เศรษฐศาสตร์การเมืองของการเข้าใจเผด็จการ (โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์) : ประจำวันที่ 3 ตุลาคม

ดราม่าในสัปดาห์ที่แล้วเรื่องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ทำให้หลายคนเกิดตั้งคำถามขึ้นมาว่า ระบอบรัฐประหารในรอบนี้นั้นกำลังปรับตัวครั้งใหญ่หรือไม่

ทั้งที่คำถามสำคัญในสังคมในสัปดาห์ก่อนนั้นคือ จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ (คำตอบแบบสามวาสองศอกของระบอบนี้ก็คือ เป็นไปตามโรดแมป ซึ่งสะท้อนความ “อ่อน” ของสื่อมวลชนที่ไม่รู้จักถามคำถามใหม่ๆ เช่น “ถ้าท่านบอกว่าเลือกตั้งตามโรดแมป แล้วในโรดแมปบอกว่าเมื่อไหร่ล่ะท่าน”)

อีกสัปดาห์ต่อมา คำตอบจากระบอบรัฐประหารก็คือ มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ดูเหมือนจะมีการนำเอาฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่นอกวงอำนาจเดิมเข้าไปร่วมด้วยนิดๆ หน่อยๆ โดยเฉพาะขวัญใจประชาชนผู้แข็งแกร่งในปฐพี ซึ่งท้ายสุดก็กลายเป็นเรื่องของการปฏิเสธการเข้าร่วมไปแล้ว

ทางออกหนึ่งในเรื่องกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้น ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการประชันวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองในกระบวนการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้มีการเสนอตัวรับสมัครเข้ามาทำงานจากหลายๆ ฝ่าย และสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า อำนาจในการวางยุทธศาสตร์ประเทศจะไม่ได้อยู่ในมือของพรรคการเมืองล้วนๆ หรือในมือข้าราชการประจำล้วนๆ แต่เป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย

Advertisement

แต่ถ้ามองว่าเรื่องยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้นเป็นเรื่องแค่การตอบแทน หรือขยายขอบเขตความชอบธรรมของระบอบเผด็จการออกไป ดังนั้นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตั้งใครโดยไม่ได้เชิญราวกับออกลอตเตอรี่แบบนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นอะไรที่ผมจะอยากวิเคราะห์ต่อครับ

เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นจริงๆ ก็คือการตอบตัวเองว่าเราจะอยู่ในระบอบเผด็จการอย่างไร และจะร่วมมือกับเผด็จการแค่ไหน

เรื่องนี้อาจจะต่างกับเรื่องว่าเราจะสู้กับระบอบเผด็จการอย่างไร เพราะถ้าเขียนเรื่องนั้นในยุคเผด็จการก็อาจจะเข้าข่ายไปสร้างความขุ่นข้องหมองใจ และสร้างความวุ่นวายให้กับเผด็จการที่อยู่ในอำนาจ และอาจจะเดือดร้อนได้ง่ายๆ

Advertisement

ย้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่การต่อสู้และต่อต้านเผด็จการ แต่เป็นเรื่องของการพยายามเข้าใจและต่อรองกับเผด็จการ

การเข้าใจไม่ได้หมายถึงการเห็นใจและเห็นด้วย แต่อาจจะหมายถึงการเข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่เห็นด้วยเหมือนที่ไม่เห็นด้วยมาตลอดนั่นแหละครับ

การเข้าใจเผด็จการนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง ในที่นี้จะขออภิปรายในเรื่องที่ว่าภาวะประสาทแดกของเผด็จการเกิดจากอะไร และจะเกี่ยวพันกับเผด็จการอย่างไรดี

ตกลงเผด็จการเป็นคนบ้าหรือไม่? – เรามักจะพบกับปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในการอยู่ในระบอบเผด็จการ และเรามักจะพบกับความง่ายในการไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เผด็จการเป็นพวกบ้า พวกประสาทแดก ชอบตวาดคน อาละวาดโวยวายอยู่บ่อยครั้ง

เนื่องจากผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผมไม่อาจลงความเห็นได้ว่าเผด็จการนั้นบ้าหรือไม่ แต่เผด็จการจำพวกที่มีปัญหาทางอารมณ์ประเภทออกมาโวยวาย หรือชอบร้องขอความเห็นใจบ้าง ว่าเหนื่อยบ้าง หรืออาการประสาทแดก (paranoid) พวกนี้ในหลักวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเผด็จการนั้นเรียกว่าเป็นอาการไม่ปกติ (อันเป็นปกติ) ของ “ภาวะยุ่งยากใจของเผด็จการ” หรือ “ภาวะกระอักกระอ่วนของเผด็จการ” (dictator’s dilemmas)

ภาวะความยุ่งยากใจของเผด็จการคืออะไร? คำตอบก็คือ เผด็จการนั้นยึดอำนาจมาได้ มีอำนาจอยู่ในมือ และมีอำนาจอยู่ในมือมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย แต่สุดท้ายอำนาจล้นมือและอำนาจล้นฟ้านี้ทำให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้ปกครองนั้นมีความ “ลังเล” ที่จะพูดถึงความต้องการที่แท้จริงกับผู้ปกครองประเภทนี้

ความลังเลที่จะพูดถึงความต้องการที่แท้จริงกับผู้ปกครองเผด็จการนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ “ความหวาดกลัว” ที่ผู้ใต้ปกครองมีต่อผู้ปกครอง

ที่ผู้ปกครองเผด็จการแบบโง่ๆ อาจจะคิดว่า ก็ดีนะที่คนใต้ปกครองนั้นกลัวและเชื่อฟังเรา เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลในการยึดอำนาจ เพราะต้องการให้คนเชื่อฟัง เพราะคนไม่เชื่อฟังกันก่อนหน้านี้มิใช่หรือ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเผด็จการอยู่ในอำนาจนานเข้า ความกลัวที่ประชาชนมีต่อเผด็จการก็จะส่งผลให้เผด็จการเริ่มเกิดความกลัวได้เช่นกัน

เพราะเมื่อไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน (แต่ดันเชื่อว่าความต้องการที่แท้จริงมาจากประชาชนผ่านพวกลูกน้อง ทีมเครือข่ายที่ตั้งเข้ามาอยู่ในอำนาจ และพวกโพลสอพลอ) เผด็จการก็จะเริ่มไม่รู้ว่าความคิดและนโยบายที่ตนเองออกไปนั้นมันถูกต้องจริงไหม

ภาวะไม่นับว่าเผด็จการที่ไปโค่นอำนาจคนอื่นมาย่อมต้องหวาดกลัวว่าวิธีการขึ้นสู่อำนาจของตนนั้นมันผิด และการทำให้สิ่งผิดเป็นสิ่งถูกนั้นไม่ใช่ตนฝ่ายเดียวที่ทำได้ ดังนั้นเผด็จการก็จะหวาดกลัวว่าคนอื่นจะใช้วิถีทางเดียวกันกับที่ตนเคยทำมานั้นยึดอำนาจตน หรือจัดการตนนอกกติกาได้เช่นเดียวกัน

ภาวะกระอักกระอ่วนทางอำนาจของเผด็จการจึงออกมาในรูปลักษณะที่ว่า เมื่อกลัวจะมีการต่อต้านก็ต้องปราบหนัก เมื่อปราบหนักก็ยิ่งไม่รู้ความต้องการประชาชน (ส่วนจะออกมาเที่ยวด่าประชาชนว่าโง่เง่า หลงเชื่อนักการเมืองนั้น ก็เข้าอีหรอบเดิมคือเดินหน้าสร้างศัตรูต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะเดินหน้าสร้างผลงานซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลงานนั้นดีจริงไหม สุดท้ายก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว และพร่ำเพ้อไปเรื่อยว่าตนนั้นไม่มีใครรัก และพยายามร้องบอกโลกดังๆ ว่าไม่ต้องการความรัก … ฮ่าๆ)

ต้นทุนของการเป็นเผด็จการและอยู่ในอำนาจของเผด็จการจึงเป็นเรื่องของการสูญเสียความสามารถในการค้นหาว่านโยบายของเขานั้นเป็นที่นิยมหรือไม่ (ขณะที่การเลือกตั้งนั้นส่วนหนึ่งแสดงออกชัดเจนว่าประชาชนนิยมใครและนโยบายไหน) และการสูญเสียความสามารถที่แท้จริงที่จะรู้ว่าเผด็จการจะปลอดภัยในอำนาจได้ถึงเมื่อไหร่

นักวิชาการบางท่านถึงกับให้ข้อสรุปว่า เผด็จการนั้นเอาเข้าจริงมีความมั่นคงทางอารมณ์และการเมืองน้อยกว่าผู้นำประชาธิปไตย และนั่นคือที่มาของการที่เราเห็นผู้นำเผด็จการออกอาการประสาทแดกอยู่บ่อยครั้ง และนอกเหนือจากอาการประสาทแดกที่เราเห็นแล้ว ผู้นำเผด็จการยังว้าวุ่นใจว่าจะจัดสรรทรัพยากรของตนแค่ไหนที่จะเพียงพอต่อการรักษาอำนาจของตนไว้ เพราะงบประมาณประชาสัมพันธ์และการปราบปรามที่ใส่ลงไปนั้นอาจถูกแอบถามในใจประชาชน (เพราะประชาชนก็ไม่กล้าวิจารณ์ตรงๆ) ว่า เอาไปทำอย่างอื่นดีไหม หรือไหนบอกจะมาพัฒนาประเทศ ทำไมเอางบประมาณมหาศาลไปใช้ปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง หรือไปใช้โฆษณาผลงานตัวเองอย่างนั้นล่ะ?

การเลือกตั้ง เสรีภาพสื่อและประชาชน และความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการ ทำให้ประชาชนนั้นส่งสัญญาณถึงผู้ปกครองได้ดีกว่าระบอบเผด็จการ และการแก้ปัญหาประชาธิปไตยด้วยเผด็จการนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาการส่งสัญญาณของประชาชนต่อผู้ปกครองได้

แต่อย่าลืมว่าเผด็จการก็ไม่ได้โง่ พวกเขาเข้าใจดีถึงภาวะท้าทายในการเข้ามาปกครอง ดังนั้นเมื่อเขาเจอกับภาวะความยุ่งยากใจว่าการที่เขาเข้ามากดบังคับประชาชนนั้น เขาจะไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ง่ายนัก ทางเลือกและทางรอดหนึ่งก็คือ เขาจะเลือกที่จะ “จ่ายหนัก” หรือ “ซื้อใจ” กับกลุ่มต่างๆ ที่เขาต้องการสร้างความภักดีและไว้เนื้อเชื่อใจ การซื้อใจแบบจ่ายหนัก (กว่า) นี้อาจทำในสองลักษณะ

หนึ่ง คือการซื้อใจผู้คนทั่วไปว่าฉันจ่ายให้หนักกว่า ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้น

สอง คือการเลือกซื้อใจคนบางกลุ่มบางก้อน เพื่อสร้างพันธมิตรทางอำนาจ เช่น ระบอบนาซี ก็จะเอาใจกลุ่มหมอเยอรมันมากขึ้น เพราะได้คนไข้เพิ่มมาจากหมอชาวยิว หรือระบอบแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ก็จะได้ใจของคนงานไร้ฝีมือผิวขาว เพราะได้อภิสิทธิ์จากระบอบนี้มากกว่าคนงานผิวดำ

ใครที่แสดงออกซึ่งการสนับสนุนเผด็จการ และทำผลงานได้เข้าตา เผด็จการก็จะตอบแทนให้เป็นพิเศษ ซึ่งนายทุนก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะได้ประโยชน์จากเผด็จการด้วยสิทธิพิเศษในการผูกขาดกิจการและกิจกรรมบางอย่างในระบอบเผด็จการ

นโยบายการกดบังคับ-ปราบปรามผู้เห็นต่างและนโยบายการส่งเสริมพวกที่สนับสนุนระบอบเผด็จการจึงดำเนินไปคู่กัน เพื่อลดภาวะกระอักกระอ่วนใจของเผด็จการลง

การปราบปรามประชาชนทำให้เผด็จการไม่ได้รับความนิยมจริงไหม? ในหลายระบอบเผด็จการนั้น ยิ่งปราบปรามประชาชนอาจจะได้รับความนิยมก็ได้ เพราะรัฐบาลเผด็จการนั้นไม่ได้เป็นพวกบ้าคลั่งในการปราบปรามเสมอไป การเข้าใจเผด็จการของนักวิชาการทำให้เห็นความเชื่อมโยงสำคัญของการปราบปรามกับเงื่อนไขทางอำนาจอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ? นั่นก็คือ “ความภักดีต่อผู้ปกครอง”

กล่าวคือ จุดมุ่งหมายสำคัญของการปราบปรามนั้นก็คือ การต้องการให้เกิดความเชื่อฟัง ทีนี้การจะนำไปสู่การเชื่อฟังได้นั้นไม่จำเป็นจะต้องมาจากการปราบปรามเสมอไป ระบอบเผด็จการจึงอาจจะแบ่งได้เป็นสี่แบบ

1.เผด็จการที่ปราบปรามน้อย ประชาชนมีความภักดีน้อย
2.เผด็จการที่ปราบปรามมาก ประชาชนมีความภักดีน้อย (ที่เรียกว่าทรราชย์)
3.เผด็จการที่ปราบปรามมาก ประชาชนมีความภักดีมาก (เผด็จการเบ็ดเสร็จ)
4.เผด็จการที่ปราบปรามน้อย ประชาชนมีความภักดีมาก

จะเห็นได้ว่าท่าทีของเผด็จการที่มีต่อประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องของการเอาแต่ปราบปรามประชาชน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการอยู่ในอำนาจให้ได้ด้วย ดังนั้นถ้าเขาปราบปรามมากไป เขาก็จะอยู่ในอำนาจได้ลำบาก นอกจากนี้แล้วนอกเหนือจากการปราบปราม เขาก็ต้องบริหารประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเช่นเดียวกัน และบางส่วนของการกินดีอยู่ดีของประชาชนนั้นย่อมจะมาจากการเปิดเสรีภาพบางส่วนให้ประชาชน จะไปปิดกั้นในทุกเรื่องไม่ได้ เช่น ต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ หรือเปิดให้มีเสรีในการสื่อสาร แต่จะต้องคุมบางส่วน แต่ถ้าคุมมากไป ความภักดีต่อระบบก็อาจจะน้อย หรือความกินดีอยู่ดีก็อาจจะน้อยเช่นเดียวกัน

ภาวะกระอักกระอ่วนใจของเผด็จการจึงเป็นเรื่องอันเป็นปกติของการปกครองในระบอบเผด็จการ จะใช้อำนาจเต็มที่ก็เกิดปัญหาร้อยแปด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแค่วัฒนธรรม แต่เป็นเรื่องของภาวะของการเลือกอย่างมีเหตุผลของเผด็จการเอง เมื่อเขาต้องสัมพันธ์กับประชาชน ยิ่งเมื่อเราเข้าใจว่าจุดเด่นของเผด็จการคือการมีอำนาจในมือที่จะทำอะไรก็ได้ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจต่อก็คือจริงไหมที่เผด็จการทำอะไรก็ได้ เพราะเผด็จการก็จะต้องเลือกทำภายใต้ข้อจำกัดเช่นเดียวกัน อำนาจของเผด็จการนั้นอาจจะมีมาก แต่ข้อมูลและความจริงใจ-ภักดีจากประชาชนเป็นสิ่งที่เผด็จการอยากได้ แต่มักจะไม่ได้จากประชาชน

ยิ่งประชาชนไม่มีเสรีภาพ และศาลเองไม่เป็นอิสระ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่เผด็จการจะได้มาซึ่งข้อมูลและความต้องการของประชาชนที่แท้จริง เพราะไม่มีใครคานอำนาจหรือเตือนรัฐบาลเผด็จการได้

จะช่วยหรือจะชิ่งเผด็จการดี? ในระดับนานาชาตินั้น ข้อถกเถียงว่าจะอยู่กับเผด็จการอย่างไรเป็นเรื่องใหญ่ บ้างก็บอกว่าไม่ควรไปคบค้าสมาคมด้วย บ้างก็บอกว่าจะต้องมีการเกี่ยวพันกับเผด็จการอย่างสร้างสรรค์ (constructive engagement) คำตอบสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ การเข้าไปเกี่ยวพันกับเผด็จการอย่างสร้างสรรค์นั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อต้องยึดกุมหลักการบางข้อให้มั่น เช่น ถ้าจะให้เงินช่วยเหลือก็ต้องช่วยเหลือด้วยเงื่อนไขบางประการ โดยเฉพาะเรื่องของการยกระดับสิทธิมนุษยชน และการกดดันให้เกิดการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเข้าใจลักษณะของเผด็จการนั้นๆ ด้วยว่าเป็นแบบไหนดังที่กล่าวถึงไปสี่แบบข้างต้น

ประเด็นที่กล่าวถึงในระดับนานชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญและน่ามาคิดต่อว่า ในกรณีที่เราอยู่ในประเทศนั้น ถ้าเราไม่ได้อยู่ในทางเลือกเดียวของการต่อต้านเผด็จการในระดับอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ (เช่น เนื่องจากเป็นรัฐบาลเผด็จการกระผมจะไม่ร่วมมือเลย และจะย้ายไปอยู่ดาวอังคาร) การให้ความร่วมมือและไม่ให้ความร่วมมือกับเผด็จการอาจจะมีเงื่อนไขและคำอธิบายอยู่หลายข้อ

หนึ่ง คือกิจการบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของเผด็จการและประชาธิปไตยโดยตรง เช่น เรื่องของปฏิบัติการพื้นฐานของรัฐ เรื่องนั้นก็คงจะต้องดำเนินต่อไป เช่น การเคารพกฎหมาย ตราบเท่าที่กฎหมายนั้นมีลักษณะที่เป็นหลักนิติรัฐและนิติธรรม คือไม่ว่าใครออกก็ใช้บังคับเสมอกัน

สอง คือในระดับของการตั้งคำถามกับหลักธรรมาภิบาล (good governance) ของรัฐ? ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ต้องพร้อมรับผิดต่อประชาชน (accountability)

สาม คือการตั้งคำถามอิงกับเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน ว่าที่ผมไม่ให้ความร่วมมือกับการไปเป็นกรรมการชุดนั้นชุดนี้ เพราะระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของท่านนั้นมีปัญหา (หรือผมจะเข้าร่วมภายใต้เงื่อนไขที่ท่านจะต้องคืนอำนาจกับประชาชนภายในเงื่อนเวลาดังต่อไปนี้ ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ผมจะถอนการสนับสนุน)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ว่า นอกเหนือจะลุกฮือ หรืออ้างว่าผมไม่มีความรู้อย่างเพียงพอแล้ว อาจจะยังพอมีการเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ในเชิงการต่อรองกับเผด็จการได้ ถ้าเราพยายามเข้าใจว่าภาวะประสาทแดกของเขามาจากไหนกันบ้างนั่นแหละครับ

(หมายเหตุ – ได้รับแรงบันดาลใจจาก Ronald Wintrobe. 2001. “How to Understand, and Deal with Dictatorship: An Economist’s View”. Economic of Governance. Vol.2. 35-58.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image