ยังเติมไม่เต็ม โดย ปราปต์ บุนปาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

เป็นที่ฮือฮาไม่น้อย เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ฮือฮาเพราะว่าในคณะกรรมการชุดที่ 2 ที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน”

ซึ่งมีขอบเขตการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นว่าด้วยการค้า การลงทุน การผลิต การบริการ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาพื้นที่พิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกในทางธุรกิจ

นั้นมีชื่อ “รองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย ร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย

Advertisement

มองในแง่บวกสำหรับรัฐบาลและ คสช. การมีชื่อชัชชาติ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้กุมอำนาจการบริหาร-กำหนดทิศทางประเทศในยุคปัจจุบัน มุ่งมั่นจริงจังในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ โดยพยายามจะก้าวข้ามการแบ่งฝักฝ่ายในทางการเมืองเท่าที่จะสามารถทำได้

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนผลกระทบด้านลบจะไปตกอยู่กับชัชชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐมนตรีน้ำดี” ของรัฐบาลเลือกตั้ง (แม้จะมิใช่นักการเมืองโดยตรง) และมีภาพติดตัวเป็นคนมีฝีมือ-ขยันขันแข็ง-มีความรู้ ของฝ่ายที่เลือกข้างระบอบประชาธิปไตย

เสียงวิจารณ์ในแง่ลบที่มีชื่อชัชชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้โครงสร้างอำนาจของ คสช. จึงมาจาก “คนกันเอง” ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือเป็นกองเชียร์ของเขา และมักจะผูกโยงภาพลักษณ์ของ “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” เข้ากับ “รัฐบาลเลือกตั้ง” และ “ระบอบประชาธิปไตย”

Advertisement

ไม่กี่วันหลังการเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว

ชัชชาติก็ออกมาปฏิเสธชัดเจนว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของตนเอง

อดีต รมว.คมนาคม อธิบายว่ามีการทาบทามเขาให้เข้าร่วมเป็นกรรมการฯ เมื่อบ่ายวันที่ 27 กันยายน โดยเจ้าตัวขอศึกษารายละเอียดก่อน แต่พอตกค่ำ ก็มีรายชื่อออกมาในสื่อเรียบร้อยแล้ว

ชัชชาติระบุว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลาและความทุ่มเทมหาศาล ขณะที่ตนมีงานประจำในบริษัทมหาชน และมีภาระด้านครอบครัว นอกจากนี้ เขายัง “ไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดและหลักการของยุทธศาสตร์ชาติอย่างถ่องแท้”

เมื่อรู้ว่าคงทำงานนี้ได้ไม่ดี เขาจึงจะเดินทางไปยื่นหนังสือไม่ขอรับตำแหน่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม

ไม่ว่าเหตุผลในการไม่ยินยอมรับตำแหน่งของชัชชาติจะเป็นอย่างที่เจ้าตัวบอกกล่าวต่อสาธารณะ หรือจะมีที่มาจากการประเมิน “ผลได้-ผลเสีย” ประการอื่นๆ ซึ่งเจ้าตัวมิได้เปิดเผยรายละเอียดออกมา

ทว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้รัฐบาลและ คสช. จะพยายามอย่างหนักหน่วงเพียงใด ในการแสวงหาความร่วมมือที่กว้างขวางที่สุดจากหลากกลุ่มหลายฝ่าย

แต่สุดท้าย ก็ยังมี “ช่องว่าง-รูโหว่” บางอย่าง ที่เติมได้ไม่เต็ม

………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image