ประยุทธ์ ทรัมป์ “เศรษฐกิจ-การค้า”นำ แลกเปลี่ยนสัมพันธ์

มีความจำเป็นทั้งในทางเศรษฐกิจ และความจำเป็นทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองในประเทศอย่างแน่นอน

ที่ผู้บริหารประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย จะต้องเดินสายไปพบปะพูดคุยกับผู้บริหารของประเทศมหาอำนาจ

ไม่ว่าจีน สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย

ดังเช่นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางไปเยือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในครั้งล่าสุด

Advertisement

สำหรับไทย “ไพ่อเมริกา” นอกจากจะสามารถเอามาร่วมกับ “ไพ่ญี่ปุ่น” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับ “ไพ่จีน” แล้ว

การแสวงหา “ความชอบธรรม” จากการยอมรับของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจของโลกประชาธิปไตย

ก็มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล และ คสช.ไม่น้อย

Advertisement

แต่ทุกอย่างในโลกมีราคาที่ต้องจ่าย

 

ในขณะที่ไทยหวังผลการเยือนอย่างผสมปนเปกันไป

จุดมุ่งหมายของสหรัฐอเมริกากลับตรงๆ ง่ายๆ กว่ากันมาก

นั่นคือเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน

เป็นการค้าที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า สหรัฐอเมริกาต้องการขายมากกว่าซื้อ

เหมือนที่นายทรัมป์พูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ในทันทีที่แรกพบหน้าว่า

“ผมคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ เราน่าจะพยายามขายของให้กับคุณมากขึ้นอีกสักหน่อย”

เหมือนที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐรายงานก่อนการพบกันของผู้นำทั้งสองประเทศว่า เมื่อปีที่แล้วสหรัฐขาดดุลการค้าไทย 18,900 ล้านดอลลาร์

มากที่สุดเป็นอันดับ 11 ในบรรดาประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐ

ดังนั้น ถึงบรรยากาศการหารือในห้องรูปไข่จะเป็นไปอย่างอบอุ่น

จนกระทั่งกำหนดเวลาในการพบปะหารือที่เดิมกำหนดไว้ 2 ชั่วโมง ยืดยาวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ชั่วโมงครึ่ง

และอบอุ่นถึงขนาดที่นางเมลาเนีย ทรัมป์ สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ

เป็นไกด์นำเที่ยวพา พล.อ.ประยุทธ์ และภริยา ออกทัวร์ทำเนียบขาวในแทบทุกซอกทุกมุม

แต่ผลของการเจรจาก็ออกมา “อย่างที่รู้ๆ กัน”

 

ด้านหนึ่ง สหรัฐกลับมา “พร้อมขาย” อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทยอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากลดระดับความสัมพันธ์กับกองทัพไทยมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549

ในจำนวนนี้นำหน้าด้วยเฮลิคอปเตอร์แบล๊กฮอว์ก

จะเป็น 4 ลำ จะเป็น 6 ลำ หรือจะเป็นเท่าไหร่ “ฟูล ออปชั่น” ขนาดไหน

อยู่ที่ “กระเป๋า” ของฝ่ายไทยว่าใบใหญ่พอหรือไม่

ถ้ามีมากพอ นายทรัมป์กล่าวกับนายกรัฐมนตรีไทยว่า แม้กระทั่งเครื่องบินขับไล่เอฟ 18 ก็พร้อมจะขายให้ได้

ที่ยังรอการแถลงผลการหารืออย่างเป็นทางการ แต่เป็นประเด็นมาก่อนหน้าการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์

ก็คือกรณีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่เป็นข่าวมาตลอดว่า สหรัฐกดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อและเครื่องในหมูจากสหรัฐ

ตลาดที่มีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท

ลองพิจารณาจากการพบปะของนายกรัฐมนตรี กับนักธุรกิจไทยที่ร่วมคณะไปเยือนสหรัฐในวันที่ 3 ตุลาคม ดู

ขณะที่ PTT Global Chemical ได้รับเกียรติทำพิธีลงนามถึงในทำเนียบขาว

ก็เพราะนำเงินเข้าไปลงทุนในสหรัฐหลักพันล้านบาท และจ้างคนงานกว่า 8,000 คน ในรัฐโอไฮโอ

ตามแนวทาง America First ของนายทรัมป์

เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ก็เตรียมลงนามซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐ 2 ฉบับ รวม 155,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ ทดแทนการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย

เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ถ่านหินสูงขึ้น SCG จึงต้องมองหาแหล่งถ่านหินใหม่

โดยเห็นว่าถ่านหินจากสหรัฐมีคุณภาพดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน

 

ในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มิตรไมตรีหรือการต้อนรับอย่างอบอุ่นนั้นเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด

สหรัฐและนายทรัมป์แสดงให้เห็นแล้วว่า

เมื่อผลประโยชน์มา หลักการเป็นเรื่องสำคัญรองลงไป

ประเด็นก็คือ รัฐบาลไทยที่ได้ “หน้าตา” เพิ่มขึ้นจากการเดินทางเยือนสหรัฐครั้งนี้

จะต้องใช้อะไรไปแลกเปลี่ยน

และการแลกเปลี่ยนนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่จริงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image