บทเรียน ความคิด กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บทเรียน การเมือง

วิธีคิดแบบ “25 สิงหาคม” น่าจะจบ หรือเมื่อเลื่อนออกไปอีก 1 เดือน วิธีคิดแบบ “27 กันยายน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะจบก็ยังดำรงอยู่

ดำรงอยู่โดยมิได้คิดถึง 19 กันยายน 2549

ดำรงอยู่โดยมิได้คิดถึง 22 พฤษภาคม 2557

ถามว่าอะไรคือ “พื้นฐาน” ในทางความคิดอันนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อ 11 ปีก่อน

Advertisement

คำตอบ คือ จะจบ “ไทยรักไทย”

จึงไม่แปลกที่ภายหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2550 ก็มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย แม้จะโดยวิธีลงโทษ “ย้อนหลัง” ก็ตาม

ถามว่าแล้ว “จบ” หรือไม่

Advertisement

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช.รู้ดีที่สุด

 

แม้จะรู้อยู่เป็นอย่างดีว่าความต้องการที่จะให้ “ไทยรักไทย” จบโดยการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็เกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ภายใต้ข้ออ้างว่า รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 “เสียของ”

จากนั้น ก็รุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนกับที่เคยรุกไล่ นายทักษิณ ชินวัตร เพื่อที่จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกันกับ นายทักษิณ ชินวัตร

กระทั่งมาถึง “25 สิงหาคม” กระทั่งมาถึง “27 กันยายน”

ถามว่ากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะจบลงหรือไม่ คำตอบไม่ต้องดูอื่นไกลให้ย้อนกลับไปศึกษากรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็แล้วกัน

นั่นก็คือ ไม่จบ

กลายเป็นว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนละเรื่องเดียวกันโดยอัตโนมัติ

เท่ากับ 10 ปี เรื่องยังอีนุงตุงนังอยู่

การที่แม้จะมีรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และแม้จะมีรัฐประหารซ้ำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่องก็ยังไม่ยอมจบอย่างง่ายดาย

เพราะว่าเป็นเรื่องของ “คน” เป็นเรื่องของ “การเมือง”

ทั้งยังมิได้เป็นการเมืองอย่างธรรมดาปรกติ ตรงกันข้าม มีความสัมพันธ์อยู่กับพรรคการเมืองโดยที่พรรคการเมืองนั้นวางรากฐานอยู่กับความนิยมของประชาชน

จากเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 มายังเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ความสำเร็จจากเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นั้นเองทำให้ได้ชัยชนะอีกในเดือนธันวาคม 2550 และในเดือนกรกฎาคม 2554

ผ่านพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

จึงแทนที่จะเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ของ นายทักษิณ ชินวัตร หรือของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากแต่เป็นเรื่องที่มี “ประชาชน” และมี “มวลชน” เข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อมี “ประชาชน” เข้ามาก็กลายเป็นความละเอียดอ่อน ยิ่งประชาชนได้รับการแปรให้กลายเป็น “มวลชน” ยิ่งมากด้วยความละเอียดอ่อน และยากต่อการบดขยี้ ทำลาย

เพราะ “มวลชน” นั่นแหละคือ ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

มีความจำเป็นต้องย้อนไปนำเอาบทสรุปภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาศึกษาอีกครั้ง

นั่นก็คือ การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง

นั่นก็คือ การนำเอาวิธีการ “ทางการทหาร” ไปแก้ไขปัญหาในทาง “การเมือง” รังแต่จะทำให้เกิดสภาพบานปลาย

บานปลายหา “บทจบ” ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image