เลือกตั้งเมื่อไหร่?-เมื่อเอยก็เมื่อนั้น : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กำหนดอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย เนื่องจากจำเลยหลบหนีการรับฟังคำพิพากษานัดแรกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลจึงออกหมายจับ

ข่าวการหลบหนีของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นข่าวติดต่อมาหลายวัน ขณะที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้ คือ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการติดตามเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้นำพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสาะหาข้อเท็จจริง

ระหว่างที่ข่าวการจับกุมผู้หลบหนีหมายจับในคดี “จำนำข้าว” ข่าวการจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้งอันเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกับบรรดานักการเมืองมีออกมาเป็นระยะ

แม้การร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพิ่งจะเสร็จออกมาเพียงฉบับเดียว คือคณะกรรมการการเลือกตั้งที่รอการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน อีก 2 คนเป็นผู้ที่ต้องผ่านการคัดเลือกจากศาลฎีกาและศาลปกครอง ไม่นานคงได้รู้กันว่าใครคือคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่บ้าง

Advertisement

ขณะนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองต่างรอกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการยอมให้นักการเมืองและพรรคเริ่มดำเนินการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสมาชิกพรรคการเมือง หรือการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองนั้น หรือการเสาะหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ขณะที่รอวิธีการเลือกตั้ง ต้องรอกฎหมายพรรคการเมืองพร้อมกันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ดำเนินการให้นักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งเรื่องการเลือกตั้งและเรื่องการคลี่คลายให้นักการเมืองดำเนินการทางการเมืองได้ นับเป็นการเปิดฝากาที่น้ำกำลังเดือดได้ชั้นหนึ่ง

กระนั้น ยังเชื่อว่าการดำเนินการทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการของนักการเมืองมีการเริ่มบ้างแล้ว ไม่ว่าการสรรหาผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง ทั้งผู้ที่เคยสมัครรับเลือกตั้ง และผู้สมัครหน้าใหม่ อาจจะเพิ่งต้องการเข้ามาสู่สนามการเมืองในยุคนี้ หรือผู้ที่เคยสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแล้วหายหน้าหายตาไปจากวงการเมือง

การประกาศว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อนั่นเมื่อนี่ มีปัจจัยหลายประการ ประการแรกอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการพูดจาปราศรัยออกมาเป็นนัยเป็นระยะ ปัจจัยต่อมา คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกำหนดหรือไม่

ส่วนปัจจัยทางด้านพรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถึงอย่างไรต้องเตรียมตัวเตรียมการอยู่แล้ว ดังที่มีผู้ประกาศตัวรายสองรายว่าถึงอย่างไรต้องตั้งพรรคการเมืองแน่นอน เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่มีมาแต่เดิม

นับจากวันนี้ การโยนหินถามทางของพรรคการเมืองจะมีไปเรื่อย ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้รัฐธรรมนูญจะมีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้แล้วก็ตาม

อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องคอยสดับตรับฟัง คือเสียงจากประชาชนผ่านสื่อมวลชน แม้เสียงความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดังมากขึ้น แต่หากรัฐบาลประกาศว่าอย่างน้อยการเลือกตั้งจะไม่เกิน พ.ศ.2561 เชื่อว่าเรื่องเศรษฐกิจแม้จะไม่ดีขึ้นทันตาเห็น แต่น่าจะกระเตื้องขึ้นมาไม่มากก็น้อย

ขณะที่รัฐบาลนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวจักรสำคัญที่จะให้ประชาชนมีโอกาสเงยหน้าอ้าปากได้บ้าง

กระนั้น การร้องเพลงรอวันกำหนดเลือกตั้งยังดังอยู่ไม่ขาด

แม้ว่าใครบางคนกำหนดว่า วันเวลาที่แน่นอน คือ 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ – คำตอบก็ยังอยู่ในสายลม

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image