Dreamers-ผู้เยาว์ต่างด้าวในอเมริกาฝันสะดุด : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกรณีเด็กที่ติดตามพ่อแม่แรงงานต่างด้าวเข้ามา หรืออาจจะเกิดในประเทศไทยและเติบโตในประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง หรือขาดการจัดระเบียบที่ชัดเจนหรือยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางกฎหมาย หรือการเข้ารับการศึกษาและบริการทางสังคม ตลอดจนการทำงาน

บางทีเราอาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของอเมริกาซึ่งก็มีปัญหาต่างด้าวผิดกฎหมายไม่น้อยกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลหรือบูรณาการคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาตั้งแต่เด็กและเติบโตในอเมริกา

อเมริกามีคนต่างด้าวผิดกฎหมายกว่า 11 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 2 ล้านคน เข้ามาอเมริกาตั้งแต่เด็กและเติบโตที่นั่น เข้าโรงเรียนทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาและไฮสคูล โดยใน 15 ปีที่ผ่านมา รัฐส่วนใหญ่ของอเมริกาไม่ยอมรับผู้เยาว์ต่างด้าวดังกล่าว ไม่ให้ทุนเรียนขั้นมหาวิทยาลัย และไม่อนุญาตทำงานโดยถูกกฎหมาย

เนื่องจากนักเรียนเข้าเมืองผิดกฎหมายมีจำนวนเพิ่มสูงและเรียนจบไฮสคูลเฉลี่ยปีละ 6.5 หมื่นคน ทำให้หลายคนเป็นห่วง แต่ก็มีนักการเมืองที่มองเห็นว่าการจัดการผู้เยาว์ต่างด้าวไม่ควรใช้มาตรการรุนแรงเพราะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลุ่มนี้เติบโตในอเมริกาและถ้าประพฤติดีก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออเมริกา ดังนั้นไม่ควรถูกลงโทษฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและควรจะได้รับการปรับสถานะให้ถูกกฎหมายโดยแลกกับการเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเข้ารับราชการทหารตามเงื่อนไขที่กำหนด

Advertisement

จึงเป็นที่มาของนโยบายการจัดการหรือบูรณาการผู้เยาว์ต่างด้าวผิดกฎหมายของอเมริกาที่เกิดขึ้นในปี 2544 หรือ 16 ปีมาแล้ว และเป็นที่มาของร่างกฎหมายแห่งความฝัน (DREAM Act) ซึ่งย่อมาจาก Development, Relief, and Education for Alien Minors Act (กฎหมายการพัฒนา การบรรเทาทุกข์ และการศึกษาสำหรับผู้เยาว์ต่างด้าว) และเรียกผู้เยาว์ดังกล่าวว่า Dreamers หรือ “นักล่าฝัน” DREAM Act ต้องต่อสู้ทางการเมืองและรัฐสภาอย่างมาก

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2544 นายหลุยส์ กูเตียเรส ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐอิลลินอยส์ได้เสนอร่าง “กฎหมายความก้าวหน้าทางการศึกษาและการป้องกันการหยุดเรียนกลางคันของเด็กต่างด้าว” (Immigrant Children’s Educational Advancement and Dropout Prevention Act) เด็กต่างด้าวภายใต้โครงการนี้จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกส่งกลับและจะได้รับสถานะผู้พำนักถาวรหากมีคุณสมบัติที่กำหนด

แต่หลังจากนั้น 1 เดือน ร่างกฎหมายฉบับนั้นถูกพับเก็บและแทนที่โดยร่างชื่อ “กฎหมายการปรับสถานะของนักเรียน 2001” (Student Adjustment Act 2001) ซึ่งเสนอโดย ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐยูทาห์ และวันที่ 1 สิงหาคม 2544 วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐยูทาห์เช่นกันเสนอร่างที่คล้ายๆ กัน ฉบับนี้คือต้นแบบของ DREAM Act

Advertisement

ตั้งแต่นั้นมา DREAM Act ก็มีการเสนอเข้าทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาหลายครั้ง และมีการนำเนื้อหาของร่างไปสอดแทรกไว้ในร่างกฎหมายปฏิรูปการตรวจคนเข้าเมืองหลายฉบับ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการผ่านกฎหมายดังกล่าว

ในเดือนกันยายน 2550 นายริชาร์ด เดอร์บิน วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐอิลลินอยส์เสนอร่าง DREAM Act เข้าสภา โดยใช้วิธีแนบร่างในรูปการแก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม 2008 โดยปรับแก้เนื้อหาเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนและอายุของผู้เข้าโครงการ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหมดังกล่าวเป็นที่พอใจของผู้ใหญ่ฝ่ายทหารมาก เพราะเงื่อนไขที่จะให้สถานะผู้พำนักถาวรแก่ผู้ที่รับราชการทหารนั้นจะช่วยจูงใจให้คนสมัครเป็นทหารมากขึ้น

แต่เมื่อนายเดอร์บินร่วมกับวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเสนอ Dream Act เข้าสภาผู้แทนในเดือนตุลาคมก็ไม่ผ่าน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบางคนให้เหตุผลว่า DREAM Act เป็นการอภัยโทษแก่ผู้ลักลอบเข้าเมือง เป็นการส่งเสริมให้มีการหลบหนีเข้าเมืองในเวลาต่อมาโดยหวังว่าจะได้รับเข้าโครงการนี้

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และสมาชิกผู้ใหญ่ของพรรคเดโมแครตเสนอ DREAM Act เข้าสภาผู้แทนซึ่งผ่านร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 แต่ก็ไม่ผ่านวุฒิสภา

ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 วุฒิสมาชิกผู้นำเสียงข้างมากเสนอร่างเข้าวุฒิสภาอีก แต่ก็ไม่ผ่านด้วยข้อทักท้วงที่ว่า รัฐบาลควรมีการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองให้จริงจังก่อน

จึงเกิดโครงการ DACA ขึ้นมาแทนภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

เมื่อ DREAM Act ไม่ผ่านวุฒิสภา วันที่ 15 มิถุนายน 2555 นายโอบามาจึงใช้วิธีออกคำสั่งการปฏิบัติงานของประธานาธิบดี (ไม่ใช่มาตรา 44) ว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ส่งกลับคนต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีคุณสมบัติตาม DREAM Act โดยผ่านโครงการ DACA ซึ่งย่อมาจาก Deferred Action for Childhood Arrivals แปลว่า การเลื่อนการส่งกลับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่เด็กออกไป เนื่องจากโครงการนี้จะคุ้มครองผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่เข้ามาอเมริกาตั้งแต่เด็กตามแนวคิดของ DREAM Act จึงนิยมเรียกผู้เยาว์ต่างด้าวในโครงการนี้ว่า Dreamers หรือนักล่าฝัน

ผู้จะเข้าโครงการ DACA ได้ ต้องเข้าอเมริกาก่อนอายุ 16 ปี และอยู่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 ต้องมีอายุระหว่าง 15-31 ปีในปี 2555 และไม่เคยต้องโทษหรือมีความประพฤติเสียหาย จะต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และต้องเป็นนักศึกษาอยู่หรือเรียนจบแล้วเท่านั้นจึงจะสมัครได้ หากผ่านการตรวจสอบแล้ว พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจากโครงการ 2 ปี และสามารถต่ออายุได้เมื่อครบกำหนด โดยมีค่าธรรมเนียมครั้งละ 495 ดอลลาร์ ผู้อยู่ในโครงการสามารถเดินทางออกนอกประเทศเฉพาะกรณีการทำงานและไม่ใช่การพักผ่อนหรือเยี่ยมญาติ

การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้งต้องเสียค่าสมัครครั้งละ 576 ดอลลาร์ ผู้ที่อยู่ในโครงการสามารถเปิดเผยตัวตนและขอใบขับขี่รถยนต์ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายตลอดจนสามารถเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นพลเมืองอเมริกันหรือได้รับสถานะผู้พำนักถาวร

ณ เดือนสิงหาคม 2555 สถาบันนโยบายการย้ายถิ่น (Migration Policy Institute: MPI) คำนวณว่ามีผู้มีคุณสมบัติเข้าโครงการ ประมาณ 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 28 อายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 20 ยังมีการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์แต่จะมีคุณสมบัติได้โดยการเข้ารับการศึกษาก่อนสมัคร ร้อยละ 74 มาจากเม็กซิโก หรืออเมริกากลาง มีร้อยละ 6 มาจากเอเชีย ในปี 2559 MPI คำนวณว่าจำนวนผู้มีคุณสมบัติเพิ่มเป็น 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมจำนวน 1.3 ล้านคน ประมาณ 4 แสนคน การศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด คือไฮสคูล (แต่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาผู้ใหญ่และสอบเทียบได้) และประมาณ 2.3 แสนคนอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด 15 ปี

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า มีผู้สมัครเข้าโครงการ 9 แสนคน และได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการจำนวน 8 แสนคน

ฝันสลายเพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์?

เรื่องนี้ลึกๆ แล้วจะว่านายทรัมป์คนเดียวคงไม่ได้?

ถึงแม้นายทรัมป์ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่าเขาจะยกเลิกโครงการ DACA ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นเพราะเขาถูกกดดันทางการเมือง

กล่าวคือย้อนหลังไปปี 2557 อดีตประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศขยายโครงการ DACA ด้วยการสร้างโครงการใหม่ คือ Deferred Action for Parents of Americans (DAPA) โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุญาตให้ทำงานและเลื่อนการส่งกลับให้กับพ่อแม่ของเด็กที่มีสัญชาติอเมริกัน หรือที่ได้สถานะผู้พำนักถาวรแล้วจำนวนประมาณ 4 ล้านคน แต่โครงการทั้งสองส่อแววว่าจะมีปัญหามาตั้งแต่นั้นแล้ว

ปัญหาสำคัญคือโครงการนี้สร้างความไม่พอใจให้รัฐที่ไม่เห็นด้วยคือเท็กซัส (ซึ่งมีชายแดนติดกับเม็กซิโกและรับภาระคนต่างด้าวผิดกฎหมายถึง 1.5 ล้านคน) และอีก 25 รัฐ รวมแล้วครึ่งประเทศฟ้องศาลรัฐบาลกลางให้รัฐบาล (นายโอบามา) หยุดการดำเนินโครงการทั้ง DACA และ DAPA ในปี 2558

การเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากกลุ่มที่สนับสนุนการควบคุมคนต่างด้าวและจำกัดจำนวนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ละเมิดกฎหมาย

รัฐกลุ่มนี้ฟ้องว่านายโอบามาลุแก่อำนาจที่ให้สถานะทางกฎหมายและการอนุญาตให้ทำงานแก่คนต่างด้าวผิดกฎหมายโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส รวมทั้งข้อหาว่าโครงการนี้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้รัฐดังกล่าวในการบังคับใช้กฎหมาย การรักษาพยาบาล การศึกษา และการให้สวัสดิการอื่นๆ

ในปีนั้น ศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลางได้ตัดสินให้หยุดโครงการไว้ก่อน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้เลิกล้มโครงการ และเมื่อมีการส่งคดีไปศาลสูงหรือศาลฎีกาก็ได้ตัดสินด้วยคะแนน 4-4 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 จึงต้องส่งเรื่องกลับไปศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืน คือให้รัฐหยุดดำเนินการโครงการ DAPA และไม่ให้ DACA รับคนใหม่ แต่ยังคุ้มครองผู้ที่อยู่ในโครงการเดิม

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 2560 อัยการรัฐเท็กซัสฟ้องศาลว่าให้รัฐบาลกลางยกเลิกโครงการ DAPA และ DACA ภายในวันที่ 5 กันยายน 2560 โดยมีอัยการรัฐอีก 9 รัฐ และผู้ว่าการรัฐไอดาโฮร่วมยื่นคำขาดต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกโครงการ DACA ภายในวันที่ 5 กันยายน 2560 โดยขู่ว่า “ยกเลิกโครงการ DACA ถ้าไม่อยากโดนพวกเราเล่นงานทางกฎหมาย”

ในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิจึงประกาศว่าจะยกเลิกการปฏิบัติของผู้บริหารของรัฐบาลนายโอบามาในการขยายโครงการ DACA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DAPA โดยจะทบทวนโครงการ DACA ต่อไป

อัยการรัฐเท็กซัสและผู้ร่วมฟ้องไม่ยอม และส่งจดหมายถึงอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เรียกร้องให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทำมากกว่านั้นโดยค่อยๆ ยกเลิกโครงการ DACA ทั้งหมด

และวันที่ 5 กันยายน 2560 นายทรัมป์จึงแถลงต่อสภาคองเกรสว่าจะยุติโครงการ DACA

ในวันเดียวกันอัยการสูงสุดของอเมริกา เจฟ เซ็สชั่น ประกาศเลิกโครงการ DACA

นายเซ็สชั่นกล่าวว่า การยกเลิก DACA จะรอไปอีก 6 เดือน เพื่อให้เวลาสภาคองเกรสเตรียมตัวหาทางแก้ไขด้านกฎหมายว่าจะทำอย่างไรกับผู้ที่ได้หรือมีสิทธิได้ DACA ที่มีอยู่เดิม

ชะตากรรมของนักล่าฝันจะเป็นอย่างไรต่อไป

นายทรัมป์บอกว่า จากนี้ไปเป็นเรื่องของสภาคองเกรสแล้ว

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image