ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ สินเชื่อและ GPP : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

๑.
ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่นั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เพราะคนมีความรู้สึกผูกพันกับจังหวัดบ้านเกิด อยากให้จังหวัดของตัวเองเจริญก้าวหน้า ไม่อยากถูกทอดทิ้ง ดังนั้นหากบ้านเมืองแตกต่างกันมากในมิติพื้นที่ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมจะถูกส่งต่อไปให้ฝ่ายการเมือง นักการเมืองจะอาสาเป็นตัวแทนประชาชนเรียกร้องขอความเป็นธรรม ขอให้เปลี่ยนแปลงวิธีจัดสรรงบประมาณใหม่ ซึ่งมักทะเลาะกันและนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในที่สุด ในโอกาสบ้านเมืองซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยจะมีการเลือกตั้งในไม่ช้า ขอนำผลการศึกษาความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง

๒.
ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ที่นำมาอภิปรายในที่นี้ มี 2 ตัวชี้วัด หนึ่ง มูลค่าเพิ่มของแต่ละจังหวัด เรียกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เป็นผลรวมจากสาขาการเกษตร-อุตสาหกรรม-และการบริการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประมวลข้อมูล และกรอบบัญชีประชาชาติที่ใช้กันทั่วโลก สอง สินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยในแต่ละจังหวัด ประมวลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นข้อมูลขนาดใหญ่จากบันทึกการปล่อยสินเชื่อทุกรายของทุกธนาคาร ไม่ใช่ตัวเลขที่เก็บจากการสุ่มตัวอย่าง

ใครๆ ก็ทราบว่าสินเชื่อมีความสัมพันธ์กับ GPP ภาคการผลิตจำเป็นต้องใช้สินเชื่อในการลงทุนเปิดกิจการใหม่ ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ และต้องอาศัยสินเชื่อเป็นทุนดำเนินการ สินเชื่อจึงเป็นดัชนีชี้นำที่นิยมใช้กว้างขวางและมีคุณสมบัติที่ดี รวดเร็วทันเหตุการณ์ เป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ใน ตารางที่ 1 แสดงการเติบโตของสินเชื่อ และ GPP เห็นชัดว่าการใช้สินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

Advertisement

เมื่อตรวจสอบข้อมูลให้ลึกคือ ดูว่าสินเชื่อกระจายตัวอย่างไรในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ก็ได้ความจริงที่ว่า สินเชื่อกระจุกตัวสูงในกรุงเทพฯ พร้อมแสดงข้อมูลประกอบใน ตารางที่ 2

๓.
ข้อมูลข้างต้นชี้ชัดว่า สินเชื่อสถาบันการเงินกระจุกตัวสูงคือร้อยละ 75 อยู่ในเขตกรุงเทพฯกับอีก 5 จังหวัดปริมณฑล – สูงจนน่าตกใจ และเกิดคำถามตามมาว่า หนึ่ง การที่สินเชื่อกระจุกตามเฉพาะพื้นที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของบ้านเมืองอย่างไร ดังกล่าวว่า สินเชื่อเป็นกระจกเงาที่สะท้อนการเจริญเติบโตของภาคการผลิต ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องสรุปว่า “เมืองไทยคือกรุงเทพฯ” และต้องพยากรณ์ต่อไปว่า ผู้คนจากทุกภูมิภาคก็จะหลั่งไหลเข้าเมืองหลวงหรือปริมณฑลรอบๆ รวมทั้งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน และนักลงทุนต่างชาติ ต้องการหางานทำหรือมาประกอบกิจการค้าขาย มาซื้อหรือเช่าที่ดินระยะยาว (เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต) สอง เราจะบริหารระบบเศรษฐกิจตาม “กลไกตลาด” โดยไม่มีระบบกำกับดูแลของภาครัฐหรืออย่างไร? และถ้าบ้านเมืองกระจุกตัวสูงขนาดนี้เป็นสิ่งพึงปรารถนาหรือไม่ คุ้มค่ากับปัญหาสังคมที่ตามมาหรือไม่? จราจรคับคั่ง อาคารบ้านจัดสรรคอนโดสูงในเมืองหลวง น้ำรอระบายเพราะว่าไม่มีพื้นที่ว่างหรือพื้นที่สีเขียวในเมือง

Advertisement

๔.
ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเรา เราต้องการระบบเศรษฐกิจแข่งขันตามกลไกตลาด และกำกับโดยภาครัฐให้เกิดความเป็นธรรม การกระจายทรัพยากรทั่วถึงทุกภูมิภาค รัฐส่งเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตโดยไม่ทอดทิ้งใครให้ล้าหลัง นี้เป็นหลักการที่ยอมรับโดยทั่วไป – แต่ในขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องตรวจสอบเชิงประจักษ์หรือประเมินการทำงานของภาครัฐ งานสืบค้นข้อมูลว่าด้วยการกระจายรายได้มีความสำคัญ ไม่อาจจะละเลย

เหมือนกับตำราเรียนทั่วไป มักจะมีคำถามท้ายบท

หนึ่ง รัฐบาล คสช. คิดเห็นอย่างไรกับสถิติการกระจุกตัวของสินเชื่อและ GPP

สอง รัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะตอบสนองกับปัญหาความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่อย่างไร

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image