชาชน และเข้าสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงปี 2531 และเกิดรัฐประหารในปี 2534 อีกครั้ง)

Advertisement

ส่วนการทำรัฐประหารในรอบนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่จนกว่าจะเลือกตั้ง หรือว่าเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจในสัปดาห์นี้ เว้นแต่จะตั้งข้อสังเกตว่าคณะรัฐประหารชุดนี้คงเชื่อว่าตนเอง มีดีŽ บางประการที่สามารถสร้างความคลุมเครือให้กับสังคมได้ว่าการเลือกตั้งจะยังไม่มีความแน่นอนว่าเมื่อไหร่ และยังเชื่อว่าสามารถควบคุมการเมืองไว้ในมือได้อีก 5 ปี ผ่านโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจคณะรัฐประหารในการกำหนดตัววุฒิสภาครึ่งหนึ่ง และยังเชื่อว่าจะคุมทิศทางยุทธศาสตร์ชาติได้อีก 20 ปี

ในประเด็นต่อมาก็คือ การทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่มีการศึกษาอย่างจริงจังน้อยมาก ส่วนใหญ่มักจะทำความเข้าใจผ่านความรู้สึกมากกว่าการศึกษาอย่างจริงจัง การไม่ศึกษาอย่างจริงจังไม่ได้หมายความว่าเราจะศึกษามันไม่ได้เพราะข้อมูลมักปิดลับ แต่เราไม่ค่อยได้ศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย

ในช่วงหลังเรามักจะศึกษาการทำรัฐประหารในประเทศอื่นเพื่อนำมาให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหารในประเทศไทยเท่านั้น เช่น การพยายามสร้างความชอบธรรมว่าการทำรัฐประหารเมื่อ 11 ปีที่แล้วเป็นเหมือนกับการทำรัฐประหารในปี 1974 ของโปรตุเกสที่ถือกันว่าเป็นการเริ่มต้นของประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 3 หรือมีความพยายามที่จะบอกว่ามีสิ่งที่เรียกว่าการทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยเหมือนในกรณีอียิปต์

สำหรับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ก็มุ่งเน้นแต่การอธิบายว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลย แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเปรียบเทียบแต่ละที่ว่า การทำรัฐประหารนั้นแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย แต่มันเกิดขึ้นบ่อยมากในโลก (แม้ว่าความถี่จะเริ่มลดลง) และการทำรัฐประหารส่งผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น การทำรัฐประหารมักจะมีการศึกษาอย่างเป็นระบบจริงๆ ก็เฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีสถิติการทำรัฐประหารบ่อยที่สุด และเรามักจะมองว่าการทำรัฐประหารในแอฟริกาเป็นเรื่องของความด้อยพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อาทิ การมีทหารจำนวนมาก มีเศรษฐกิจยากจน และมีสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของชนเผ่าต่างๆ ตั้งแต่การรวมชาติและประกาศเอกราช

การศึกษาการทำรัฐประหารในกรณีอื่นๆ ในช่วงหลังมีน้อยมาก ไม่เหมือนสมัยปี 1980 ที่การทำรัฐประหารในประเทศแถบละตินอเมริกาเป็นกรณีที่โดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกรณีที่การทำรัฐประหารไม่ได้เกิดจากความยากจนโดยตรง แต่เกิดจากปัจจัยเศรษฐกิจเช่นกัน แต่เป็นการเกิดจากการเงื่อนไขความจำเป็นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจบางประการที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นทำไม่ได้ แต่ระบอบทหารทำได้ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นต้องเอาใจประชาชนฐานเสียง

ส่วนการศึกษารัฐประหารนอกแอฟริกาในยุคหลังมักจะให้ความสำคัญกับการศึกษาเงื่อนไขทางชนชั้นว่า ชนชั้นกลางทำไมจึงกลายเป็นพวกที่มีความเป็นประชาธิปไตยลดลง อาทิ สนับสนุนการทำรัฐประหาร หรือหันไปเลือกพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต้านเสรีนิยมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี การศึกษาการทำรัฐประหารที่มีมากมายนับครั้งไม่ถ้วนในแอฟริกาก็ยังคงถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่มาก แม้ว่าจะไม่ใช่ในบ้านเราก็ตาม เพราะยังถือว่าการทำรัฐประหารยังเกิดขึ้นบ่อยๆ และไม่ค่อยจะเป็นที่เซอร์ไพรส์เหมือนในบ้านเรา อย่างน้อยในมุมของชุมชนนานาชาติ

โดยภาพรวมแล้วการทำรัฐประหารคือการยึดอำนาจรัฐบาลด้วยกำลังทหาร ดังนั้นเราคงต้องแยกการทำรัฐประหารออกจากผลที่มีต่อประชาธิปไตย เพราะรัฐประหารสามารถเกิดได้ทั้งกับรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลประชาธิปไตย

ที่ซับซ้อนกว่านั้น การเกิดรัฐประหารต่อรัฐบาลประชาธิปไตยก็มักจะเกิดเมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยเผชิญปัญหา ดังนั้นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เราก็จะต้องทำความเข้าใจกับปัญหาประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย

สิ่งที่มีคนสนใจมากขึ้นก็คือ การทำรัฐประหารนั้นมีหลายห้วงเวลา นั่นคือ การวางแผน การปฏิบัติการ และความสำเร็จ หรือจะขยายความให้กว้างขึ้นก็คือ มีเรื่องเงื่อนไขการเกิดรัฐประหาร ก่อนจะถึงการวางแผน การปฏิบัติการ และความสำเร็จ และการรักษาอำนาจ และส่งผ่านอำนาจด้วย

ในบ้านเราเรามักจะให้ความสนใจแต่เงื่อนไขการเกิดรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ไม่งั้นเราจะอยู่ในกับดักของการร่วมกันเขียนเหตุผลของการทำรัฐประหารหลังสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น และเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารอยู่ฝ่ายเดียว เพราะการศึกษาการทำรัฐประหารหลังการทำรัฐประหารสำเร็จนั้นย่อมไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของเสรีภาพที่จะศึกษาและพูดได้ทุกๆ เรื่อง

บางทีก็เป็นการโทษเหยื่อไปในเวลาเดียวกันว่าเพราะพวกคุณสร้างปัญหา ก็เลยมีการทำรัฐประหาร

ดังนั้นนอกเหนือจากการศึกษาที่มาสาเหตุการทำรัฐประหาร เราควรจะต้องพยายามผลักดันให้ศึกษาการวางแผน การปฏิบัติการ และการพยายามอยู่ในอำนาจ และส่งผ่านอำนาจไปด้วย ไม่งั้นจะศึกษาแต่เฉพาะที่มา และความสำเร็จของรัฐประหาร ทั้งที่ความสำเร็จของการทำรัฐประหารนั้นอีกทางหนึ่งก็คือ การวัดด้วยการอยู่ในอำนาจ และไม่มีการต่อต้าน ซึ่งอาจจะหมายถึงการกดบังคับประชาชนในประเทศด้วยอำนาจเผด็จการก็ได้

นอกจากนั้นงานวิจัยสมัยก่อนๆ มักจะสนใจการทำรัฐประหารเฉพาะเรื่องจากมุมมองของคณะทหารว่า ทหารปฏิวัติทำไม แต่มักไม่ค่อยสนใจว่าประชาชนมีมุมมองจากการทำรัฐประหารอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ไม่กล้ายอมรับกันก็คือ ในช่วงที่รัฐบาลมีปัญหา การที่มีข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหาร หรือมีแนวโน้มจะเกิดรัฐประหาร ในมุมมองของสังคมไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป เพราะว่ารัฐบาลที่มีแนวโน้มจะถูกรัฐประหารย่อมจะต้องหวาดกลัวกับการทำรัฐประหารอยู่บ้าง ดังนั้นข่าวลือในการรัฐประหารบางครั้งก็ทำหน้าที่กำกับให้รัฐบาลอยู่ในลู่ในทางได้บ้าง เพราะรัฐบาลย่อมกลัวจะตกเก้าอี้

ทีนี้จากข้อมูลบางส่วนของการวิจัยในระดับโลกมีประเด็นที่น่าตกใจก็คือ ไม่เสมอไปที่รัฐบาลจะทำตัวดีขึ้นถ้าอยู่ในช่วงที่เสี่ยงต่อการทำรัฐประหาร แต่รัฐบาลอาจจะเลือกการกดขี่ควบคุมประชาชนมากขึ้น รวมทั้งใช้อำนาจเผด็จการมากขึ้นเพื่อหาข่าวการทำรัฐประหาร และยิ่งทำเช่นนั้นบางทีรัฐบาลก็จะเสียความชอบธรรมมากขึ้น

หรือรัฐบาลอาจจะเลือกที่จะเอาใจทหาร โดยเพิ่มงบประมาณให้ทหารมากขึ้น เพื่อให้ทหารเข้ามาเป็นพวก ซึ่งในระยะยาวก็เป็นการทำให้ทหารมีทรัพยากรมากขึ้น (militarization) และมีศักยภาพในการยึดอำนาจมากขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง ผู้นำอาจเลือกที่จะทำลายเอกภาพของทหาร เพื่อให้ทหารไม่รวมตัวกัน แต่การทำลายเอกภาพของทหารก็เป็นดาบสองคม เพราะในอีกทางหนึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารจะเริ่มรวมตัวกันในการทำรัฐประหาร

ดังนั้น การทำรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน บางทีทหารได้ประโยชน์มากขึ้นก็ทำรัฐประหารได้ เพราะมีศักยภาพมากขึ้น และประชาชนก็เริ่มเรียกร้องด้วยความหวังว่าจะได้อะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกัน คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่มีความสามารถในการบริหารในช่วงวิกฤต (ไม่ว่าวิกฤตจะมาจากไหนก็ตาม) ครั้นจะปกป้องประชาธิปไตยก็เจอระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริงที่มีปัญหาเช่นกัน

ทีนี้จะหาทางออกจากปัญหาอย่างไร สิ่งสำคัญในการปกครองในหลายครั้งไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบอุดมการณ์ แต่คือ การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง ความผสมผสานทางสังคม และการที่รัฐบาลนั้นรับผิดชอบและพร้อมรับผิดต่อประชาชน (accountability)

ทหารจึงเป็นองค์กรที่ได้เปรียบเสมอในฐานะทางเลือกในสังคมที่สมดุลเสีย เพราะทหารนั้นถือครองภารกิจความมั่นคงอยู่ในมือ โดยเฉพาะทหารที่ไม่ได้แพ้สงคราม หรือไม่มีสงครามให้สู้ ถ้าเทียบกับนักการเมืองที่ไม่ได้ยึดกุมอะไรใน 4 ประเด็นนั้นอย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อทำรัฐประหารไปแล้ว ภายใต้สังคมที่ไม่มีเสรีภาพ การทำให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการบริหารยิ่งทำได้ยาก ดังนั้นทหารจึงได้เปรียบในการยึดอำนาจในช่วงแรก และโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในช่วง 3-4 ปี ประชาชนก็จะปรับตัวได้มากขึ้น

จากการศึกษาพบว่าหนทางที่ทรงพลังในการระงับการทำรัฐประหารจริงๆ ก็คือการที่ต่างประเทศไม่ลงทุน และมีการให้หลักประกันว่าจะเข้าแทรกแซงหากเกิดการยึดอำนาจ ทีนี้ก็เกิดสิ่งท้าทายว่าผลประโยชน์ของแต่ละประเทศขึ้นกับประชาธิปไตยของประเทศอื่นจริงไหม และประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ มีคุณภาพพอไหม โดยเฉพาะสร้างความมั่นคงจากภายนอกและภายในได้ไหม และเปิดเผยข้อมูลการทำงานได้จริงไหม

โจทย์ท้าทายก็คือ ไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยจะสร้างเศรษฐกิจได้ไหม แต่ประชาธิปไตยสร้างความมั่นคงในแง่ความสงบในประเทศได้แค่ไหน สร้างความกลมเกลียวทางสังคมได้ไหม และสร้างความพร้อมรับผิดของรัฐบาลได้ไหม

การต้านรัฐประหารจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย และบ่อยครั้งเป็นปัญหาภายในของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลง และสิ่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ แต่ต้องพัฒนาสถาบันทางการเมืองให้เป็นรูปธรรมด้วย

ที่สำคัญนักการเมืองไม่ใช่ทุกคนที่จะแคร์เรื่องนี้ และประชาชนที่ศรัทธาในประชาธิปไตยก็ไม่ค่อยรู้ว่าจะมีโอกาสที่จะทำอะไรได้บ้าง

หมายเหตุ – ผมได้แรงบันดาลใจจาก Collier, Paul. 2010. Wars, Guns and Votes: Democracy in Dangerous Places. New York: Harper. และ Collier, Paul and Anke Hoeffler. 2007. Military Spending and the Risks of Coups d’Etats. Oxford: Center for the Study of African Economies, Department of Economics, Oxford University.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image