จำคุก ‘ปู’ 5 ปี บทเรียนการบริหาร ที่ต้อง’ศึกษา’

27 กันยายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา

คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558

ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย

คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทในโครงการจำนำข้าว

Advertisement

ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา

และให้ออกหมายบังคับ เพื่อนำตัวมารับโทษ

การนัดฟังคำพิพากษาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 เพราะเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯเคยนัด น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟังคำพิพากษาคดีแล้ว

แต่วันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มา ทนายความแจ้งว่า ป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ศาลพิเคราะห์เห็นว่าไม่น่าเชื่อ จึงออกหมายจับ

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ปรากฏตัว

มีเพียงแค่การสืบสวนสอบสวน และควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย

และให้การยอมรับว่า วันที่ 23 สิงหาคม ได้ขับรถนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ไปส่งห่างจากสถานีรถไฟอำเภออรัญ

ประเทศ 1 กิโลเมตร และเห็นมีรถกระบะมารับช่วงต่อ

จากนั้นตำรวจที่ไปส่ง ได้ขับรถกลับกรุงเทพฯ

และไม่รู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ไหน

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 ว่า รู้ที่อยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ขออุบไว้ก่อน อาจจะบอกหลังวันที่ 27 กันยายน ซึ่งก็คือวันที่ศาลนัดฟังคำตัดสินอีกรอบ

และผลการตัดสินก็ออกมาแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดตามฟ้อง

ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

ผลจากคำตัดสิน จะทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมือง

หนึ่ง เกิดความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยต้องพบกับปัญหาผู้นำพรรคแน่นอน

เพราะจุดขายแรก ทักษิณ ชินวัตร ต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

ผู้นำที่โดดเด่นอีกคนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องหนีคดี

พรรคเพื่อไทยจึงต้องทบทวน และควานหาผู้นำพรรค เพื่อเป็นจุดขายของพรรคก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้น

สอง ผลของคำตัดสินนี้มีความหมายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ชัดเจนว่านโยบายพรรคการเมืองอย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนั้นยังสามารถกระทำได้

และชัดเจนเช่นกันว่าการบริหารนโยบายอาจก่อเกิดความผิดขึ้นได้

และผู้ต้องรับผิดชอบอาจมีตำแหน่งสูงถึงระดับนายกรัฐมนตรี

 

ผลจากคดี แม้ยังไม่ถึงที่สุด แต่อาจกลายเป็นมาตรฐานในการบริหารนโยบายของรัฐบาล

โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคต

อย่าลืมว่า รัฐบาลชุดไหนๆ ก็ต้องบริหารประเทศ

ต้องมีนโยบาย ต้องบริหารนโยบาย และรับความเสี่ยงจากการบริหาร

ในเมื่อคดีนี้ นายกรัฐมนตรีบริหารงานและเกิดปัญหาในการบริหาร

จนเป็นการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต

จึงเป็นคดีที่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องศึกษา

เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินซ้ำรอยเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image