10 ปี ปฏิวัติชายจีวร : เมื่อผู้เคยถูกกดขี่กลายเป็นผู้กดขี่เสียเอง : โดย ลลิตา หาญวงษ์

พระสงฆ์ร่วมเดินขบวนไปยังพระมหาเจดีย์ชเวดากองในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อรำลึกถึงการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนในการประท้วงชายจีวรครบรอบ 10 ปี (ภาพจาก Radio Free Asia)

เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา พระสงฆ์จากทั่วพม่านัดชุมนุมกันกลางเมืองย่างกุ้ง เพื่อร่วมรำลึกครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ “ปฏิวัติชายจีวร” (Saffron Revolution) อันเป็นเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ทั่วประเทศลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปี 2007 (พ.ศ.2550) พระสงฆ์และประชาชนนับแสนคนตบเท้าเข้าไปในหัวเมืองขนาดใหญ่ที่สุดอย่างย่างกุ้ง เพื่อร่วมกันประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า สาเหตุหลักของการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีในพม่า คือ การประกาศขึ้นราคาน้ำมัน ทำให้ในชั่วข้ามคืนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 2 เท่า สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของกิจการและประชาชนทั่วไปที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี การขึ้นราคาน้ำมันแบบกะทันหันเป็นเพียงเชื้อไฟที่ราดเข้าสู่กองเพลิงที่ร้อนระอุมาก่อนแล้ว ภายหลังปี 1988 (พ.ศ.2531) เมื่อมีการประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารครั้งใหญ่ ซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำ รัฐบาลทหารสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และมีมาตรการควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่เข้มงวดขึ้น สิ่งพิมพ์ต่างๆ ถูกเซ็นเซอร์หนักขึ้น และหน่วยสืบราชการลับของกองทัพต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อตน

ในขณะเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดจากการปิดประเทศมายาวนานตั้งแต่ปี 1962 (พ.ศ.2505) ทำให้พม่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในทศวรรษ 1980 การศึกษาของพม่าตกต่ำสุดขีดเพราะรัฐบาลไม่สนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา และไม่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้งในการศึกษาระดับพื้นฐานและระดับมหาวิทยาลัย แรงงานพม่านับล้านคนหลั่งไหลออกนอกประเทศ ปัญญาชนจำนวนหนึ่งหนีออกนอกประเทศ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ประชาชนพม่าส่วนใหญ่เกลียดชังกองทัพ และมองว่ากองทัพเป็นสาเหตุของความตกต่ำของพม่า

การประกาศขึ้นราคาน้ำมันสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั่วไปก่อนทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอดีตผู้นำนักศึกษาจากปี 1988 ออกมาเดินขบวนประท้วง รัฐบาลทหารโต้ตอบโดยการสั่งจับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและประชาชน โดยอ้างว่าเป็นการรวมตัวกันอย่างผิดกฎหมาย บ่อนทำลายความผาสุกสงบสวัสดีของสังคมพม่า การประท้วงแพร่ออกไปทั่วพม่า เมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลาย กองทัพใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นพระ เริ่มจากที่เมืองพะโค้ะขุ (Pakokku) เมืองสำคัญในพม่าตอนบนไม่ไกลจากมัณฑะเลย์ การใช้กำลังกับพระสงฆ์สร้างความไม่พอใจให้กับสมาคมพุทธทั่วทั้งพม่า และยิ่งทำให้จำนวนพระสงฆ์ที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ในวันที่ 24 กันยายน 2007 พระสงฆ์จากทั่วประเทศเดินเท้าจากพระมหาเจดีย์ชเวดากองสู่บ้านของ ด่อ ออง ซาน ซูจี ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นนักโทษการเมืองและยังถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านพัก

การเดินเท้าสู่พระมหาเจดีย์ที่สำคัญที่สุดของพม่าสู่บ้านของด่อ ออง ซาน ซูจี เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่พระสงฆ์ชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมก็คือการปกป้องพระพุทธศาสนาด้วย อย่างไรก็ดี กองทัพตรึงกำลังบนถนนมหาวิทยาลัย (University Avenue) หน้าบ้านพักของซูจีอย่างแน่นหนา และห้ามมิให้พระสงฆ์เดินขบวนเข้าไปในพื้นที่โดยรอบ

Advertisement

ในวันต่อๆ มา กองทัพเริ่มใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์ โดยการทุบตี การใช้แก๊สน้ำตา หรือแม้แต่การยิงเข้าสู่ฝูงชนที่ประท้วง กองทัพยังส่งคนบุกเข้าไปในวัดทั่วประเทศและจับกุมแกนนำพระสงฆ์นับร้อยรูป ในการปราบปรามผู้ประท้วงตลอดปลายเดือนกันยายนทำให้มีพระสงฆ์และประชาชนเสียชีวิตนับสิบคน รวมทั้งช่างภาพญี่ปุ่น เคนจิ นากาอิ ด้วย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การปฏิวัติชายจีวรถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบอบเผด็จการทหารในพม่า และกล่าวกันว่าเหตุการณ์นี้ รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากพายุไซโคลนนาร์กิสที่จะคร่าชีวิตประชาชนในพม่าตอนล่างไปเป็นแสนคนในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ยิ่งเป็นเชื้อไฟที่เร่งให้ระบอบเผด็จการทหารเสื่อมลงในพม่า และเร่งให้กองทัพคิดถึงการปฏิรูปทางการเมือง ด้วยความเชื่อนี้ การปฏิวัติชายจีวรจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่พม่าที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในงานรำลึก 10 ปี การปฏิวัติชายจีวรที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา มีพระสงฆ์ระดับสะยาด่อ (พระผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพอย่างสูง) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญๆ อย่าง มิน โก นาย และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมอย่างหนาแน่น พิธีรำลึกจัดขึ้นที่ย่างกุ้ง และจบลงด้วยการที่พระสงฆ์ร่วมกันเดินไปแสดงพลังที่พระเจดีย์ชเวดากอง

อย่างไรก็ดี หลายปีนี้ภายหลังการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า โดยเฉพาะหลังปี 2012 เมื่อความรุนแรงระหว่างชาวพุทธในรัฐยะไข่และชาวมุสลิมโรฮีนจาปะทุขึ้นเป็นครั้งแรก เราจะเห็นว่าพระสงฆ์หลายรูปที่เคยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเมื่อครั้งการปฏิวัติชายจีวร ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้สังคมพม่าปกครองเชื้อชาติ (พม่า) และศาสนาพุทธ โดยแสดงพลังต่อต้านชาวมุสลิม มิใช่เฉพาะชาวมุสลิมโรฮีนจา แต่ความเกลียดชังได้แพร่ไปถึงชาวมุสลิมอื่นๆ ด้วย

Advertisement

การเผยแพร่ความเกลียดชังของกลุ่มพระสงฆ์ชาตินิยมขวาจัดนามว่า กลุ่ม “มะ บะ ธะ” (Ma Ba Tha) หรือสมาคมเพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา กลุ่มมะ บะ ธะ ให้เหตุผลว่าชาวพุทธในพม่าต้องปกป้องอัตลักษณ์ของเชื้อชาติและศาสนาของตน เพราะชาวมุสลิมกำลังรุกคืบเข้าไปเพื่อกลืนชาวพุทธในพม่า ผ่านการแต่งงานกับสตรีชาวพุทธ ซึ่งทำให้ชาวพุทธต้องเปลี่ยนศาสนาไปนับถืออิสลาม และการมีลูกหลานจำนวนมากเนื่องจากอิสลามไม่ให้มีการคุม
กำเนิด

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าทัศนคติแบบขวาจัด ออกไปในแนวเผด็จการฟาสซิสม์ฝังรากลึกในสังคมพม่า โดยเฉพาะในกลุ่มพระสงฆ์บางส่วนที่มองว่าศาสนาพุทธและชาวพม่าแท้ควรได้รับการปกป้องจากรัฐ และมองว่าศาสนาพุทธควรมีสถานะเป็นศาสนาประจำชาติเพียงหนึ่งเดียว แนวคิดดังกล่าวตรงข้ามกับแนวทางประชาธิปไตยที่พระสงฆ์ในพม่าพยายามเรียกร้องอย่างสิ้นเชิง ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่พระสงฆ์ในพม่าเรียกร้องเป็นเพียงประชาธิปไตยที่แหว่งวิ่น ไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยหรือคนในศาสนาอื่นมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชาวพุทธพม่า

การเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี การปฏิวัติชายจีวรภายหลังการปราบปรามชาวโรฮีนจา และการอพยพหนีตายของชาวโรฮีนจาหลายแสนคนสู่บังกลาเทศ เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่าประชาธิปไตยในพม่านั้นอ่อนแอ ตราบใดก็ตามที่ชาวพุทธพม่ายังเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเพื่อคนของตัวเอง และกีดกันไม่ให้เสรีภาพกับคนอีกบางกลุ่มที่พวกเขามองว่าเป็น “คนอื่น” เป็นเสมือน “คนเถื่อน” และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมพุทธอันดีงามของพม่า การปฏิเสธความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาในพม่าที่มีมายาวนาน
ก็คือการทำลายประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่งด้วย

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image