รธน.เพื่อใคร! โดย จำลอง ดอกปิก

แฟ้มภาพ

ถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ โดดร่ม-ไม่ร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแรก ในลักษณะก้าวหน้า มีการยอมรับปรับแก้ตามเสียงทักท้วง

เนื้อหาหลักคงกลิ่นอายรักษาความล้าหลังเอาไว้เหมือนเดิม

การไม่เข้าประชุม หรือร่วมประชุม อาจมองได้ต่างๆ นานา ต้องการรักษาระยะห่าง มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน หรือแผนลับลวงพราง อะไรต่อมิอะไรสักอย่าง

แต่ความจริง ไม่มีความหมายใดทั้งสิ้น

Advertisement

กรอบมาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว เขียนกำกับล็อกชัดเจน อย่างที่ใครต่อใครฝ่ายนี้ชอบพูดกันว่า ไม่ว่าใครมาร่าง เนื้อหาไม่ต่างกันนั้นก็ข้อหนึ่ง กอปรกับได้คนมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองเหมือนกัน มาจัดทำร่าง ก็ยิ่งตีความ ขยายความ ขยันขันแข็งแปรมาตรา 35 ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างเข้มข้น แม้ว่าจะเขียนผ่อนปรนก็ย่อมได้ก็ตาม

ร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีทางแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

ไม่ว่าการต่อสู้กันระหว่าง แกนนำ คสช.ที่ต้องการให้ ส.ว. 200 คนมาจากการสรรหา หรือการยืนยัน ยึดตามร่าง 200 คนมาจากการเลือกไขว้ จะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายใด อาจได้ข้อยุติ นำมาบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก เอาตามบิ๊กตู่-บิ๊กป้อม จากนั้นยึดตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ออกสูตรไหน ส.ว.ก็มาจากการลากตั้งอยู่ดี

ไม่ยึดโยงประชาชนอยู่ดี

เลือกขย่ม-เขย่า ไม่เอารัฐบาลจากการเลือกตั้งตามกติกาพิกลพิการได้อยู่ดี

มองจากสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ที่สองฝ่ายจะขัดแย้งรุนแรง เนื่องจากต่างมีวาระร่วมกัน กลัวเสียของ-เสียงานใหญ่

เพียงแต่ว่า มีข้อดีคือมันทำให้เราได้เห็น ความกระเหี้ยนกระหือรือชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

รัฐบาล คสช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นแตกต่าง เรื่องที่มา ส.ว. แต่โดยที่ทั้ง 2 แนวทาง มาจากลากตั้งทั้งคู่ และอำนาจหน้าที่ ก็มิได้มีแค่กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว เมื่อเป็นอย่างนี้ ต่อไปวุฒิสภา จะกลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด มีเอกภาพที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในระบอบรัฐสภา

แม้ขึ้นชื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่เมื่อไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนแท้จริง แนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน จึงน้อยกว่ารับผิดชอบต่อคนแต่งตั้งให้คุณให้โทษ

การออกแบบกติกาแบบนี้ ขัดหลักสากล ระบบการปกครองตัวเอง

ให้อำนาจผู้มาจากการแต่งตั้ง คุมตัวแทนประชาชนอีกชั้น

ที่มา ส.ว.เป็นหนึ่งในประเด็นตัวอย่างความถดถอย ที่มีการถกเถียงกันว่า จะนำรูปแบบไม่ยึดโยงกับประชาชนแบบไหนมาใช้

แทนที่จะใช้เวลาน้อยนิดช่วงสุดท้าย ถกเถียงในสิ่งก้าวหน้า ดีกว่าสำหรับประเทศ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์และได้รับการยอมรับ

อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่อง ส.ว. ยังมีที่มานายกฯ การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การให้อำนาจพิเศษองค์กรอิสระ ไม่ให้ความสำคัญการใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกผ่าทางตันอย่างที่ควรจะเป็น

ประเด็นเหล่านี้ ดูจากท่าทีคณะกรรมการร่างฯ 2 สัปดาห์ที่เหลืออยู่ไม่น่าจะมีทบทวนแก้ไขอีก มีแต่จะยืนยัน มั่นคงยึดร่างแรก และความวิจิตรพิสดารที่อาจเขียนเพิ่มตามมา

และเมื่อดูจากการถกเถียง 2 ฝ่ายในขณะนี้ เค้าโครงรูปร่างหน้าตารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร คาดเดาไม่ยากว่า มีอะไรพอตั้งความหวังได้บ้าง

มีใครฝ่ายไหน คิดต่อสู้เอาอำนาจที่ยึดไป คืนกลับมาให้ประชาชนบ้าง

ไม่มีเลย

มีแต่คิดสืบทอด เก็บรักษาไว้ ใช้ประโยชน์ในการอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image