ภาษีทรัพย์สิน ยุคดิจิทัล โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผู้บริหารสภาหอการค้าแห่งประะทศไทย ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขอให้ทบทวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ให้ยกเว้นภาษีโดยใช้มูลค่ารวมของทรัพย์สินทั้งหมดในเขตการปกครองท้องถิ่นเดียวกัน เช่น ทรัพย์สินที่ใช้อยู่อาศัยมูลค่ารวมกันในเขตเทศบาลเดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี และควรลดภาษีให้กับทรัพย์สินจากการรับมรดก

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องของกระบวนวิธีในการจัดเก็บ ทำให้ผู้มีทรัพย์สินถึงระดับที่ระบุไว้เสียภาษีน้อยลง ในขณะที่ประเด็นหลักที่สังคมสนใจติดตาม คือ ฐานตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป กับไม่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผู้มีทรัพย์สินที่อยู่อาศัยในระดับราคาดังกล่าวมีเป็นส่วนน้อย

การกำหนดตัวเลขสูงถึงระดับนั้นทำให้ฐานการจัดเก็บภาษีแคบ ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไปทำโครงการพัฒนาไม่มากนัก หากกำหนดมูลค่า 10 ล้านบาทจะทำให้ฐานการจัดเก็บกว้างขึ้น ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น

หากเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บ มาเป็นปรับอัตราขั้นต่ำของมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่่มขึ้นทุกปี น่าจะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่า

Advertisement

ขณะเดียวกันปรับฐานคิดใหม่ จากทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยที่สุด เพราะเกรงกระทบกับผู้มีทรัพย์สินมากและกระเทือนถึงสถานการณ์ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะภาษีนี้จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง เปลี่ยนเป็นเพื่อการกระจายความเป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อต้องการหารายได้เข้ารัฐทั้งหมด แต่ทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม จากทรัพย์สินที่คนกลุ่มน้อยมีอยู่มากเกินไป

หากกระทรวงการคลังยืนยันตัวเลขเดิมที่เคยคิดไว้ เน้นลดหย่อนภาษีให้กับคนจนและผู้มีรายได้น้อย เช่น การเก็บภาษีบ้านและที่ดินคิดตามมูลค่าล้านละ 1,000 บาท ในส่วนของสองล้านบาทแรกเก็บเพียง 25% ล้านที่สามและสี่เก็บเพียง 50% และล้านที่ห้าเก็บเต็ม ทำให้บ้านราคาไม่เกิน 4 ล้านบาทเสียภาษีเพียง 1,500 บาท/ปี ซึ่งน้อยมาก ฐานภาษีก็จะกว้างขึ้น ทำให้ผู้เสียภาษีมีส่วนช่วยพัฒนาท้องถิ่นและร่วมติดตามการบริหารจัดการให้เป็นไปเพื่อส่วนรวมมากขึ้น

ความเป็นจริงเกี่ยวกับการออกกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอุปสรรคมาตลอด ไม่เฉพาะแต่รัฐบาลแม่น้ำ 5 สายขณะนี้ซึ่งเขียนไว้ในนโยบายที่แถลงชัดเจน เมื่อเกิดการคัดค้านจากกลุ่มนักธุรกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก ยกคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บ้านเกษโกมล จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทบทวน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558

Advertisement

แม้ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดียวกันแต่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังใหม่ มีมติให้ความเห็นชอบกฎหมายนี้ตั้งแต่วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ตัวเลขฐานปรับเปลี่ยนไปจากเดิม และนำส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เวลาผ่านมาถึงวันนี้ แก้แล้วแก้อีกหลายรอบ กรรมาธิการต้องขอขยายเวลาไปถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560

สิ่งที่น่าคิดพิจารณา ไม่ใช่แค่กระบวนการบัญญัติกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม ต้องใช้เวลามาก ตรงกันข้ามกันกับกฎหมายเพื่อกระตุ้นความเจริญเติบโต การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของสังคมไทยขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นจริง มุ่งเน้นรูปแบบ พิธีการมากกว่าเนื้อหาสาระ

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่แรกๆ ที่กฎหมายนี้ถูกยกร่างขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ของกระทรวงการคลังเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรอบ แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติเป็นที่ยอมรับของส่วนใหญ่ได้ เมื่อเกิดกรณีคัดค้านขึ้นคราวใด โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีพลังทางการเมือง เศรษฐกิจสูง หลักการ วิธีคิด จนกระทั่งรายละเอียดวิธีจัดเก็บ ก็เปลี่ยนไป ตามแรงกดดันนั้นๆ

ประกอบกับเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้งจะกระทบทำให้กฎหมาย ซึ่งเป็นคำตอบของยุทธศาสตร์ชาติแก้ความเหลื่อมล้ำถูกปรับไปเรื่อยมา ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีผลใช้บังคับปี 2560 เปลี่ยนเป็น 2561 และกำลังจะขยายต่อไปเป็น 2562

คงด้วยเหตุตามที่ลำดับมานี้ถึงทำให้แฟนคลับ เฟซบุ๊กเพจ “Land Watch Thai จับตาปัญหาที่ดิน” เป็นที่นิยมติดตาม เพราะเปิดบัญชีรายการถือครองที่ดินของสมาชิกสภานิติบัญญัติผู้ตัดสินชี้ขาดกฎหมายนี้ สร้างความฮือฮา ดังระเบิดเทิดเทิง เวลานี้ จนบางคนย้อนยุคไปคิดถึงภาษาซ้ายเก่าที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น” ถึงแม้แนวคิดเรื่องชนชั้นจะตกยุค ตกสมัย ดิจิทัล 4.0 ไปแล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image