ซูเปอร์รุ้ง รุ้งเผือก & รุ้งแฝด : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

คราวก่อนผมชวนคุณผู้อ่านไปรู้จักรุ้งหลายแบบ ไม่ว่ารุ้งคู่ รุ้งต่ำ รุ้งสูง รุ้งเต็มวง รวมทั้งรุ้งแนวระดับ คราวนี้ขอนำรุ้งแปลกๆ มาให้ชมเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ก่อนอื่น ควรรู้ว่าขนาดของหยดน้ำมีผลต่อลักษณะสีสันของรุ้งด้วยเช่นกัน ดูภาพที่ 1 สิครับ

ภาพที่ 1 ลักษณะปรากฏของรุ้งขึ้นกับขนาดของหยดน้ำ

เริ่มจากภาพ A ที่มุมซ้ายบน จะเห็นรุ้งคู่ปกติ คือมีรุ้งปฐมภูมิ (ตัวล่าง) รุ้งทุติยภูมิ (ตัวบน) ตรงกลางมีแถบมืดของอะเล็กซานเดอร์กั้นอยู่ (บนท้องฟ้าจริงแถบมืดนี้จะดูหม่นๆ เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น) สังเกตว่ารุ้งปฐมภูมิและรุ้งทุติยภูมิ “หันสีแดงเข้าหากัน”

รุ้งในภาพ A เกิดจากหยดน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1000 ไมครอน หรือ 1 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดของหยดน้ำฝนนั่นเอง โดยทั่วไปหยดน้ำฝนมีขนาดในช่วง 0.1 ถึง 5 มิลลิเมตร หรืออาจใหญ่ถึง 8 มิลลิเมตรได้ในพายุฝนฟ้าคะนอง

จะเกิดอะไรขึ้นกับรุ้ง หากหยดน้ำมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ลองดูภาพ B, C และ D พบว่าธรรมชาติได้แถมรุ้งพิเศษมาให้ รุ้งที่ว่านี้เป็นแถบริ้วถี่ๆ ซ้อนกันอยู่ใต้รุ้งปฐมภูมิ และอยู่เหนือรุ้งทุติยภูมิ

Advertisement

รุ้งพิเศษนี้มีหลายชื่อ เช่น รุ้งซูเปอร์นิวเมอเรรี (supernumerary rainbow) แถบซูเปอร์นิวเมอเรรี (supernumerary band) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ซูเปอร์นิวเมอเรรี (supernumerary) เฉยๆ คำว่า supernumerary แปลว่า มีจำนวนมากกว่าปกติ ทั้งนี้ ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า
“ซูเปอร์รุ้ง” ก็แล้วกัน

ถ้ามองซูเปอร์รุ้งกับรุ้งที่อยู่ติดกันเป็นหนึ่งเดียวอาจเรียกว่า รุ้งซ้อน (stacker rainbow) ภาพรุ้งซ้อนบนฟ้ามักดูอวบหนาและสว่างกว่ารุ้งธรรมดามาก เรียกว่า “รุ้งตัวอ้วน” ก็น่าจะได้ ดูภาพที่ 2 สิครับ


ภาพที่ 2 : รุ้งซูเปอร์นิวเมอเรรี หรือ “ซูเปอร์รุ้ง”
ภาพ : Alinlux Ogo

ถ้าหยดน้ำมีขนาดเล็กจิ๋ว แถบสีรุ้งต่างๆ จะกว้างขึ้นจนทับซ้อนกันหมดกลายเป็นสีขาวนวล ดังภาพ E และภาพ F รุ้งสีขาวนวลนี้เรียกว่า รุ้งขาว (white rainbow) หรือ รุ้งเผือก (albino rainbow)

Advertisement

เนื่องจากหยดน้ำในเมฆ (หรือหมอก) มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10-15 ไมครอน (เล็กกว่าหยดน้ำในภาพ F) แปลว่า รุ้งที่เกิดจากหยดน้ำในเมฆ (หรือหมอก) เป็นรุ้งเผือกด้วย จึงเรียกว่า รุ้งเมฆ (cloudbow) หรือ รุ้งหมอก (fogbow) ขึ้นกับว่าเกิดจากอะไร คำว่า cloudbow และ fogbow บางทีเจ้าของภาษาก็เขียนแยกเป็น cloud bow และ fog bow

เรื่องน่าสนุกก็คือ จุดศูนย์กลางของรุ้งเผือกจะมี กลอรี (glory) เสมอ เพราะทั้งรุ้งเผือกและกลอรีต่างเกิดจากหยดน้ำขนาดเล็กจิ๋วในเมฆหรือหมอกเช่นกัน


ภาพที่ 3 รุ้งเผือก (หรือ “รุ้งเมฆ” ในกรณีที่เกิดจากเมฆ)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

อยากเห็นรุ้งเผือกต้องทำยังไง?

☐ถ้าคุณเห็นหมอกปกคลุมพื้นที่กว้าง (เช่น ทะเลหมอก) และหากดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง ก็มีสิทธิ์ลุ้นเห็นรุ้งเผือก รวมทั้งกลอรีด้วย

☐ถ้าคุณขึ้นเครื่องบิน นั่งติดหน้าต่าง หากดวงอาทิตย์อยู่ด้านตรงข้ามที่นั่งและอยู่สูงพอเหมาะ ลองกวาดสายตาหาแถบโค้งสีขาวๆ บนเมฆ และกลอรีรอบเงาเครื่องบิน

สุดท้าย ขอแถมรุ้งพิสดารให้อีก 2 ภาพ คือ ภาพที่ 4 และ 5 จะเห็นว่ารุ้งปฐมภูมิแตกออกเป็น 2 และ 3 เส้น จึงเรียกว่า รุ้งแฝดสอง (twinned rainbow) และรุ้งแฝดสาม (triple-split rainbow) ตามลำดับ

ภาพที่ 4 รุ้งแฝดสอง
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล
ภาพที่ 5 รุ้งแฝดสาม ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ภาพ : อาทิตย์ บุญสินสุข

รุ้งแฝดสามนี่หายากมาก เท่าที่ผมทราบเคยมีคนญี่ปุ่นถ่ายภาพได้เพียงครั้งเดียวก่อนหน้าคนไทย แปลว่า ตอนนี้คนไทยก็ช่างสังเกต สามารถเก็บภาพรุ้งหายากได้ไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ! 😀


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

สนใจรุ้งแฝดสามที่ญี่ปุ่น
ให้ค้นคำว่า triple-spit rainbow
หรือสแกน QR Code ที่ให้ไว้


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image